[fuse. Review] – The Adventure of Keankaew (ฉัตรตะวัน ผดุงเกียรติศักดิ์, ทิวไม้ ดะห์ลัน, ธันยภัส กาหลง, 9.00 นาที)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

[ เรื่องย่อ: หนังสือนิทานแสนรักกำลังจะถูกขายไป เด็กน้อย [ แก่นแก้ว ] จำต้องหาหนทางที่จะได้อ่านตอนจบของเรื่องราวให้ได้ ]

ในโลกแห่งจินตนาการของเด็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยอัศวิน, ปีศาจ, สัตว์ประหลาด, มังกร, แม่มด, ชนเผ่าประหลาด, แมวสีม่วงพูดได้, ​โทรลเฝ้าสะพาน, มนุษย์ไพ่, ราชินีแดง, เจ้าหญิง ฯลฯ มักจะปรากฏสื่อกลาง ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างโลกจินตนาการกับโลกแห่งความเป็นจริง สื่อกลางเหล่านั้นบางครั้งก็อาจเป็นตู้เสื้อผ้า, ในป่าลึก, โพรงกระต่าย, เกมส์, เขาวงกต หรือไม่ก็ใช้สื่อกลางที่ว่าเป็น ‘หนังสือนิทาน’

เช่นเดียวกับในอนิเมชั่น The Adventure of Keankaew ที่เล่าถึงเด็กหญิงนาม แก่นแก้ว ผู้ชื่นชอบหนังสือนิทานเล่มหนึ่ง เธอวาดภาพตัวละครอัศวินและปีศาจตามโลกแฟนตาซีของเธอ ที่ได้อ่านจากหนังสือนิทานเล่มนั้น ทว่าในขณะที่เธอกำลังเพลิดเพลินไปกับการวาดรูป โลกแห่งความเป็นจริงกลับเอาหนังสือนิทานของเธอไป

เรื่องเล่าของเด็กๆ ที่หลุดเข้าไปอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ ถูกเล่าขานมาครั้งแล้วครั้งเล่า หนึ่งในเรื่องราวที่เก่าแก่และโด่งดังที่สุด น่าจะเป็น Alice’s Adventures in Wonderland วรรณกรรมเด็กปี 1865 ของ Lewis Carroll กับ The Lion, the Witch and the Wardrobe วรรณกรรมเด็กปี 1950 ของ C. S. Lewis สำหรับ Alice in Wonderland ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นหลายต่อหลายครั้ง ส่วน The Lion, the Witch and the Wardrobe ก็กลายมาเป็นเฟรนไชส์หนัง The Chronicles of Narnia ในปี 2005

ตัวละคร Alice ใน Alice in Wonderland หลุดเข้าไปใน Wonderland ผ่านทางโพรงกระต่าย ส่วนสี่พี่น้องตระกูล Pevensie ใน The Lion, the Witch and the Wardrobe ก็หลุดเข้าในอาณาจักร Narnia ผ่านทางตู้เสื้อผ้า ตัวละครเหล่านี้หลุดเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ โดยไม่ได้ตัดสลับมาเล่าถึงเหตุการณ์ความเป็นไปในโลกแห่งความจริงอีกเลยจนจบเรื่อง

แตกต่างจาก The Adventure of Keankaew ที่ใช้วิธีเล่าตัดสลับกันระหว่างโลกแฟนตาซีที่แก่นแก้วจินตนาการขึ้น คู่ขนานไปกับเหตุการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงในฉากแก่นแก้วและคุณแม่ช่วยกันวาดรูปการต่อสู้ของอัศวินและปีศาจ โดยพวกเธอทั้งสองก็หลุดเข้าไปเป็นตัวละครในโลกแฟนตาซีแห่งนั้น แล้วต่อสู้กับปีศาจร่วมกับอัศวินด้วย นอกจากนี้ เด็กผู้หญิงยังมองเห็นภาพตัวละครจากหนังสือทับกับโลกจริงในฉากที่อัศวินสู้อยู่กับปีศาจเขาบนท้ายรถขนของ ขณะที่แก่นแก้ววิ่งตามรถขนของเพื่อเอาหนังสือนิทานของเธอคืน

มีหนังอีกหลายเรื่องที่ใช้วิธีเล่าสลับระหว่างโลกจริงกับโลกแฟนตาซี หนึ่งในนั้นคือหนัง ดราม่า แฟนตาซี สงคราม เรื่อง Pan’s Labyrinth ของผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์ Guillermo del Toro เมื่อตัวละครสาวน้อย Ofelia ได้หลุดเข้าไปในโลกเข้าวงกต และต้องทำภาระกิจในโลกแห่งจินตนาการแห่งนี้ไปพร้อมๆ กับปรับตัวเพื่อใช้ชีิวิตอยู่ที่บ้านหลังใหม่ หลังแม่ของเธอแต่งงานใหม่กับพ่อเลี้ยงที่เป็นนายทหารชั้นสูงของกองทัพ

หรือใน Bridge to Terabithia ปี 2007 ก็เล่าเรื่องของ Jess กับ Leslie เพื่อนร่วมชั้นวัยรุ่นตอนต้น ที่พากันหนีความโหดร้ายจากชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่บ้าน หรือการโดนบูลลี่ที่โรงเรียน เข้าไปเล่นกันในป่า ซึ่งกลายเป็นอาณาจักรป่าแห่งเวทมนต์ ในโลกแฟนตาซีชื่อว่า Terabithia ซึ่งเกิดจากจินตนาการของเขาและเธอ สลับกับเหตุการณ์ที่เพื่อนรักทั้งสองยังคงต้องเผชิญในโลกจริงเมื่อกลับบ้านหรือไปโรงเรียน

อีกเรื่อง คือ The NeverEnding Story หนังผจญภัย แฟนตาซี ปี 1986 ของผู้กำกับ Wolfgang Petersen ที่มีหนังสือนิทานเช่นเดียวกับ The Adventure of Keankaew เป็นสื่อกลางนำไปสู่โลกแฟนตาซี The Never Ending Story เล่าถึง Bastian เด็กชายที่มักถูกเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง หนีเข้าไปยังร้านหนังสือแห่งนี้ ที่นั่น เขาได้พบกับหนังสือนิทานลึกลับชื่อ The Neverending Story ทว่าทันที่เปิดอ่าน Bastian ก็หลุดเข้าไปในหนังสือ และกลายเป็นตัวละครที่ชื่อ Atreyu ต้องเข้ากอบกู้อาณาจักรแฟนตาซี ที่กำลังล่มสลาย และการกระทำบางอย่างของ Atreyu ในอาณาจักรแห่งนั้นส่งผลกับตัวของ Bastian ที่กำลังอ่านหนังสือนิทานในโลกจริง

ไม่ต่างจากเหตุการณ์ใน The Adventure of Keankaew เมื่อแก่นแก้วไม่สามารถวิ่งตามรถขนของเพื่อเอาหนังสือนิทานของเธอคืนมา อัศวินที่กำลังต่อสู้กับปีศาจอยู่บนรถขนของก็พ่ายแพ้ไปด้วย แก่นแก้วล้มลงและบาดเจ็บกลับบ้าน ทว่าเมื่อคุณแม่เข้ามาช่วยเธอวาดภาพของนิทานต่อ อัศวินที่พ่ายแพ้ไปแล้วก็กลับมายืนได้อีกครั้ง

สำหรับงานด้านภาพ The Adventure of Keankaew เป็นอนิเมชั่นลายเส้นสองมิติ โดดเด่นด้วยเทคนิคที่เล่าเรื่องซ้อนเรื่อง โดยทำให้นิทานที่แก่นแก้วอ่าน ออกมาเป็นอนิเมชั่นอีกชิ้นซ้อนเข้ามาในอนิเมชั่นเรื่องหลัก ซึ่งอนิเมชั่นอีกชิ้นของอัศวิน ใช้สีและลายเส้นแตกต่างกับอนิเมชั่นเรื่องหลักอย่างเห็นได้ชัด ฉากเปิดเรื่องที่เปิดด้วยอนิเมชั่นของอัศวินกำลังต่อสู่กับปีศาจมีเขา ก็เป็นการเช็ตโทนเรื่องให้คนดูได้เห็นโลกแฟนตาซีในนิทาน ก่อนจะเฉลยที่มาที่ไปของฉากต่อสู้ดังกล่าว ว่าเป็นโลกที่จินตนาการที่แก่นแก้วกำลังอ่านจากในหนังสือนิทาน

องค์ประกอบในเรื่องสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นฉากหลังที่เป็นบ้านหลังอื่นในหมู่บ้านของแก่นแก้ว ขึ้นป้าย Sale ข้างกล่องกระดาษในรถขนของก็เขียนคำว่า ‘ชำระหนี้’ ฉากที่แม่กำลังยืนคิดเลขบนเคาท์เตอร์ในตอนที่แก่นแก้วเข้ามาในบ้าน ก็แสดงให้เห็นบัญชีเท่ากับ 0 และกระทั่งฉากที่แม่ขนข้าวของในบ้านให้กับรถส่งของ ทั้งหมดล้วนเป็นการสื่อให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจในอนิเมชั่นเรื่องนี้ ว่าทุกคนกำลังอยู่ในภาวะยากลำบากโดยไม่ต้องอาศัยบทสนทนาหรือคำพูดบอกเล่าใดๆ เป็นเรื่องเป็นราว

Ambient หรือเสียงบรรยากาศในฉากที่แก่นแก้วกลับมานั่งกอดเข่าที่บ้าน เป็นเสียงพัดลม ฟังแล้วชวนอึดอัด สะท้อนกับอารมณ์ของแก่นแก้ว ณ ตอนนั้นได้ดี ทว่าแม้จะบาดเจ็บ ผิดหวัง หรือสูญเสียหนังสือนิทานที่รักไป เธอก็ยังคงมีแม่คอยอยู่เคียงข้าง การจบเรื่องด้วยฉากที่ให้สองแม่ลูกร่วมกันวาดเนื้อหาของนิทานต่อไปโดยไร้หนังสือนิทาน เป็นการจบเรื่องลงได้อย่างสมเหตุสมผลตามตรรกะของโลกจริง