*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ
เรามักได้ยินว่าโลกกำลังเผชิญ “ความหิวโหย” ครั้งประวัติศาสตร์ กับวิกฤตขาดแคลนอาหาร โดยเหตุผลส่วนใหญ่ล้วนมาจากหนึ่งหรือสอง สาม เหตุผลด้วยกัน เช่น สงครามความขัดแย้ง หรือโรคระบาด หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตามข้อมูลที่ถูกรวบรวมจากสหประชาชาติ (UN), องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), องค์การการค้าโลก (WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้รับการคาดการณ์ว่ามีผู้คนจำนาน 813 ล้านคนมีภาวะขาดสารอาหาร และมากถึง 280 ล้านคนกำลังรอคอยการบริจาคอาหาร แถมองค์กรเหล่านี้ก็ยังได้ทำการศึกษาวิจัยผลกระทบพฤติกรรมเรื่องวิกฤตขยะอาหาร อันหมายถึง อาหารเหลือทิ้งที่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ จากการเก็บสถิติในปี 2022 พบว่า อาหารที่ผลิตได้ในโลก กลายเป็นเศษอาหารเหลือทิ้งถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 1,300 ล้านตัน ขณะที่มีประชาชนหลายพันล้านคนในประเทศยากจนยังคงอดอยากหิวโหย ในขณะที่ประเทศร่ำรวยมีกินจนล้นเหลือ กินผลาญ กินทิ้งกินขว้าง และอาหารที่เหลือทิ้งเหล่านี้มีปริมาณมากเพียงพอจะนำไปเลี้ยงคนนับพันทั่วโลกได้ ซึ่งหนังสั้นเรื่องนี้อาจกำลังชวนเราขบคิดร่วมหาทางออกกัน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในโลกของภาพยนตร์ โดยเฉพาะในแวดวงการภาพยนตร์สั้น เนื้อหาประเภทแนวจิกกัดสังคม หรือการนำปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกความจริงมาตีแผ่ผ่านรูปแบบการเล่าเรื่องที่ผสมผสานเข้ากับอารมณ์ขัน และจังหวะที่บันเทิงเริงรมย์ ค่อนข้างได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แถมที่สำคัญที่สุด “สาร” ที่คนทำหนังต้องการนำเสนอในเรื่องนั้นทรงพลังมากระดับที่ใช้เป็นเครื่องมือในการ “โปรฯ” ความคิดของพวกเขาส่งออกสู่วงกว้างได้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่ามันได้เกิดขึ้นอีกครั้งกับภาพยนตร์สั้นเรื่อง Side Dish ผลงานของเปรม ผลิตผลการพิมพ์ แต่ความท้าทายใหญ่หลวงของการดูหนังสั้นเรื่องนี้ ก็คือการต้องแยกแยะว่า ตรงไหนเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ ตรงไหนเป็นการพูดความจริงครึ่งเดียว และตรงไหนเป็นการใส่สีตีไข่-เพื่อความสนุกสนานเมามัน ถึงแม้ว่าตัวหนังจะอัดข้อมูลความน่ากลัวของปัญหาให้ผู้ชม ซึ่งบางทีก็กลายเป็นกำแพงให้ไม่อยากรับรู้ที่สะท้อนภาพวงจรที่สัมพันธ์กันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคของคน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นในสังคมบริโภค การจะหยุดวงจรของอุตสาหกรรมอาหารให้ผลิตสินค้าน้อยลงคงเป็นเรื่องยาก แต่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองในการเลือกรับประทานอาหารแบบไม่เหลือทิ้ง ก็ดูจะมีประโยชน์สูงสุดและง่ายกว่า หลังจากดูจบอาจมีหลายคนน่าจะเกิดอาการคิดใหม่ก่อนจะเลือกมองข้ามอาหารที่ยังเหลืออยู่บนจานอย่างหมดสภาพ เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งเลวร้ายที่คาดคิดไม่ถึงก็เป็นได้
แต่สำหรับ Side Dish เปรม ผลิตผลการพิมพ์ ได้ทำในสิ่งที่หนังสั้นทั้งหลายไม่ทำหรือจริง ๆ อาจจะไม่ค่อยกล้าแม้แต่จะคิด และนั่นก็คือการถ่ายทอดใจความสำคัญของเรื่องอย่างไม่ปิดบังอำพราง ตัวหนังทำหน้าที่เสมือนการตื่นตัวในเรื่องวิกฤตขยะอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกกำลังถูกจุดประกายขึ้นอย่างจริงจัง ภายใต้กลวิธีการเล่าเรื่องที่มีความกระฉับกระเฉง มีอารมณ์ขัน เป็นงานเสียดสี และรวบตึง-กะทัดรัดโดยไม่ต้องใส่น้ำเข้าไปให้เต็มแก้ว (ความยาวของหนังทั้งเรื่องเพียง 4 นาที) เมื่อเด็กชายวัยรุ่นสองคนไปรับประทานอาหารในร้านแห่งหนึ่ง ขณะที่อีกคนทานจนหมดเกลี้ยง อีกฝ่ายกลับเหลือสลัดผักที่ยังไม่แม้แต่จะใช้เครื่องมือช้อน-ส้อมลงไปสัมผัสมัน ก็กลายมาเป็นฝันร้ายที่เหมือนขั้วตรงข้ามของสารคดี Wasted! The Story of Food Waste (2017)
โทนหนังเต็มไปด้วยความรู้สึกกดดัน ทั้งมุมกล้องที่โคลสอัปไปที่แววตาของนักแสดง และความดิบของการกำกับภาพ ไม่มีอะไรที่ชวนให้รู้สึกปอดโปร่งหรือสวยงาม แต่กลายเป็นว่ามันดันสอดคล้องไปกับการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยความโกรธและเยาะเย้ยแบบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ไม่มีการประนีประนอม ไม่ต้องมีวาระซ่อนเร้นอะไรทั้งสิ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อภาพยนตร์มาพร้อมในส่วนที่เป็นเรื่องของอารมณ์ มันจึงสุ่มเสี่ยงมากที่จะทำให้ความจริงกลายเป็นเพียงมุมมอง ข้อเท็จจริงกลายเป็นเพียงเรื่องปรุงแต่งที่เต็มไปด้วยอารมณ์ และความรุนแรงอาจกลายเป็นดราม่าที่ก่อเกิดจากความตั้งใจ ซึ่งมันอาจส่งผลให้ภาพรวมไม่ได้ออกมาคมกริบอย่างที่คิด
แม้ Side Dish จะเทียบได้กับพายุลูกใหญ่ที่อาละวาดรอบเดียวแล้วจบ ทว่าเนื้อหาที่อยู่หลังจากนี้ต่างหากที่วิจารณญาณของผู้ชมต้องทำงานหนัก แต่มันคงไม่ถึงกับเป็นการช่วยรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนรับรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤติขยะอาหารมากขึ้น แต่เพราะการดูหนังเรื่องนี้ภายใต้เงื่อนไขของสังคมในแบบที่เราก็รู้ซึ้งถึงปัญหากันอยู่แล้ว มันก่อให้เกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนหรือขัดแย้งสองสามอย่างที่ประดังเข้ามา หนึ่งก็คือ Side Dish ของเปรม ผลิตผลการพิมพ์ไม่ใช่งานที่ฉาบฉวยหรือเบาหวิวอย่างแน่นอน และสองนี่คือหนังแฟนตาซี หรือแม้กระทั่งเซอร์เรียลที่น่าจะสร้างความขันขื่นให้กับผู้ชมได้ไม่มากก็น้อย
ดังนั้น ถ้าเราทุกคนเตือนความจำตัวเองอยู่เสมอเหมือนในวัยเด็กว่า ‘ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า…’ มันก็อาจจะไม่มีคำตอบให้กับคำถามข้างต้น และภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมา