[fuse. Review] – The Dastar (อริสรา สุวรรณสุทธิ, 25.57 นาที)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

[ เรื่องย่อ: อมร พนักงานต้อนรับในโรงแรม หนุ่มไทยเชื้อสายอินเดีย ได้พบกับ อัญญา แม่บ้านสาวลูกครึ่งไทย-ไนจีเรีย ที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ ทั้งคู่เริ่มเปิดใจและเรียนรู้ความเหมือนต่างของกันและกัน ]

“พูดภาษาคนไม่เป็นเหรอ” อัญญา ตวาดใส่แขกของโรงแรม ที่กล่าวหาว่าเธอขโมยนาฬิกา

ประโยคสั้น ๆ เพียงเท่านี้ ได้สะท้อนแรงปรารถนาของเธอ ในขณะเกิดการสนทนา ที่อยากให้อีกฝ่ายมองเธอเป็นคนธรรมดา หรือ “คนไทย” คนหนึ่ง โดยมองข้าม “เปลือกนอก” หรือมองผ่านรูปกายที่แปลกแตกต่างไปจากผู้หญิงคนอื่น ๆ ในสังคมแห่งนี้ เนื่องด้วยเธอนั้นเป็นสาวลูกครึ่งไนจีเรีย ที่มีเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์อันโดดเด่นติดตัวมาด้วย

อัญญา แม่บ้านหญิงสาวมากอัธยาศัย โคจรมาพบกับ อมร หนักงานต้อนรับหนุ่มลูกครึ่งอินเดีย ผู้สงบเงียบและเก็บปากเก็บคำ ในโรงแรมแห่งนี้ จนทั้งสองได้สานสัมพันธ์ระหว่างกันในฐานะที่ต่างก็เป็นลูกครึ่ง ที่แตกต่างไปจาก “คนไทย” ทั่วไปเช่นกัน

คนทั้งสองพบเจอและทักทายกันครั้งแรกในร้านสะดวกซื้อใกล้ที่ทำงาน อมรกับอัญญาเริ่มต้นทำความรู้จักกัน และสนทนากัน ผ่านเรื่องที่เป็นเปลือกนอกหรือร่างกายอย่างผิวเผิน และบทสนทนานั้นก็เป็นเรื่องผิวจริง ๆ เสียด้วย กล่าวคือ ฝ่ายชายกำลังลังเลที่จะเลือกซื้อโลชั่นเพื่อบำรุงผิวของตัวเองที่รู้สึกว่าหยาบแห้ง จนฝ่ายหญิงเข้ามาช่วยแนะนำ

แต่นั่นกำลังบ่งบอกนัยยะว่า ทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักในความเป็นคนครึ่งไทยและครึ่งต่างชาติ ที่แสดงออกผ่านเปลือกนอกหรือร่างกายของกันและกัน

เมื่อเธอเข้ามาทำงานแล้ว เพื่อนร่วมงานยังคงติดใจในรูปลักษณ์ของอัญญา ไม่ว่าเส้นผม สีผิว หรือรูปร่างหน้าตา พวกเขาพูดถึงเรื่องพวกนี้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

“ผมดัดหรือตามธรรมชาติน่ะ” “เสื้อสีนี้เข้ากับผิวของหนูเลยนะ” หรือ “หน้าน้องเขาเหมือนกับนางแบบเลย” สะท้อนถึงปัญหาของคนลูกครึ่งที่ต่างต้องเผชิญในสังคมของ “คนปกติ” ที่รูปร่างหน้าตาเรียกร้องความสนใจแรก หรือ first impression แก่ผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่ลูกครึ่งด้วยกันเอง เช่นอัญญาเริ่มต้นทักทายอมรในร้านสะดวกซื้อด้วยภาษาอังกฤษ เพราะไม่รู้ว่าเขาเป็นคนไทย

แต่สำหรับอัญญา เพื่อนร่วมงานที่สนิทด้วยที่สุดคืออมร ทั้งที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเขาเป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูดจา แต่เธอก็เป็นฝ่ายเข้าไปหาเขา เข้าไปในห้องพักอันเป็นสถานที่ส่วนตัว ชักชวนเขาพูดคุยเรื่องเสียงเพลง ไต่ถามแม้กระทั่งเรื่องศาสนา รวมทั้งพื้นเพของเขาในเมืองไทย อันถือเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างยิ่ง

จนในที่สุดทั้งคู่ก็ได้โอกาสเปิดใจระหว่างกัน ในฐานะของลูกครึ่งเหมือนกัน เมื่อแขกของโรงแรมสงสัยว่าอัญญาจะขโมยนาฬิกา เป็นเหตุให้เธอต้องต่อปากต่อคำกับแขกอย่างดุเดือด จนอมรต้องเข้าไปช่วยเคลียร์

เมื่อผู้จัดการโรมแรมเรียกอัญญาเรียกทั้งอมรและอัญญาเขาไปพูดคุยในเรื่องนี้ จนเป็นที่มาของการสนทนาเปิดใจระหว่างคนทั้งสอง ด้วยบทสนทนาที่ลึกไปกว่าเปลือกนอก แต่เป็นตราบาปของชีวิตในฐานะที่ไม่ใช่คนปกติธรรมดา

อัญญาเอ่ยปากขอโทษอมร ที่ทำให้เขาต้องโดนหางเลขไปด้วย ตัวเธอนั้นรู้สึกแย่มากที่ถูกคนอื่นเข้าใจผิด แต่ก็เป็นเรื่องที่ตัวเธอโดนมาตั้งแต่เด็ก จนชาชินไปแล้ว แม้แต่ตอนคุยกับผู้จัดการ เขาก็ไม่ฟังเลย “คงเพราะตัวหนูเป็นแบบนี้ด้วย” อัญญาตัดพ้อ

อมรก็เผยเช่นกันว่า ตอนเด็กตัวเองก็เคยคิดว่าถ้าได้ไปใช้ชีวิตที่อินเดียจะดีกว่าที่นี่ คงไม่มีคนเข้าใจผิด แต่พอไปอยู่จริงแล้ว กลับชอบเมืองไทย เพราะเป็นบ้านมากกว่า แม้กระทั่งวันนี้ก็รู้สึกทั้งดีกับไม่ดีปน ๆ กันไปจนเป็นเหมือนเรื่องปกติ

สุดท้ายแล้วทั้งคู่ต่างปรับความคิดของตนเอง พร้อมยอมรับและเผชิญหน้ากับความจริงในเรื่องนี้ต่อไป

อัญญาซื้อโลชั่นแก้ผิวแห้งมาเป็นของขวัญให้อมรระหว่างงานเลี้ยงปีใหม่ เหมือนกับเป็นการย้อนบทสนทนากลับไปยังจุดเริ่มต้นที่คนทั้งคู่ได้ทำความรู้จัก แสดงให้เห็นถึงการยอมรับรูปลักษณ์เปลือกนอกของแต่ละคน ว่าพวกเขาก็เองเป็นคนเช่นนี้

เรื่องราวทั้งหมดจบลงที่ภาพถ่าย ซึ่งเป็นการบันทึกถึงความแตกต่างของผู้คน รวมทั้งอมรและอัญญา ในโลกเล็ก ๆ ของโรงแรมแห่งนี้