[fuse. Review] – THIEF BOY (Chitsanuphong Wilaikarn, 5.00 นาที)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

[ เรื่องย่อ: เรื่องราวเกิดขึ้นช่วงบอลโลกปี 2010 ในจังหวัดบุรีรัมย์ ในวันหนึ่งเด็กสองพี่น้องที่มีความคลั่งไคล้ในฟุตบอล ได้พบกับลูกฟุตบอลที่มีลวดลายเหมือนบอลโลกประจำปี 2010 โดยบังเอิญ จึงอยากได้และมีความคิดที่จะขโมยลูกบอลนั้นตามแผนการต่าง ๆ ที่พวกเขาคิดขึ้นมา โดยมีป้าผู้เป็นเจ้าของร้านคอยขัดขวางเด็กทั้งสอง ]

นับจากปี 1995 ที่ Pixar Animation Studios แนะนำให้โลกได้รู้จักกับ Toy Story หนังอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรก ที่เป็น computer-amimatedล้วน หรือใช้คอมพิวเตอร์สร้างหนังตลอดทั้งเรื่องเป็นเรื่องแรกของโลก ก็สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งวงการอนิเมชั่นทั่วโลก โดยเฉพาะสำหรับเหล่านักทำหนังสายอนิเมเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาทำหนังทั้งเรื่อง ก็แทบจะเปลี่ยนโฉมหน้าโลกภาพยนตร์สำหรับพวกเขาไปตลอดกาล

ก่อนหน้านั้นเกือบศตวรรษมาแล้ว งานสร้างอนิเมชั่นแบบดั้งเดิมคือการวาดคาร์เร็กเตอร์ต่างๆ ด้วยมือซ้ำๆ เพื่อขยับและเคลื่อนไหวภาพไปทีละเฟลมๆ โดยวิธีการนี้กำเนิดขึ้นครั้งแรก ย้อนไปตั้งแต่ปี 1908 กับหนังอนิเมชั่นขนาดสั้น ความยาว 2 นาที เรื่อง Fantasmagorie ด้วยฝีมือของศิลปินชาวฝรั่งเศส Émile Cohl ก่อนจะแตกแขนงศาสตร์แห่งการทำอนิเมชั่นออกมาในรูปแบบต่างๆ ทั้ง stopmotion และอนิเมชั่นสองมิติแบบวาดด้วยมือ กระทั่งเมื่อคอมพิวเตอร์กราฟฟิกกำเนิดขึ้น เทคโนโลยีนี้จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทำให้เกิดศาสตร์แห่งการทำอนิเมชั่นแขนงใหม่ และมีผลงานออกมาเป็นอนิเมชั่นสามมิติอย่าง Toy Story

ทว่าก่อนสตูดิโอจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้ด้วย Toy Story ที่เป็นต้นกำเนิดเฟรนไชส์หนังที่ทำเงินมหาศาลที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกภาพยนต์ฝั่งอนิเมชั่น Pixarเองก็เคยทดลองทำงานชิ้นเล็กๆ มาก่อน ด้วยหนังอนิเมชั่นขนาดสั้น ที่ทำด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งเรื่อง มันคือหนังความยาวเพียงแค่ 2 นาที ที่ถูกปล่อยออกมาในปี 1986 หรือเกือบหนึ่งทศวรรษก่อนหน้า Toy Story ชื่อเรื่องว่า Luxo Jr.

Luxo Jr. เล่าเรื่องการเล่นซนของโคมไฟตั้งโต๊ะ Luxo Jr. กับลูกบอล โดยมีโคมไฟรุ่นซีเนียร์ คอยดูอยู่อย่างห่วงๆ ตัวหนังไม่มีบทสนทนาใดๆ เกิดขึ้น เพราะโคมไฟยังคงเป็นตัวละครที่พูดไม่ได้ และแม้โคมไฟทั้งสองจะไม่สามารถแสดงสีหน้าท่าทางหรืออารมณ์ได้อย่างตัวละครมนุษย์ แต่การเคลื่อนไหว การขยับของโคมไฟ ไปจนถึงแสง เงา และแม้กระทั่งเสียงการขยับของวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้กลับทำให้คนดูสามารถที่จะรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของโคมไฟทั้งสองได้อย่างชัดเจน และเข้าใจเนื้อหาของหนังได้โดยไม่ต้องอาศัยบทสนทนา หรือบทบรรยายเรื่องใดๆ และหากจะถามว่าหนังสั้นเรื่องนี้มีความสำคัญแค่ไหนกับสตูดิโอ Pixar ก็ให้ดูที่โลโก้ของสตูดิโอที่ใช้เปิดหัวหนังทุกเรื่อง ที่มีตัวละครโคมไฟหรือเจ้า Luxo Jr. ปรากฏอยู่ในฐานะมาสคอตของสตูดิโอ Pixar

เช่นเดียวกับ Luxo Jr. ของ Pixar หนังอนิเมชั่นขนาดสั้น Thief boy ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นก้าวแรกของทีมผู้สร้างให้ต่อยอดผลงาน โดยใช้ทักษะที่มีนี้ สร้างสรรค์งานอนิเมชั่นสามมิติขนาดยาวออกมาในอนาคตได้ไม่ยาก

อนิเมชั่นความยาว 4 นาทีกว่า Thief boy เล่าถึงเด็กชายสองคนที่ชื่นชอบการเล่นฟุตบอล แต่ลูกบอลที่พวกเขาเล่นเป็นเพียงลูกบอลเก่าๆ ปอนๆ เปื้อนฝุ่นลูกหนึ่งเท่านั้น กระทั่งเด็กชายทั้งสองได้ไปเห็นลูกฟุตบอลใหม่เอี่ยมลูกหนึึ่งวางขายอยู่ภายในร้านขายของชำของคุณป้าสายโหด ด้วยความอยากได้ลูกฟุตบอลลูกนั้น เด็กๆ จึงพยายามคิดหาวิธีเข้าไปในร้านชำเพื่อขโมยเจ้าฟุตบอลลูกใหม่มาให้ได้

วิธีการเล่าเรื่องของ Thief boy นั้นใช้เพียงท่าทาง สีหน้า แววตาของตัวละคร ประกอบเหตุการณ์ พร้อมกับใส่สถานการณ์ต่างๆ เข้ามาดำเนินเรื่องเท่านั้น ไม่มีคำพูด ไม่มีบทสนทนา ไม่มีบทบรรยาย เช่นเดียวกับที่ทำในอนิเมชั่น Luxo Jr. แต่คนดูกลับสามารถเข้าใจภาษากายและท่าทางเหล่านั้นของตัวละครในการสื่อสารได้อย่างชัดเจน

และถึง Thief boy จะไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้น่าเบื่อชวนง่วง เพราะสถานการณ์ ‘ฮาวทูขโมยลูกบอล’ ที่ใส่เข้ามาตลอดทั้งเรื่อง ได้สร้างทั้งความตลก ไปพร้อมๆ กับลุ้นเอาใจช่วยเด็กๆ ในการต่อกรกับคุณป้าร้านชำ และในท้ายที่สุด เรื่องราวก็คลี่คลายลงด้วยดี เมื่อคุณป้ามองเห็นถึงศักยภาพและทักษะเล่นฟุตบอลของเด็กชายทั้งสอง

ถึงแม้อนิเมชั่น Thief boy จะไม่มี ‘ภาษาสื่อสาร’ เกิดขึ้นในเรื่องเลยก็ตาม ด้วยความยาวของหนังเพียงแค่ 4 นาทีกว่า แต่ก็มากพอที่ตัวหนังจะผูกมิตรกับเด็กๆ หรือแม้แต่กับบรรดาผู้ใหญ่หัวใจเด็กได้ไม่ยาก บทสรุปของหนังเรื่องนี้ออกมาเป็นภาพถ่ายเพียงหนึ่งภาพ ที่ใช้แทนคำพูดหรือเรื่องราวได้นับร้อยนับพัน นับเป็นการจบเรื่องได้อย่างลงตัวและน่าประทับใจ

ส่วนของงานด้านภาพ อนิเมชั่น Thief boy ให้กลิ่นไอแบบหนัง Stop motion animation ด้วยรูปลักษณ์ของตัวละคร และสิ่งของต่างๆ เหมือนงานสร้างจากดินน้ำมันปั้นสามมิติ มีความลึกและเว้านูนทั้งของคน ข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงฉากหลัง แตกต่างจากการ์ตูนอนิเมชั่นสองมิติ

ฉากเปิดเรื่องที่แสดงให้เห็นรายละเอียดยิบย่อยของร้านขายของชำ ก็ทำออกมาได้น่ารักสมจริงเหมือนสร้างจาก Rement ของเล่นที่จำลองข้าวของเครื่องใช้ขนาดจิ๋วของญี่ปุ่น มีการขยับของข้าวของเพื่อความสมจริง สอดคล้องกับความเป็นร้านชำ การออกแบบตัวละครเด็กนักเรียนสองคน ที่เสื้อผ้ากับทรงผมว่าเป็นนักเรียนไทย ที่ไม่ได้มีทุนทรัพย์มากนัก สอดรับกับสิ่งที่เด็กๆ กระทำ การออกแบบตัวละครคุณป้าร้านของชำ ก็ไม่ได้ทำให้ดูเป็นตัวละครแบนๆ แต่มีมิติ เหมือนมนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิดทั่วไป

โดยภาพรวม Thief boy จึงทั้งดูง่าย และสนุก การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไปจนถึงท่าทางของตัวละครและการเคลื่อนไหวของสิ่งของทั้งหลายก็สอดคล้องกัน ไม่มีอะไรขัดตา เป็นอนิเมชั่นที่ขยับได้สมูธตามสถานการณ์ตลอดทั้งเรื่อง ก่อนจะปิดด้วยภาพวาดสีไม้ในฉาก end credit scene ที่บอกเล่าเรื่องราว ‘ระหว่างทาง’ ก่อนจะถึงเหตุการณ์ถ้วยรางวัลในรูปถ่ายใบนั้น เพื่อเสริมต่อเรื่องราวให้สมบูรณ์ และยังช่วยให้คนดูรู้สึกผูกพันกับเหล่าตัวละครได้มากยิ่งขึ้น หลัง end credit scene ยังมีภาพแสดงให้เห็นเบื้องหลังการทำงานของทีมผู้สร้างทั้งในการออกแบบตัวละครและสิ่งของ และเบื้องหลัง animate ตัวละคร โดยอ้างอิงจากท่าทางของมนุษย์จริง ๆ

สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้กับทีมอนิเมเตอร์ Thief boy จำไว้ว่าทุกความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นด้วยก้าวเล็ก ๆ เสมอ