[fuse. Review] – เเด่เธอผู้หวนคืนในฤดูร้อน / To you who return in the summer (Pimlapas Promsen, 22.00 นาที)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

[ เรื่องย่อ: คิมหันต์และปู้จู้เป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่ง วันหนึ่งวันหยุดปิดภาคเรียนฤดูร้อนวันแรก “ปู้จู้” ได้หายตัวไปหนึ่งสัปดาห์ก่อนปิดเทอมฤดูร้อน แต่ไม่มีใครรู้ว่าเธอหายตัวไปที่ไหน จนในวันปิดเทอมฤดูร้อนวันแรก ปู้จู้ได้กลับมาปรากฏตัวอยู่ตรงหน้า “คิมหันต์” อีกครั้ง แต่คิมหันต์รู้สึกว่าปู้จู้ที่กลับมานั้นไม่ใช่ปู้จู้ที่เธอเคยรู้จัก! ]

ห้องนอนยามดึกสงัด “คิมหันต์” สาวน้อยวัย 17 นั่งน้ำตาไหลพราก เสียงพ่อแม่ทะเลาะกันดังระงมจากชั้นล่าง หากเป็นการทะเลาะกันรายวันก็อาจจะแค่รำคาญหรือน่าเบื่อ แต่ครั้งนี้ทั้งคู่ได้เพิ่มประเด็นการแยกทางหย่าร้าง รวมถึงแย่งกันครอบครองลูกสาวคนเดียวที่มี

เหมือนต่างฝ่ายต่างเรียกร้องความเห็นใจเข้าใจ แต่กลับแสดงออกด้วยอารมณ์โกรธแล้วก่นด่าแผดเสียงใส่กันไม่หยุด ต่างก็แย่งกันระบายความผิดหวังสารพัดในพฤติกรรมของอีกฝ่าย โดยไม่ได้ใยดีลูกสาวคนเดียวที่ไม่เคยได้มีโอกาสปริปากพูดเลยว่า จะเครียด โกรธ กลัว และเศร้ามากแค่ไหน ความรู้สึกอันท่วมท้นของลูกเป็นสิ่งที่พ่อแม่มักจะมองข้าม หรือแม้แต่ไม่พร้อมจะรับฟัง ทั้งๆที่สิ่งที่ลูกวัยรุ่นต้องการอย่างยิ่งคือ ใครสักคนที่พร้อมรับฟัง ห่วงใย และให้กำลังใจ

เมื่อพ่อแม่ทะเลาะกันถึงขั้นท้าหย่ากันไม่เว้นวัน ลูกจะรู้สึกได้ว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยอีกแล้ว พ่อแม่ยังเลิกรักกันทั้งคู่ก็คงเลิกรักลูกด้วย นอกจากนั้นที่น่าเศร้าก็คือ มีเด็กๆมากมายที่กลับโกรธโทษตัวเอง(self-criticism)ว่าตนคือสาเหตุให้พ่อแม่ต้องทะเลาะกันเลิกร้างกัน แถมรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา ตำหนิตนเอง ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองลดต่ำลง เสี่ยงต่อการต้องตกอยู่นภาวะก้าวร้าว และซึมเศร้า

“เพื่อน” คือคนที่คิมหันต์คิดถึงที่สุดในยามนี้ เธอคิดถึง “ปู้จู้” เพื่อนรักที่สัญญากับเธอว่าปิดเทอมเมื่อไหร่จะอ่านการ์ตูน จับแมลงและกินแตงโมกัน แต่ครั้นปิดเทอมเพื่อนรักก็หายหน้าไปไม่ติดต่อมาเลย โดยธรรมชาติของสาวน้อยวัย 13 คือมักจะมีความปรวนแปรทางอารมณ์ กังวลง่าย โกรธง่าย ขี้น้อยใจ มักแก้ปัญหาด้วยการเก็บกดและเก็บตัว ยิ่งมาเผชิญกับปัญหาในครอบครัว เช่นพ่อแม่ทะเลาะและชวนแยกทางไม่เว้นวัน สาวน้อยหลายคนใช้กลไกทางจิตปฏิเสธความจริงตรงหน้า(Denial)พาตัวเองเข้าสู่จินตนาการ (Day Dreams) ย้อนกลับสู่วัยเด็ก(Regression) ที่ยังมีความรักความอบอุ่นและความปลอดภัย กระทั่งสร้าง “เพื่อนในจินตนาการ” (Pretend friends)

หลังจากหายไปสองอาทิตย์ จู่ๆปู้จู้ก็กลับมาหาคิมหันต์ ชวนไปจับแมลงกินแตงโมอีก แต่การกลับมาของเพื่อนรักครั้งนี้ เหมือนกึ่งฝันกึ่งจริง แต่ที่แน่ๆคือไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

“ฉันนึกภาพตอนไม่มีแกไม่ออกจริงๆ”

“ฉันก็นึกภาพตอนไม่มีแกไม่ออกเหมือนกัน” คิมหันต์นึกถึงคืนวันที่ผ่านมา ก่อนที่จะพูดกับปู้จู้ในวันนี้ว่า “ตั้งแต่แกกลับมา แกไม่เหมือนคนเดิมเลย แกไม่ใช่ปู้จู้ใช่มั้ย?”

“ฉันคิดว่าจะเลียนแบบได้เหมือนซะอีก แต่ฉันยังอยู่กับแกนะ”

แถมคำพูดสุดท้ายของเพื่อนก็เหมือนบทสรุปของหนังเรื่องนี้ “ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปได้ทั้งนั้นแหละ พอแกโตขึ้นฉันก็จะหายไปเอง”

“เพื่อน”จึงเหมือนเป็นดังภาพสะท้อนวัยเด็กที่แสนอบอุ่นและยังอยากให้คงอยู่ตลอดไป

แต่สัจธรรมแห่งชีวิตคือความไม่เที่ยง ที่ทุกคนต้องยอมรับให้ได้ แม้ว่าจะขมขื่นเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน- ชีวิตวัยเด็กที่แสนอบอุ่น -ความรัก -การพลัดพราก และแม้แต่ชีวิตของเราเอง

ลึกซึ้งยิ่งนักกับหนังสั้นเรื่องนี้ที่พยายามบอกสิ่งสำคัญนี้กับเรา ผลงานดูโดยรวมๆเข้าขั้นดีเยี่ยมครับ ทั้งภาพ ตัดต่อ การดำเนินเรื่อง และบท แต่สิ่งที่ต้องขอบอกว่าประทับใจมากคือการแสดงของน้องๆครับ โดยเฉพาะน้องคนที่แสดงเป็นคิมหันต์ทั้งสีหน้าแววตาสื่อออกมาอย่างรับรู้ได้ถึงความผิดหวัง หม่นหมอง สับสนและเจ็บปวด ถ่ายทอดอารมณ์ขมขื่นของคนเป็นลูกออกมาได้ดีจนอยากจะให้รางวัลเลยเชียว

ไม่มีลูกคนไหนอยากจะให้พ่อแม่แยกทางกัน แต่หากต้องแลกกับการที่ 1.อยู่ร่วมชายคาเดียวกันแต่ทะเลาะเบาะแว้งกันทุกวัน กับ 2.ต่างคนต่างอยู่คนละบ้านไปเลยแต่ยังรักยังมาดูแลลูก มั่นใจว่าลูกทุกคนจะเลือกข้อ 2