MISE EN SCENE 2

มิส ออง แซง หรือการจัดองค์ประกอบภาพในตอนนี้ เราจะขอชวนมารู้จักกับทัศนธาตุหรือหัวใจสำคัญอีก 4 ข้อ มาดูกันเลย

4. สี (Color) สีเป็นปรากฏการณ์ของแสงที่ส่องกระทบวัตถุสะท้อนเข้าสู่ตามนุษย์ สีแต่ละสีที่มีอยู่ในวัตถุต่างๆ มีผลต่อความรู้สึกทางด้านจิตวิทยาตามความหมายที่นักจิตวิทยาและนักวิชาการค้นคว้าวิจัยรวบรวมไว้ เช่น สีแดง กล้าหาญ อันตราย เร้าใจ เข้มข้นสะดุดตา, สีเหลือง สว่างที่สุด บริสุทธิ์ แจ่มใส, สีน้ำเงิน สงบ สุขุม สันติภาพ ภูมิฐาน, สีเขียว ความหวัง สดชื่น ชุ่มชื่น ร่มเย็น, สีม่วง ร่ำรวย โอ่อ่า งอกงาม, สีส้ม ร้อนแรง สนุกสนาน รื่นเริง เปรี้ยว, สีขาว สะอาด บริสุทธิ์ กระจ่างแจ้ง มั่นคง เบา, สีดำ เศร้า ความตาย หนัก

5. น้ำหนักสี (Tone)

เรามักจะได้ยินหรือพูดคำนี้กันบ่อยๆ เช่น โทนฟ้า โทนแดง โทนเย็น โทนร้อน โทนคืออะไร…โทนคือระดับความเข้มที่แตกต่างกันของสี หรือค่าความอ่อน-แก่ของสี เช่น เมื่อเราพิจารณาน้ำหนักของสีของสีดำ ก็จะเห็นว่าขาวจะเป็นสีอ่อนสุด ไล่มาเป็นเทาอ่อน เทากลาง เทาเข้ม และดำเป็นสีเข้มสุด เป็นต้น โทนก็มีผลต่อความรู้สึกคล้ายกับ ‘สี’ นั่นแหละ
6. พื้นผิว (Texture) คือผิวนอกของวัตถุ เมื่อเราสัมผัสหรือมองดูแล้วรู้สึกได้ เช่น เรียบเนียน มันวาว หยาบ ขรุขระ ฯลฯ โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ พื้นผิวเชิงบวก ละเอียด เรียบ ให้ความรู้สึกใหม่ สะอาด ปลอดภัย เป็นระเบียบ สงบ โล่ง ในขณะที่พื้นผิวเชิงลบ หยาบ ขรุขระ ให้ความรู้สึกไร้ระเบียบ ไม่สงบ สับสน น่ากลัว ไม่น่าเข้าใกล้

7. ที่ว่าง (Space)

ที่ว่างคือพื้นที่หรือบริเวณว่างที่ไม่มีขอบเขต ไม่สามารถจำกัดรูปทรงได้ ฟังดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ ‘ตำแหน่ง’ และ ‘อัตราส่วน’ ของ ‘วัตถุ’ กับ ‘ที่ว่าง’ ต่างหากที่สามารถกระตุ้นความรู้สึกของผู้พบเห็นได้ เช่น วัตถุที่อยู่ในตำแหน่งบนๆ ของเฟรมจะให้ความรู้สึกเป็นใหญ่ มีอิทธิพล ทะเยอทะยาน หรือถ้าวัตถุมีอัตราส่วนมากกว่าที่ว่าง (รูปซ้าย) ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด สับสน วุ่นวาย แข่งขัน แต่ถ้ามีที่ว่างมากกว่าวัตถุ (รูปขวา) จะทำให้รู้สึกว่างเปล่า เงียบเหงา อ้างว้าง หดหู่
เหมือนมาโรงเรียนเรียนศิลปะเลย แต่อย่าลืมว่า ภาพยนตร์เป็นสื่อที่เล่าเรื่องด้วยภาพ (เป็นส่วนใหญ่) แล้วเราก็มองเห็นมันด้วยตา ทัศนศิลป์กับภาพยนตร์จึงเป็นของคู่กัน ทัศนศิลป์เป็นพื้นฐานของบริบทต่างๆ ที่สำคัญในภาพยนตร์นะ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการใช้สี การดีไซน์ฉาก เสื้อผ้า ตำแหน่งกล้อง ขนาดภาพ มุมกล้อง ระยะโฟกัส ชัดตื้นชัดลึก การเคลื่อนที่ของนักแสดง หรือ การเคลื่อนไหวของวัตถุต่างๆ / (ผู้เขียน Scenic) / หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ฟิ้ว” ฉบับที่ 9 และการตีพิมพ์ใหม่นี้ได้รับอนุญาตจากนิตยสาร “ฟิ้ว” แล้ว