เทคนิคการตัดต่อเพื่อการเล่าเรื่อง – คุยกับแอดมินเพจหนังติดมันส์

การตัดต่อก็เหมือนการแต่งองค์ทรงเครื่องให้กับหนังเรื่องหนึ่ง เพื่อให้ฟุตเทจของเรามันเป็นรูปเป็นร่างให้มีความสวยงามน่าดูน่าชม ด้วยเทคนิคต่างๆไม่ว่าจะเป็นการตัดสลับเวลาเล่าย้อนอดีต การแทรกดนตรี การใช้จังหวะเร็วช้าของภาพ เหมือนกับการสร้างบ้านที่ค่อยๆประกอบทีละอย่างทีละชิ้นจนกว่าบ้านจะเป็นรูปเป็นร่างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในที่สุด

1. นักตัดต่อควรจะอ่านบทหนังให้ครบทุกตอนอ่านให้จบ ให้อ่านเหมือนอ่านเอาเรื่องเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องให้รู้ว่าหัว-กลาง-ท้ายมันเล่าอะไรบ้าง ถ้าตรงไหนไม่เข้าใจให้ถามผู้กำกับ

2. ก่อนลงมือตัดต่อควรจะได้คุยได้ปรึกษากับผู้กำกับ เช่น เขามองฉากนี้ยังไง ดนตรีประกอบควรประมาณไหน เพระจริงๆแล้วในขั้นตอนตัดต่อเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันถูกหรือผิด แต่อย่างน้อยเราต้องอ่านบทจนเข้าใจแก่นของเรื่อง การตัดต่อในดราฟแรกเราก็ตัดต่อจากทัศนะหรือไอเดียของเรานั่นแหละ แต่ต้องออกมาให้ดูรู้เรื่อง พอดราฟสองต้องสร้างอารมณ์ เช่น ขยี้บทรักบทเศร้าให้เข้มข้นขึ้น จากนั้นก็ส่งให้ผู้กำกับดู อำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่เขา จะปรับเปลี่ยนยังไงไม่ใช่ปัญหา เพราะเราเอามาลดมาเพิ่มใหม่ได้ (ส่วนใหญ่ในการทำงานนั้นยิ่งเป็นงานที่แมสมากๆ มักจะไม่จบที่ผู้กำกับ แต่จะมีสตูดิโอเป็นFinalสุดท้าย ที่เขาจะมาเหลาให้คมค่ายมากยิ่งขึ้น)

3. นักตัดต่อหนังนั้นควรจะมีเวลาผ่อนคลาย ไปทำอย่างอื่นสักพักแล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ เพราะจะช่วยทำให้การมองงานที่ค้างอยู่ตรงหน้าด้วยสายตาที่สดใหม่กว่าเดิม

4. การให้ใครสักคนที่ยังไม่เคยอ่านบทมาก่อน ไม่เคยดูฟุตเทจเรื่องนี้มาเลย มาช่วยดูและคอมเม้นท์สักหน่อย(มักจะเป็นคนของสตูดิโอ)ว่าหนังที่เราตัดต่อมันดูรู้เรืองมั้ย เข้าใจมั้ยว่ากำลังเล่าอะไรอยู่ นั่นก็เป็นอีกวิธีในการช่วยประเมิน

5. นักตัดต่อควรเอาตัวไปคลุกกับตัวงานให้มาก พยายามอยู่หน้ากองให้เยอะเข้าไว้ อย่างน้อยที่สุดควรทำในส่วน Continue คือเป็นคนควบคุมความต่อเนื่องในหนังหรือคอยจด Report

6. นักตัดต่อ (และผู้กำกับ) ไม่ควรยึดติดอยู่กับสิ่งที่อยู่ในหัวหรือในสตอรี่บอร์ดจนเกินไป เช่น เคยเขียนสตอรี่บอร์ดไว้แน่นมากแล้วก็พยายามล็อคเอาตามนั้น แต่แล้วหนังออกมาดูไม่ดีเลยมันไม่เป็นธรรมชาติ ขาดจิตวิญญาณ

รับชมวิดีโอเพิ่มเติม