ไฮไลท์กิจกรรม fuse. Kids Screening week

จบลงไปแล้วกับ fuse. Kids Screening week 2023 เต็มอิ่มกับผลงานที่เข้าชิงรางวัลในเทศกาลประจำปีนี้ตลอด 8 วัน และประสบการณ์จากคนทำหนังทั้งระดับประถม-มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย fuse. จะมาขอไฮไลท์เนื้อหาน่าสนใจจากกิจกรรมพูดคุยกันหลังหนังฉาย 🎬

“เราค่อนข้างเชื่อมโยงกับประเด็นการกลับบ้านเกิด หนังเรื่อง 600 Miles จริง ๆ มันเป็นระยะทางที่เขาเดินทางออกจากบ้านไปตามหาความหมายที่ทะเลบ้านเกิดเพื่อเพื่อมาลบภาพจำความน่ากลัวที่เคยเกิดขึ้น ณ หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง และมันทำให้ชุมชนเดินไปต่อได้ หวังว่าหนังจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้กลับบ้านไปทำบางสิ่งบางอย่าง”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ 600 Miles

[เรื่องย่อ: ติ๋ว วรินทร คงทอง หนุ่มบ้านเพ จังหวัดระยอง ผู้หลงใหลในกีฬา Surf เขาจึงเริ่มต้นฝึกฝนการโต้คลื่นแบบครูพักลักจำจากวิดีโอในอินเทอร์เน็ต จุดเปลี่ยนสำคัญคือการตัดสินใจเดินทางไปจังหวัดภูเก็ต เพื่อตามหาความหมายของทะเลผ่านวิธีการเล่น Surf ในสภาพภูมิอากาศที่แปลกใหม่ พอกลับมาจังหวัดระยอง ติ๋ว ได้ค้นพบจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ของตัวเอง คือการสร้าง Surf Community เพื่อทะเลบ้านเกิดจนกลายเป็นโรงเรียนสอน Surf ที่มีชื่อว่า “LAEMYAH RAYONG SURF CLUB” การมาของกีฬา Surf ทำให้ธุรกิจในชุมชนยังคงไปต่อได้แม้ในช่วง Low Season และทำให้เกิดธุรกิจชุมชนใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว รวมไปถึงมีการสร้างอาชีพให้กับเยาวชนในท้องถิ่น]

“ตอนแรกพวกเราอยากจะทำหนังผี แต่ก็ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องผี เลยมาคิดว่า ทุกวันนี้อะไรที่เราใกล้ชิดที่สุด ก็คือ มนุษย์ด้วยกันเอง เราอยากจะสื่อว่า บางทีคนก็น่ากลัวกว่าผี เลยสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นเพื่อจะบอกว่า ต้องระวังตัวกันให้มากขึ้นและอย่าไว้ใจใครง่าย ๆ ในส่วนการแสดง เราต้องพยายามทำความเข้าใจกับบทและกับสถานการณ์ที่เราจะเล่น กับส่วนตัวดูหนังทริลเลอร์บ่อย ๆ”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ After Sunset

[เรื่องย่อ: แสนดี หญิงสาววัย 17 ปีที่ย้ายมาเรียนที่กรุงเทพตัวคนเดียว และได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ร่วมชั้น ซันนี่เพื่อนสาวที่ภายนอกอัธยาศัยดี และดูจริงใจ แต่จริงๆแล้ว เขาเข้ามาเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง]

“มาจากเรื่องส่วนตัวและคนรอบข้างครับ ผมอยู่เชียงรายเป็นเมืองชายแดน การทำบัตรประชาชนไทยเป็นเรื่องยาก ผมเลยสร้างหนังเรื่องเสียงไร้สัญชาติขึ้นเพื่อสะท้อนในมุมนี้ ทำให้ในส่วนการกำกับการแสดงไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะด้วยความรู้สึกของทุกคนที่รู้สึกเหมือนกันและสังคมเป็นแบบนั้น ขอให้ทุกคนได้ชม พิจารณาถึงความเป็นจริงในสังคม และช่วยกันต่อยอดถกเถียงจากหนัง”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ เสียงไร้สัญชาติ

[เรื่องย่อ: ซันนาเด็กสาวมัธยมปลาย ที่กำลังต้องเข้าไปแข่งขันร้องเพลงระดับประเทศ เพราะอยากจะเข้ามหาลัย แต่ต้องพบว่าไม่มีบัตรไทยจึงไม่สามารถแข่งขันในระดับประเทศได้ จึงทำให้ให้เธอต้องดิ้นรนเพื่อที่จะได้บัตรไทย แต่เธอก็มีปัญหากับพ่อของเธอเองเพราะพ่อไม่อยากให้เธอเป็นนักร้องและเรียนด้านนี้ ในท้ายที่สุดพ่อของเธอที่ไม่อยากให้เธอแข่งขันร้องเพลงแต่กลับช่วยทำให้เธอได้บัตรไทย จึงทำให้เธอสามารถเข้าแข่งร้องเพลงในระดับประเทศได้]

“เราอยากสื่อว่า การใช้ชีวิตประจำวันของเราก็เหมือนการทำคอนเทนต์อยู่ ในการกำกับก็ยากเพราะบางคนไม่เคยมีประสบการณ์ บางคนที่กำกับก็ประสบการณ์มากแล้ว และเพื่อนที่ทำด้วยกันก็มาจากหลายที่ ไม่ได้เรียนที่เดียวกัน กับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก เราอยากให้ออกมาตลกและอินดี้ ทุกคนสามารถทำคอนเทนต์ได้แค่มีไอเดียและมือถือ”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ The Content

[เรื่องย่อ: กลุ่มวัยรุ่นในโรงเรียนที่อยากจะสร้างคอนเท้นให้ทุกคนได้รับความบันเทิง มีสีสันในชีวิต แต่ทุกคนยังลังเลว่าจะทำยังไงดี…?]

“หนังเกี่ยวกับความรู้สึกยากลำบากในการอยู่ร่วมกับสังคม เพราะเรามีบางอย่างที่แตกต่างออกไป เราใช้เวลากับการรีเสิร์ชเยอะ มันเริ่มจากความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดียของเราก่อน คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงแต่พาหุรัด ขายผ้า แต่ที่เราสนใจจริง ๆ คือ ปัญหาของคนกลุ่มนี้คืออะไรบ้าง ตอนรีเสิร์ชก็สนุกมาก เพราะไม่สามารถหาอ่านได้ทั้งหมด เลยต้องลงพื้นที่ไปคุยกับคนเยอะมาก เราก็เพิ่งรู้ว่า คนที่ไม่ใช่ศาสนาซิกข์ก็สามารถเข้าไปในวัดซิกข์ตรงพาหุรัดได้ กับต้องชื่นชมทาง Casting อย่างนักแสดงที่หาได้ก็เกิดจาก Casting เราไปหาที่วัดซิกข์ ทำให้เราได้เจอกับคุณอมรของเราคนนี้”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ The Dastar

[เรื่องย่อ: อมร พนักงานต้อนรับในโรงแรม หนุ่มไทยเชื้อสายอินเดีย ได้พบกับ อัญญา แม่บ้านสาวลูกครึ่งไทย-ไนจีเรีย ที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ ทั้งคู่เริ่มเปิดใจและเรียนรู้ความเหมือนต่างของกันและกัน]

“เราอยากลองทดสอบว่า ตัวเองจะทำงานกำกับในหลาย ๆ โลเคชั่นได้หรือเปล่า เราเลยเลือกโลเคชั่นที่คนที่เค้าหมาหายจะไปไหนบ้าง เรารู้อยู่แล้วว่าจะเจอปัญหาอะไรตอนถ่ายบ้าง แต่เราเป็นคนชอบคุยกับคน และเราเป็นคนชอบหมาอยู่แล้ว พอหมาหาย ทั้งหมาทั้งคนก็เหมือนถูกทิ้ง เราเลยเอาประเด็นนี้มาเล่าต่อเรื่องการถูกทิ้งในทุก ๆ ความสัมพันธ์”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ The Dog หมาหัวเน่า

[เรื่องย่อ: จอย และบี อดีตเพื่อนรักที่เคยสนิทกัน ต้องตามหาหมาที่หายไป บนเส้นทางของมิตรภาพอันขมขื่น]

“ตอนเราถ่ายเรากังวลเรื่องซีนอารมณ์เหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่นักแสดงใหม่หมดเลย แต่ตัวแม่เคยร่วมงานกัน เลยทำงานกันง่ายหน่อย บางซีนก็ถ่ายกันหลายชั่วโมง ส่วนเรื่อง พอเราได้ทำรีเสิร์ชจริง ๆ พบว่า พอเขียนบทเรื่องผู้พิการทางสายตา แล้วให้คนอื่นอ่าน ค่อนข้างได้ฟีดแบกที่ดี”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ GIVE… So Glad You’re My Mom

[เรื่องย่อ: เรื่องราวแม่ลูกลูกสู้ชีวิต เด็กชายมืดบอดทางการมองเห็นไร้แสงสว่าง โดยมี “แม่” ผู้ที่มีแต่ “ให้” เพื่อให้ลูกชายได้ใช้ชีวิตสู้ต่อไปในโลกที่ไร้แสงสว่าง]

“เป็นเรื่องของการส่งต่อความฝันของตัวเองในแต่ละช่วงวัยที่เผชิญปัญหาต่างกัน ตัวเราเพิ่งเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยปี 1 ก็ยังไม่แน่ใจในความฝันของตัวเอง เลยอยากทำหนังบอกตัวเองในอนาคต ไอเดียเราเลยมาจากเกมกระซิบส่งสารคือการส่งต่อประโยคไปเรื่อย ๆ เราเลยมาดัดแปลงให้กลายเป็นการส่งต่อความฝัน”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ กระซิบส่งสาร

[เรื่องย่อ: กระซิบส่งสารคือหนังที่เล่าเกี่ยวกับช่วงชีวิตของเด็กผู้หญิงคนนึงผู้ซึ่งชื่นชอบในเสียงดนตรีและมีความฝันที่จะเป็นนักดนตรี เธอมีภารกิจที่จะต้องส่งต่อความฝันนี้ผ่านเกมกระซิบส่งสารให้แก่ตัวเองในแต่ละช่วงวัยเพื่อให้ตัวเองได้ทำตามความฝันนี้ได้สำเร็จ แต่ว่าเมื่อเธอเติบโตขึ้น เธอก็ได้เผชิญหน้ากับความยากลำบากในการทำตามความฝันของตัวเอง เธอจึงต้องตัดสินใจว่าจะทำตามความฝันนี้ต่อไปหรือไม่ และการตัดสินใจนี้จะส่งผลกับเธอไปตลอดทั้งชีวิตของเธอ]

“หนังเป็นตัวแทนของภาวะโหยหาอดีต แต่ไม่ใช่อดีตที่มีความสุข เป็นคอนเสปต์ของมนุษย์ที่ไม่อาจหาความมั่นคงในชีวิตได้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามเวลา ทำให้มนุษย์โหยหาอดีตมากกว่าอนาคต เราเลยหยิบยกเรื่องนี้มาเล่าในมุมมองของปัญหาที่เด็กเผชิญ ซึ่งกลายเป็นบาดแผลที่ส่งต่อไปถึงอนาคต เราเลยอยากให้ผู้ใหญ่มองเห็นว่า ปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาที่สำคัญ”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ แด่เธอผู้หวนคืนในฤดูร้อน / To You Who Return in the Summer

[เรื่องย่อ: คิมหันต์และปู้จู้เป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่ง วันหนึ่งวันหยุดปิดภาคเรียนฤดูร้อนวันแรก “ปู้จู้” ได้หายตัวไปหนึ่งสัปดาห์ก่อนปิดเทอมฤดูร้อน แต่ไม่มีใครรู้ว่าเธอหายตัวไปที่ไหน จนในวันปิดเทอมฤดูร้อนวันแรก ปู้จู้ได้กลับมาปรากฏตัวอยู่ตรงหน้า “คิมหันต์” อีกครั้ง แต่คิมหันต์รู้สึกว่าปู้จู้ที่กลับมานั้นไม่ใช่ปู้จู้ที่เธอเคยรู้จัก!]

“เราสนใจประเด็นเรื่องธรรมชาติ เตหน่ากูเลยเป็นเรื่องการใช้บทเพลงแทนคำพูด ตอนแรกเริ่มจากวิชาในปี 3 อาจารย์พยายามให้หานักวิชาการ เราเลยไปเจอพี่ KLEE BHO เค้าก็แนะนำต่อมา ผมเลยขึ้นไปสัมภาษณ์ ได้ข้อมูลมาค่อนข้างลึกบวกกับเป็นประเด็นที่เราสนใจ กับผมได้ไปอ่านบทความเพลง Take Me Home, Country Roads ของจอห์น เดนเวอร์ที่พูดถึงเรื่องการทำเหมืองแร่ในเมือง เวสต์เวอร์จิเนียแล้ว ผมอ่านแล้วเจ็บปวด”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ Taenagu

[เรื่องย่อ: เตหน่ากูเป็นเครื่องดนตรีของชาวปกาเกอะญอใช้เพื่อสื่อสารเรื่องราวของป่าชีวิตคน แล้วก็มีอยู่ยุคหนึ่งได้มีนโยบายไล่คนออกจากป่า จากหน้าที่เพื่อความเพลิดเพลินพวกเขาได้นำเตหน่ามาใช้สื่อสารกับคนข้างล่าง]

“แรงบันดาลใจที่สร้างเรื่องนี้มาจากช่วงทีทีสิส แล้วเรื่องที่คุยกันทุกครั้งเรื่องเก่า ๆ เรื่องในอดีต พวกร้านขายของชำ ของเล่นในอดีต มันคุยแล้วสนุกทุกครั้ง เราเลยเอามาทำ เราทำประมาณทั้งหมด 1 ปี ตั้งแต่คิดโปรเจ็คต์จนลงมือทำ เราตั้งใจกับเรื่อง Art Direction มาก อยากให้รู้สึกว่า คนไทยไม่ได้ทำอนิเมชั่นได้ธรรมดาเหมือนสมัยก่อนแล้ว อยากให้อนิเมชั่นไทยยกระดับไปอีกขั้นนึง”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ Thief Boy

[เรื่องย่อ: เรื่องราวเกิดขึ้นช่วงบอลโลกปี 2010 ในจังหวัดบุรีรัมย์ ในวันหนึ่งเด็กสองพี่น้องที่มีความคลั่งไคล้ในฟุตบอล ได้พบกับลูกฟุตบอลที่มีลวดลายเหมือนบอลโลกประจำปี 2010 โดยบังเอิญ จึงอยากได้และมีความคิดที่จะขโมยลูกบอลนั้นตามแผนการต่างๆที่พวกเขาคิดขึ้นมา โดยมีป้าผู้เป็นเจ้าของร้านคอยขัดขวางเด็กทั้งสอง]

“เป็นเรื่องราวมิตรภาพของเด็กผู้หญิง 4 คนที่ 1 ในนั้นมีความสามารถอ่านใจคนได้ ซึ่งเรื่องอยู่ในช่วง ม.6 เป็นปีสุดท้ายที่จะไม่ได้เจอกันแล้ว ด้วยความที่ตัวละครเยอะ คนในเซ็ตติ้งก็เยอะ เลยจะสื่อสารกันยากนิดนึง รวมถึงเป็นหนังเรื่องแรกของพวกเราด้วย เราเลยรายงานปัญหากันตลอดและถามความเห็นคนนั้นคนนี้ ส่วนบทสนทนาด้วยความที่คนแสดงเป็นเพื่อนกัยอยู่แล้วเลยให้เขาเล่นเพิ่มจากบทและออกความเห็นได้เลย ส่วนนักแสดงเราเลือกจากความสมัครใจและเขียนตัวละครให้เข้ากับนักแสดง”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ Unforgettable

[เรื่องย่อ: เรื่องราวมิตรภาพของเด็กสาววัยมัธยมปลายทั้ง 4 คน นั่นก็คือ มีมี่ ตาออม เฌอเเตม เเละเจน 1 ในนั้นมีคนที่สามารถอ่านใจคนได้ คือ มีมี่ เมื่อช่วงชีวิตของพวกเธอดำเนินมาถึงช่วง ม.6 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย แต่จู่ ๆ ก็มีอุปสรรคเข้ามา ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเธอสั่นคลอน เเละไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย จนกระทั่งเวลาผ่านไปสามปี ทุกคนได้วนกลับมาเจอกันอีกครั้ง]

“เราอยากจะบอกเล่าตีแผ่ประสบการณ์ของคนที่ประสบปัญหาเรื่องความคาดหวังในความสมบูรณ์แบบจนส่งผลต่อกายและจิตใจ เด็กรุ่นใหม่ก็ประสบปัญหานี้ที่ต้องทำตามความคาดหวังของสังคม เลยอยากเล่าว่า คนเรามีคุณค่าในตัวเอง และตั้งใจให้เป็นการ์ตูนเพราะอยากให้คนในครอบครัวได้ดูด้วยกัน” – ทีมสร้างภาพยนตร์ Mr. Perfect Swan

[เรื่องย่อ: The story is about a little girl who has to live with Mr. Perfect Swan and the sleepy cat that tries to control her life in their ideal way to make her life full of eternal happiness but it led her to a different path than they intended.]

“มันเริ่มจากงานประกวดหนังเกี่ยวกับผู้พิการ เราก็มาคิดว่า เราอยากสะท้อนเสียงของผู้พิการ และมาคิดต่อว่า ความพิการอะไรที่เกี่ยวกับเสียงบ้าง เลยเป็นที่มาของเรื่องเล่าคนที่พูดไม่ได้ และกลายมาเป็นเรื่องเสียงดอกไม้บาน เราไม่ได้ยินเสียงการบานของดอกไม้ แต่เรารู้สึกได้ เราเลยร่วมมือกับโรงเรียนโสตศึกษาและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคนหูหนวกเพิ่มเติม ก็เลยได้เจอมิ้ง ตัวละครหลักของเรื่องและเคยได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานประกวดเต้นระดับชาติ กลายเป็นแรงบันดาลใจหลักของเรื่อง ครูเกษม (ล่าม) จะให้เรามาฝึกภาษามือก่อนตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน แล้วก็มานั่งคุยกัน”

“หนู (มิ้ง – ตัวละครหลัก ผู้พิการทางการได้ยิน) มาแสดงหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรก และไม่เคยมีประสบการณ์เลย ตอนแรกก็เครียดและตื่นเต้นที่ต้องมาทำงานกับคนที่ไม่พิการ แล้วเราก็ได้ยินชื่อเสียงของทีมพี่ ๆ เค้ามาก่อน ก็ตื่นเต้นและกลัวนิด ๆ แต่พอมาเจอแล้วก็รู้สึกดีขึ้น ทุกคนมีรอยยิ้มและยินดีที่หนูทำได้ พอทราบผลว่าเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำยอดเยี่ยม หนูก็ตื่นเต้นดีใจสุด ๆ”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ The Sound of Blooming Flowers เสียงดอกไม้บาน

[เรื่องย่อ: ‘เสียงดอกไม้บาน’ เรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ ‘มิ้ง’ ผู้พิการหูหนวกคนหนึ่ง ผู้ซึ่งมีความสามารถด้านการจดจำสิ่งที่เห็นจนเกิดเป็นพรสวรรค์ด้านการเต้น แม้เธอจะไม่ได้ยินเสียงดนตรีใดๆ แต่เธอก็สามารถเต้นได้จากการจดจำท่าทาง แต่ด้วยทัศนคติของคนทั่วไปที่มองไม่เห็นความสามารถของเธอเพียงเพราะเธอเป็นเด็กหูหนวก คนทั่วไปจึงมองเธอเป็นแค่เด็กพิการคนหนึ่ง จนเธอได้พบกับ ‘เอ’ คนที่รับฟังเธอจริงๆ แม้เค้าจะไม่ได้ยินเสียงของเธอ แต่เค้าก็เรียนรู้และรับฟังเพื่อที่จะสื่อสารกับเธอ เพราะการรับฟังด้วยใจของ เอ จึงทำให้ มิ้ง ได้มีโอกาสแสดงสิ่งที่มิ้งมี วันนี้เสียงของมิ้งได้ดังไปถึงหัวใจของทุกคน เช่นเดียวกับเสียงของการบานของดอกไม้ แม้ไม่มีใครเคยได้ยิน แต่ทุกคนก็รับรู้ได้ถึงความสวยงาม รับรู้ได้ถึงการเติบโต และรับรู้ได้ถึงสุขสมหวังที่เกิดขึ้น]

“จุดเริ่มต้นคือเราอยากกลับไปทำหนังที่บ้าน เลยนึกถึงช่วงเวลาตอนเด็กที่เคยเล่นกับเพื่อน ๆ เนื้อเรื่องเลยอิงกับวัยของความเปลี่ยนแปลงจากเด็กตอนปลายสู่วัยรุ่นตอนต้น เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาของเด็กกลุ่มหนึ่ง และอยากให้คนดูมีประสบการณ์ร่วม เลยเอามาดัดแปลงกลายเป็นแก๊งเด็กสาวที่ต้องหาเครื่องเล่นเทปให้กับรุ่นพี่ก่อนที่เขาจะไปเรียนต่อ ตัวน้องเกี๋ยมอี๋ตัวละครหลัก น้องก็สู้ชีวิตมาก เพราะเราทำงานต่างจังหวัด ก็ต้องไปกันหลายวัน แล้วน้องข้อเท้าบวม ต้องส่งไปโรงพยาบาลพันผ้าก็อซ น้องแต่ละคนก็มีผลงานมาแล้ว วิธีการบรีฟเลยไม่ได้ยากมาก สถานการณ์ในกองเลยสนุกมาก ๆ”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ ฉิงชู

[เรื่องย่อ: เกี้ยมอี๋ ติงติง และเส้นหมี่ เด็กหญิงวัย 12 ปี ที่จะต้องช่วยกันหาวิธีนำเครื่องเล่นเทปที่พวกเขาทำพัง กลับคืนมาให้พี่โตโต้ ก่อนที่พี่โตโต้จะไปเรียนต่อในวันมะรืนนี้]

“ตอนตั้งต้นเรื่องนี้ เราเป็นคนสนใจเรื่องคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว และรู้สึกว่าคนยุคนี้เวลาทำงาน แล้วทำได้ไม่ดี เราจะรู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่าหรือเปล่านะ แต่จริง ๆ แล้วคุณค่าเราไม่ได้มีแค่งานอย่างเดียว เลยอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเตือนใจว่า ถึงเราไม่ได้เกิดมาทำสิ่งนี้ เราก็เกิดมาเพื่อทำสิ่งอื่นอยู่ดี เด็กดูก็จะได้มุมนึง ผู้ใหญ่ดูก็อาจจะกลับมาใส่ใจตัวเองมากขึ้น ตั้งแต่เขียนบทถึงขั้นพัฒนาก็ประมาณ 10 เดือน แล้วก็เป็น 3D Animation เรื่องแรกของเรา และที่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้มีสอนในรุ่นเรา”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ Shelf Life ชีวิตชั้น

[เรื่องย่อ: บ็อบ นมกระป๋องใกล้หมดอายุบนชั้นวางในร้านขายของชำที่อยากมีประโยชน์ก่อนจะถึงวันสิ้นอายุ]

“เราอยากจะเล่าประเด็นที่ใกล้ตัวที่สุด ก็คือเรื่องของตัวเอง เลยเอาประเด็นน้ำท่วมปี 54 มาเล่า ซึ่งเป็นบาดแผลของครอบครัวมาก ๆ อย่างรูปตอนสุดท้าย ก็เป็นรูปถ่ายที่พี่ชายถ่ายไว้จริง ๆ ตอนน้ำท่วม เนื้อเรื่องเลยเป็นการกลับไปหาความทรงจำบางอย่างที่ไหลไปกับน้ำ กับช่วงนั้นผมอินเรื่องการจัดบ้าน มันจะมีคอนเสปต์นึงเค้าบอกว่า บ้านบวกครอบครัวเท่ากับความทรงจำ เราเลยตั้งคำถามว่า น้ำช่วยลบความทรงจำหรือช่วยให้จำมากขึ้น”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ ในบ้าน

[เรื่องย่อ: การกลับบ้านไปหาความทรงจำบางอย่าง ที่ไหลผ่านไปกับน้ำ ครอบครัวเล็กๆครอบครัวหนึ่ง ที่ต้องรักษาพาร์ทความเป็นครอบครัวของพวกเขาเอาไว้ แต่ภัยน้ำท่วม ปี54 ได้ซัดพาให้พวกเขาต้องแยกออกจากกัน เมื่อกาลเวลาผ่านไปคนในบ้านต่างเติบโตขึ้น ต่างก็ต้องออกไปทำหน้าที่ของตนเอง เมื่อเริ่มอยู่ไกลออกจากบ้าน ก็เหมือนว่าความทรงจำตรงนั้นไม่หลงเหลืออะไรอีกแล้ว]

“เราอยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังท้อ ท้อในความเป็นตัวเอง ท้อในสิ่งที่ตัวเองทำ ต้องการจะสื่อให้หลาย ๆ คนมีกำลังใจสู้ ถึงแม้จะมีคนที่ไม่ชอบเราก็ตาม แต่ก็อยากให้เรามองคนรอบตัวที่รักเราและชอบในสิ่งที่เราทำ เราจะได้ทำสิ่ง ๆ นั้นต่อไป จริง ๆ เราทำกันทั้งหมด 18 คน แบ่งกันหลายหน้าที่ ใช้เวลาทำกันเกือบ 4 เดือน โดยที่เราก็มีงานอื่น ๆ ไปด้วย”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ สีที่แท้จริง / True Color

[เรื่องย่อ: เรื่องราวเกี่ยวโลกที่ไร้สีสัน แต่ทว่าวันหนึ่งนางเอกได้พบกับความมหัศจรรย์บางอย่างที่เธอสามารถเสกสีสันด้วยวิธีต่าง ๆ ให้กับโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ถนน สิ่งของต่าง ๆ แต่ถึงอย่างนั้น บางสิ่งบางอย่างเธอก็ไม่อาจที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด เธอต้องเผชิญหน้ากับความจริงอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เธอได้รับกำลังใจที่ทำให้เธอลุกขึ้นสู้ และเป็นเเรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นต่อ ๆ ไป]

“เราอยากสื่อสารเรื่องการส่งต่อแรงบันดาลใจในช่วงที่ตัวละครทั้งสามประสบความยากลำบาก ธีมหลักเราใช้ความเป็นเด็กให้เป็นมิตรกับผู้คน พวกเราคนทำหนังเรื่องนี้ทั้งสามคน เราชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดเขียน เลยเอาความรักในการอ่านเป็นคีย์หลักของเรื่อง บวกกับภาวะเศรษฐกิจในเรื่องที่ไม่ค่อยเอื้อหนังสือของแก่นแก้วของถูกขายไป และไปประสบพบเจอสิ่งต่าง ๆ คุณแม่และน้องแก่นแก้วก็ได้ส่งต่อแรงบันดาลใจด้วยกันและก้าวข้ามความยากลำบากด้วยกันได้ ตัวลายเส้น เราก็ระดมไอเดียกันนานมากในการปรับนู่นแก้นี่ ทำกันสิบเดือนกว่า ภูมิใจกับงานมาก ๆ อยากให้ผู้ชมได้รู้สึกผ่อนคลายและกลับไปเห็นตัวเองในวัยเด็ก”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ The Adventure of Keankaew

[เรื่องย่อ: หนังสือนิทานแสนรักกำลังจะถูกขายไป เด็กน้อย [แก่นแก้ว] จำต้องหาหนทางที่จะได้อ่านตอนจบของเรื่องราวให้ได้]

“เราตั้งต้นไอเดียมาจากว่า เราเสพสื่อทั้งในและนอก แล้วเราสังเกตว่า วิธีปฏิบัติต่อลูกของคนที่มีชื่อเสียงต่างจากคนธรรมดา เรื่องนี้เรามองว่า เป็นเรื่องที่มองได้ทั้งสองด้านว่า ตัวแม่ถูกหรือผิด เราอยากเล่าเรื่องนี้ให้คนตระหนักรู้ได้ก่อนจะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคตว่า ความเป็นส่วนตัวคืออะไร เพราะเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากถ้าเราไม่หยุดทำสิ่งนี้กับลูกที่เรารัก อนิมเชั่นที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมีอยู่ทั่วโลก ตัวเราเลยมีจุดประสงค์หลักในการทำเรื่องนี้คือการสอนผู้ใหญ่แทน เรารู้สึกว่า การเอาน้ำออกจากน้ำเต็มแก้วเป็นเรื่องยากกว่า จริง ๆ เรื่องนี้มันค่อนข้างแรงต่อความรู้สึก พอมาเล่าเป็นอนิเมชั่นก็ทำให้เนื้อหาดูซอฟท์ลงและเข้าถึงความรู้ได้ง่าย เข้าถึงทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ได้ง่ายกว่า เราอยากจะฝากถึงผู้ปกครองทุกคนที่ได้ดูเรื่องนี้ อยากให้คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของเด็ก อยากให้ทุกคนระมัดระวัง เพราะความเป็นส่วนตัว เป็นเรื่องที่ถ้าเราเสียมันไปแล้ว มันจะกลับมายากมาก”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ Sharenting

[เรื่องย่อ: อินฟูลเอนเซอร์สาวท่านหนึ่งได้ทำการเก็บบันทึกรูปและวิดีโอลูกตนเองตั้งแต่เกิดจนโตเพื่อเก็บเป็นคอนเท้นลงบนโซเชียล จนเกิดเป็น กระแสตอบรับจากสังคมมากขึ้นเพราะด้วยใบหน้าหลุดของลูก ทำให้เธอต่อยอดความเป็นกระแส โดยนำลูกมาทำเป็นคอนเท้นที่หลากหลายผ่านชีวิตประจำวัน จนเริ่มรบกวนเวลาส่วนตัวของลูกและพิศดารมากขึ้น รางวัลและชื่อเสียงต่างๆเริ่มทยอยเข้ามาทำให้แม่รู้สึกหลงละเริงไปจนกลายเป็นการกระหายคอนเท้นและหลงลืมความรู้สึกของลูกชายไป จนกระทั่งเขาโตพอที่จะมีความคิดเป็นของตัวเองทำให้เขาเลือกที่จะจากแม่ของเขาไปอย่างเงียบ ๆ]

“เป็นหนังเกี่ยวกับความเชื่อของคนที่เราพยายามใส่สัญญะทางสังคมเข้าไป จริง ๆ เราถ่ายกันในช่วงโควิด แล้วน้องนักแสดงนางเอกติดโควิด เราเลยต้องทำเวิร์คชอปการแสดงออนไลน์ แต่โชคดีที่เราแคสติ้งนักแสดงมาตรง ทำให้ไม่ต้องทำงานหนักมาก โดยเฉพาะตัวละครไผ่ เราแคสกัน 10-20 คน สุดท้ายเราก็เลือกน้องคนนี้ และยอมปรับบทให้ตัวละครโตขึ้นมานิดนึง ส่วนชาวบ้านในเรื่องทุกคนมาสายละครเลย กับเราอยากหาเรื่องที่เข้าถึงคนได้ง่ายเลยเล่าเรื่องจอมปลวก เพราะมันไทยมาก”

– ทีมสร้างภาพยนตร์ เฮมิเมตา

[เรื่องย่อ: ไผ่ เด็กวัดแสนไร้เดียงสากำลังจะถูกจับให้บวชเณร หวังว่าจะทำให้หลวงพ่อหายอาพาธ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็เลือกที่จะบูชาจอมปลวกในป่า และการกลับมาของ ฟ้าใหม่ เด็กสาวในเมืองก็ทำให้ไผ่เกิดตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น]

The Diary – [เรื่องย่อ: เด็กชายชื่อ ก้อนเมฆ ได้รับไดอารี่จากคุณพ่อท้องฟ้า และได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตในแต่ละวันผ่านสมุดบันทึกเล่มนี้ จนวันหนึ่งก้อนเมฆได้รับรู้ว่าคุณพ่อกำลังป่วยจึงหาวิธีทางเพื่อที่จะช่วยให้คุณพ่อหายจนได้วิธีนั้นก็คือ การหวังพึ่งคำอธิฐาน สุดท้ายก้อนเมฆก็ได้เผชิญหน้ากับการสูญเสีย ได้รู้จักและเรียนรู้ที่จะยอมรับมัน]

เปื้อนยิ้ม – [เรื่องย่อ: เด็กหญิงวัย 10 ปี ชื่อ”ขนมผิง” เด็กที่เติบโตในเมืองกรุงถูกแม่พากลับมาบ้านยายที่ชนบทห่างไกลเมืองในช่วงปิดเทอม ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวนั้นแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินหรือภาษา แต่ความเป็นกันเองและท่าทางดูใจดีของคุณยายทำให้ขนมผิงเปิดใจใช้ชีวิตอย่างเด็กนอกเมือง ขนมผิงได้รู้จักเพื่อนใหม่ “แอน” เด็กลูกครึ่งวัยไล่เลี่ยกันที่อาศัยอยู่กับตาสองคน แม้ทั้งคู่จะนิสัยต่างกันแต่ก็กลายมาเป็นเพื่อนสนิทเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งใกล้หมดช่วงปิดเทอม ขนมผิงพบความจริงที่ว่าพ่อกับแม่หย่าร้างกัน ขนมผิงจะต้องอยู่กับแม่ที่บ้านยาย ขนมผิงเสียใจมากเรื่องจะไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันพ่อแม่ลูก และยังมาทะเลาะกับแอนเรื่องแอนถูกพ่อทิ้ง ขนมผิงรู้สึกเหมือนโลกพังทลาย แม่ก็เสียใจทำได้แค่ปลอบประโลมลูก วันเวลาผ่านไปขนมผิงทำใจได้และยอมรับความจริง แอนที่โกรธขนมผิงก็คิดถึงช่วงเวลาที่เคยเล่นกับขนมผิงอย่างสนุกสนาน ก็ละทิ้งความโกรธเพื่อคืนดีกัน และแล้วชีวิตของขนมผิงก็ดำเนินต่อไป ผ่านเรื่องราวและเติบโต]

Heart to Heart – [เรื่องย่อ: เรื่องราวที่ว่าด้วยความผูกพันธ์ของแม่และลูกที่โซเซียลทำให้ทั้งสองคนไม่เข้าใจกัน]