“เราโตมากับการดูหนังหลากหลาย ไม่ใช่เพราะว่า เรามีรสนิยมแบบ Art หรือนอกกระแส แต่เพราะเมื่อก่อนพื้นที่ฉายหนังมันมีหนังหลากหลาย โรงหนังมันยังไม่ได้กระจุกตัวอย่างทุกวันนี้ วัฒนธรรมการดูหนังแบบนี้มันค่อย ๆ หายไป เพราะมันไม่มี Space ที่ทําหน้าที่สร้างมันขึ้นมา” – ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ Documentary Club
ในฐานะที่เราเป็นโรงหนัง เราทําพื้นที่นี้ก็อยากให้มันเป็นพื้นที่สําหรับหนังทุกแบบโดยเฉพาะหนังที่อาจจะหาพื้นที่ในโรงภาพยนต์ปกติได้ไม่ง่าย โดยเฉพาะพวกหนังสารคดี หนังอิสระ หนังคลาสสิก หรือหนังเก่าที่ไม่รู้จะไปฉายที่ไหน
แม้แต่หนังนักศึกษา หรือหนังสั้นหนังอิสระ ที่โดยตัวมันเองจะมีข้อจํากัดในการหาโรงหนัง ยิ่งบรรดาโรงใหญ่ที่นอกจากเรื่องธุรกิจที่ลำบากในการเจรจา ขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ ก็ไม่ใช่ง่าย เราจึงพยายามให้พื้นที่ตรง Doc Club นี่แหละที่จะรองรับหนังเหล่านี้ เราพยายามลดเงื่อนไขให้ทุกอย่างมันไม่ยาก เพียงแต่ให้มีธีมร่วมกันได้บ้าง เพื่อดึงดูดผู้คนให้อยากมาดูเวลาที่เราโปรโมทออกไป จริง ๆ แล้วเราอยากให้มันไปถึงจุดที่ว่า พอมีงานหนังผลงานของนักศึกษาหรือคนทำหนังอิสระไม่รู้จะเอาไปฉายที่ไหน ก็ให้มาที่นี่ได้
เรามองว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น วัฒนธรรมการดูหนัง ในเบื้องต้นเลยเราโตมากับการดูหนังหลากหลาย ไม่ใช่เพราะว่าเรามีรสนิยมแบบ Art หรือนอกกระแส แต่เพราะว่าเมื่อก่อนพื้นที่ฉายหนังมันมีหนังหลากหลายทำให้เราเปิดกว้างได้ดูหนัง ดู Content ในหลายลักษณะ ไม่ต้อง Art หรือ Indy ก็ได้ ไม่ต้องดูแค่อยู่ในกรอบโดยรสนิยมแบบใดแบบหนึ่ง เมื่อก่อน โรงหนังมันยังไม่ได้กระจุกตัวอย่างทุกวันนี้ วัฒนธรรมการดูหนังแบบนี้มันค่อย ๆ หายไป เพราะมันไม่มี Space ที่ทําหน้าที่สร้างมันขึ้นมา นี่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ
ลองดูนโยบายภาครัฐของประเทศที่มีเส้นทางการเติบโตด้านภาพยนตร์ที่เข้มแข็ง จะเห็นได้ว่าเขาปลุกปั้นจากหนังที่ไม่มีอะไรเลยจนกลายเป็นตลาดใหญ่ และไม่ใช่ทำแค่เรื่องของการให้ทุนให้เงินคนทำหนังไม่กี่คนไปทำหนังมา แต่เขาทำเป็น Road Map ในระยะยาว ถ้าคุณทำหนังออกมา เรามีสังคมที่รองรับพร้อมสนองหนังเหล่านี้ให้ได้อยู่ในกระแสความสนใจของผู้คน
เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้น เพราะหนังเรื่องใดก็ตาม คุณไม่อาจจะไปบังคับใครให้มาดูถ้าเขาไม่สนใจมาตั้งแต่แรก ดังนั้นถ้าทางเรามีโอกาสได้คุยกับใครในเชิงนโยบาย เราก็จะพยายามนำเสนอความคิดเห็นเหล่านี้ ว่าถ้าจะส่งเสริมกันจริงก็จะต้องมาทั้งก้อน นั่นคือ ส่วนของคนทำหนังก็ต้องส่งเสริมกันไป แต่ส่วนคนดูก็ยิ่งมีความสำคัญ เราจึงต้องทําให้คนดูมีทางเลือกมากกว่านี้ ให้เขาเข้าถึงความบันเทิงจากหนังที่หลากหลาย ไม่ใช่มีแบบเดียวที่ตลาดป้อนให้
กระทั่งการลงไปในระบบการศึกษาทําให้เด็ก ๆ ได้รู้ว่าในโลกนี้มันมีภาพยนตร์สารพัดที่เขาสามารถที่จะเข้าถึงและเรียนรู้ได้ การเรียนการสอนภาพยนตร์ในทุกวันนี้ก็มีประเด็นที่น่าพูดถึง อย่างการเน้นสอนเรื่องโปรดักชั่นเป็นหลัก เช่นปัจจุบันเปลี่ยนจากคําว่า ฟิล์มเมคเกอร์กลายเป็นคอนเทนเคเตอร์ สอนเรื่องการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เป็นการสอนให้เป็นผู้ผลิต แต่ไม่ได้สอนเรื่อง Application ในภาพยนตร์ ไม่ได้สอนเรื่องความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์
ทุกวันนี้นักศึกษาที่เรียนจบภาพยนตร์ แต่ไม่สามารถที่จะทํางานในวงการได้ เพราะว่างานของเขามันไม่ได้รับการเผยแพร่แล้วมันจะกลายเป็นอาชีพเป็นรายได้ได้อย่างไร จริง ๆ แล้วโรงหนังมีบทบาทที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดแต่ว่า แต่เขากลับมองไม่เห็นบทบาทอันนี้หรืออาจไม่ได้สนใจ จึงแยกตัวออกไปเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดกระแสหลักเท่านั้น เขาไม่ได้มองเห็นว่าเขาคือปลายท่อของผลงานเหล่านี้
บทความนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ Documentary Club ใน fuse. In Sequence