[fuse. Review] – The Kindergarten Friend ต้นไม้..จากเพื่อน (ณีรนาท ลำน้อย)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

‘เพื่อน’ สองคน คือ ไดน่า และ ทอย พูดถึงการใช้ชีวิตในช่วงเวลาปิดเทอม ความฝันในอนาคต และการเรียนต่อ ไปจนถึงกล่าวอำลาเมื่ออีกฝ่ายกำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ พร้อมการมอบของขวัญที่จะเป็นตัวแทนให้รำลึกถึงเพื่อนอีกคนอยู่เสมอ

ทุกฉากมีต้นไม้เป็นส่วนประกอบหลักของฉากหลัง ฉากขับมอร์เตอร์ไซต์ไปรับเพื่อนที่บ้าน ผ่านอ่างเก็บน้ำ และสองข้างทางก็เป็นต้นไม้ทั้งหมด เล่าถึงเรื่องต้นไม้ที่เคยปลูก กับการปลูกต้นไม้ที่กลายเป็นงานอดิเรกของตัวละครตัวหนึ่ง ทั้งยังใช้ต้นไม้ในเชิงสัญญะถึงการเติบโตของทั้งสองคน ซึ่งผู้สร้างสามารถทำได้ดีในจุดนี้ ไม่ดูยัดเยียดใส่คนดูจนเกินไป

นอกจากต้นไม้แล้ว ฉากหลังก็มีผลกับเนื้อเรื่องโดยรวมเช่นกัน โดยฉากหลังในช่วงต้นๆ เรื่องเป็นภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถมยังขับรถผ่าน ‘อ่างแก้ว’ ซึ่งเหมือนเป็นการเซ็ต vibe ของเรื่องกลายๆ ส่งผลให้เข้าใจตัวละครทั้งสองคนเป็นนักศึกษาระดับชั้นมหาวิทยาลัยมากกว่าจะเป็นเด็กนักเรียนมัธยมปลาย ที่รอศึกษาต่อ อย่างที่หนังพยายามสื่อ หนังไม่ได้ใส่ภาพที่สื่อให้เห็นว่าเพื่อนทั้งสองคนเป็นนักเรียนชั้นมัธยม นอกเหนือไปจากบทสนทนาที่พูดถึงการศึกษาต่อ ซึ่งจุดนี้ ผู้สร้างสามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่ภาพว่าเพื่อนทั้งสองคนเป็นนักเรียนชั้นมัธยม เช่น ผมทรงนักเรียน ฉากหลังภายในรั้วโรงเรียน ไปจนถึงเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ที่นักเรียนมัธยมปัจจุบันนิยม

และเนื่องจากใช้เสียงบทสนทนาoffscreen ในการดำเนินเรื่องเป็นหลัก จึงอยากแนะนำให้ใส่ภาพ หรือเหตุการณ์ในการดำเนินเรื่องมากกว่าจะใส่เหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาในบทสนทนา เช่น อาจจะใส่หตุการณ์ flash back เป็นเด็กผู้หญิงกำลังปลูกต้นไม้ แทนการเล่าทื่อๆ ว่าไดน่าเคยแอบนำต้นไม้ต้นหนึ่งมาปลูกไว้

ตัวหนังโดดเด่นในการใช้เสียง offscreen ดำเนินเรื่อง โดยเสียง offscreen ดังกล่าวเป็นบทสนทนาของตัวละครหลัก ทว่าในบางซีน แม้ตัวละครกำลังพูดกันอยู่ แต่กลับรู้สึกเหมือนเสียงของทั้งสองคนยังคงเป็นoffscreen อยู่ หาความแตกต่างของเสียงoffscreen กับบทสนทนาที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ได้ยาก แต่โดยรวม คำพูดของบทสนทนาก็ลื่นไหล เป็นไปตามธรรมชาติ แม้จะมีคำพูดเปร่งหูอยู่บ้างก็สามารถจะมองข้ามไปได้

แง่การสื่อถึงปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งสภาพเศรษฐกิจตกต่ำของสังคมในหนัง ด้วยป้าย ‘เซ้งร้าน’ ที่เป็นฉากหลัง ประกอบคำพูดบอกเล่าถึงสภาพเศรษฐกิจภายในครัวเรือนของไดน่า ก็ควรจะให้ตัวละครทั้งสองขับรถผ่านห้างสรรพสินค้า/ร้านค้าที่ปิดตัวลง, หรือขับผ่านบ้านที่ถูกยึดทรัพย์, ใส่ฟุตเทจบริษัทปิดตัว, คนตกงาน, คนไร้บ้าน หรือแม้กระทั้งฟุตเทจพาดหัวข่าวตามสื่อต่างๆ ที่พูดถึงความตกต่ำของเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ใส่เข้ามาแทรก แล้วเชื่อมเข้ากับเหตุการณ์ในเรื่อง ก็จะทำให้คนดูมองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น และหนังโดยรวมดูน่าสนใจขึ้น

ทว่าในฉากเดียวกันนี้ การตัดภาพไปให้เห็นไดน่ากำลังรดน้ำต้นไม้ ก็สอดรับกับที่ทอยพูดว่ามีสิ่งที่ไดน่าชอบทำ เป็นการใช้ภาพหนังสื่อให้คนดูเข้าใจได้โดยไม่ต้องเป็นคำพูดผ่านบทสนทนา ในฉากบอกลาที่ไดน่ามอบต้นไม้ให้กับเพื่อน การแสดงอารมณ์ของทอยตอนที่กำลังขับรถจักรยานยนต์จากมา ตัวนักแสดงเองก็สามารถสื่อสารได้ถึงความเหงาปนเศร้าที่ต้องจากเพื่อนออกมาได้ดี

เนื่องจากหนังเป็นแนว slice of life คือไม่ได้มีสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่กลายเป็นจุดพลิกผันใดๆ เกิดขึ้นแบบหนังสูตรโดยทั่วไป เป็นเพียงการเล่าถึงวันหนึ่งวัน ที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวละคร เล่าเนื้อเรื่องราบเรียบ ไม่มีจุดพีค จุดลง หรือบทสรุปแบบเหตุการณ์ในหนังที่คนดูหนังส่วนใหญ่คุ้นชินกัน อาจทำให้ผู้ชมที่เป็นคนทั่วไปรู้สึกไม่คุ้นลิ้นเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ตาม เคยมีหนังไทยที่ทำแนว Slice of Life พ่วงด้วย coming of age มาก่อนเรื่องหนึ่ง ด้วยการเรียงร้อยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของชีวิตตัวละคร อย่างเรื่อง มหา’ลัยเหมืองแร่ (The Tin mine) ของผู้กำกับ จิระ มะลิกุล โดยมหา’ลัยเหมืองแร่ เป็นการร้อยเรียงเรื่องสั้นจากหนังสือรวมเรื่องสั้น ชุดเหมืองแร่ ชื่อ ตะลุยเหมืองแร่ ของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่เขียนเล่าถึงชีวิตช่วงเวลาหนึ่ง (Slice of Life) ของตัวเอง เมื่อสมัยที่คุณอาจินต์ถูกรีไทร์ออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์ ต้องระเห็ดจากเมืองหลวงไปทำเหมืองแร่ที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และใช้เวลาทำงานที่นั่นเป็นเวลาเกือบ 4 ปี

และประสบการณ์จากการทำงานในเหมืองแร่ของคุณอาจินต์ก็ได้ส่งให้อดีตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ หันเหเข้าสู่เส้นทางนักเขียน จนกลายเป็นนักเขียนอาวุโสที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอย่างทุกวันนี้ โดยหลังจากเหมืองถูกปิดตัวลง คุณอาจินต์ก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ครั้งนั้นผ่านตัวหนังสือ ตีพิมพ์ลงนิตยสารชาวกรุง รวมทั้งสิ้น 142 ตอน

จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นหนัง Slice of Life ที่แทบจะไม่มีจุกพลิกผันใดๆ ในเรื่องเหมือนกัน แต่ผู้ที่ได้ดูหนัง มหาลัยเหมืองแร่ จะจดจำได้ดีถึง quote คำพูดหลายประโยคของตัวละคร ที่กินใจผู้ชมเป็นอย่างมาก ทั้งยังถูกจัดให้เป็นวลีอมตะเมื่อไหร่ก็ตามที่หนังเรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิง จึงอยากให้ทีมผู้สร้าง ต้นไม้..จากเพื่อน ดูแนวทางการใช้ถ้อยคำลึกซึ้ง กินใจผู้ชม หากต้องการจะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทสนทนา

ทว่าการเล่าเรื่องโดยไม่มีการใส่เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่ปกติเข้ามา เพื่อสื่อสารในเรื่องที่ต้องการ แต่กลับบรรจุคอนเทนท์ทุกอย่างลงในบทสนทนาอย่างที่กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้น ก็ทำให้ภาพรวมของหนังอาจขาดความหวืดหวาไปซักเล็กน้อย เพราะแทบไม่ได้ใช้สถานการณ์หรือเหตุการณ์ในการดำเนินเรื่องเลย อีกทั้งองค์ประกอบส่วนใหญ่ของหนังก็เป็นการดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย จึงอยากให้ผู้สร้างลองออกนอกกรอบ มีความกล้าในใช้ลูกเล่นทางด้านภาพเล่าเรื่องให้มากกว่านี้ ก็จะเป็นงานที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง