MISE EN SCENE 1

MISE EN SCENE คืออะไร?

เรื่องนี้อาจจะยากนิดนึง แต่รับรองว่าสนุกแน่นอน เพราะวันนี้จะคุยเรื่อง Mise en scene ออกเสียงว่า ‘มิส ออง แซง’ เป็นคำในภาษาฝรั่งเศสมีความหมายเดียวกับคำว่า setting in scene หรือแปลเป็นไทยว่า ‘จัดวางไว้ในฉาก’ เป็นคำที่มีต้นกำเนิดมาจากวงการละครเวที ถ้าใครเคยดูละครเวทีคงพอนึกออก โรงละครเค้าก็จะมีเวทีเปล่าๆ ให้คนทำละครเข้าไปจัดฉาก จะมีกี่ฉากก็แล้วแต่เรื่อง ทีนี้พอถึงตอนเปลี่ยนฉาก หลังจากไฟดับลง ทีมงานก็จะรีบเข้าไปยก ลาก หรือเลื่อนองค์ประกอบในฉากเก่าออก เพื่อเข้าสู่ฉากใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นของที่ใช้จัดวางไว้บนเวทีจึงมีจำนวนจำกัด เป็นที่มาของการจัดองค์ประกอบต่างๆ ที่เน้นการ ‘สื่อความหมาย’ มากกว่าความสมจริง / เมื่อ Mise en scene ถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์ จึงหมายถึงการบรรจุองค์ประกอบต่างๆ (ซึ่งไม่ใช่แค่พร็อพ) ลงในฉากแต่ละฉากเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสื่อความหมายนั่นเอง หรือจะเรียกว่า ‘การจัดองค์ประกอบเพื่อสื่อความหมาย’ ก็ได้

องค์ประกอบอะไรล่ะที่เราจะจัดวางไว้ในฉาก?

ตอบแบบกำปั้นทุบเด็บบี้ แน่นอน องค์ประกอบเหล่านั้นต้องมีความหมาย เราถึงจะเอามันไปจัดวาง แต่เบื้องต้นเราไม่ได้กำลังจะพูดถึง โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ แก้วน้ำ หรืออะไรที่เป็นวัตถุสิ่งของ แต่เราจะพิจารณาว่าทุกอย่างที่เรามองเห็นได้ด้วยตา มีส่วนประกอบมูลฐานของทัศนศิลป์ หรือเรียกแบบอาจารย์เฉลิมชัยว่า ‘ทัศนธาตุ’ ในที่สุดหนังจะถูกฉายลงบนจอ 2 มิติซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างจากเฟรมภาพเฟรมหนึ่งทัศนธาตุที่อยู่ในเฟรมนั้นๆ ย่อมมีความหมาย มีอารมณ์ มีผลทางจิตวิทยา ฯลฯ / อย่างเพิ่งงง เอาล่ะ…ทัศนธาตุที่ว่านี้มีด้วยกัน 7 อย่าง ในวันนี้เราจะขอแนะนำ 3 อย่างแรก ได้แก่
1. จุด (Dot. Point) จุด…ใครคิดว่าไม่สำคัญ แม้ว่าเราจะไม่ได้ต้องมองเห็นวัตถุต่างๆ เป็นจุด แต่เราจะไม่พูดถึงจุดไม่ได้ เพราะจุดเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ เป็นต้นกำเนิดของทัศนธาตุอื่นๆ จุดที่นำมาเรียงต่อกันจะทำให้เกิดเส้น, รูปร่าง, จุดอยู่กันอย่างหนาแน่นทำให้เกิดสี, ค่าน้ำหนัก อ่อน-เข้ม ฯลฯ จุดก็เหมือนกับละอองแป้งหนึ่งธุลีถ้าไม่มีมัน ก็อย่าหวังว่าจะได้กินบะหมี่ ขนมจีบหรือซาลาเปา

2. เส้น (Line)

เกิดจากการนำจุดมาวางเรียงต่อๆ กัน หรือการเดินทางต่อเนื่องของจุดในทิศทางเดียวกัน เมื่อนำเส้นมาจัดวางในลักษณะต่างๆ กันจะสามารถให้ความหมาย ให้ความรู้สึก และอารมณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น เส้นตั้ง ให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง หนักแน่น สูงสง่า, เส้นนอน ให้ความรู้สึกสงบ ราบเรียบ นิ่ง ผ่อนคลาย, เส้นเฉียง ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว รวดเร็ว ไม่มั่นคง, เส้นหยักหรือซิกแซก ให้ความรู้สึกน่ากลัว อันตราย รุนแรง, เส้นโค้ง ให้ความรู้สึกสุภาพ อ่อนโยน นุ่มนวล
3. รูปร่าง รูปทรง (Shape & Form) รูปร่างคือบริเวณที่ถูกล้อมรอบด้วยเส้น อันเกิดจากการลากเส้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งแล้วกลับมาบรรจบที่จุดเดิม จึงเกิดพื้นที่ภายใน มี 2 มิติ ส่วนรูปทรงคือรูปที่มีลักษณะเป็น 3 มิติ มีความกว้าง ความยาว ความลึก จับต้องได้ อันที่จริงรูปร่างรูปทรงก็เกิดจากการใช้เส้นเป็นพื้นฐาน ดังนั้น ความหมาย ความรู้สึก และอารมณ์ของรูปร่างรูปทรงก็จะอิงกับลักษณะเส้นที่นำมาใช้ เช่น ทรงกลม ให้ความรู้สึกนุ่มนวล อ่อนโยน, ทรงเหลี่ยม ให้ความรู้สึกมีระเบียบ แข็งแรง เคร่งครัด, ทรงอิสระ ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว (ผู้เขียน Scenic) หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ฟิ้ว” ฉบับที่ 9 และการตีพิมพ์ใหม่นี้ได้รับอนุญาตจากนิตยสาร “ฟิ้ว” แล้ว