*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ
[ เรื่องย่อ: บ็อบ นมกระป๋องใกล้หมดอายุบนชั้นวางในร้านขายของชำที่อยากมีประโยชน์ก่อนจะถึงวันสิ้นอายุ ]
Shelf Life เล่าถึงเรื่องของมะเขือเทศกระป๋อง ไบอั้น กับนมกระป๋อง บ็อบ ทั้งสองได้ทำความรู้จักกันหลังเหลือเป็นสองกระป๋องสุดท้ายของชั้นวางในร้านค้าที่ชื่อว่า New Day Super พวกเขามีความคาดหวังว่าจะทำประโยชน์ให้กับมนุษย์ ขณะเดียวกันก็มีความกังวลต่อวันหมดอายุที่กำลังจะมาถึง กระป๋องทั้งสองได้แต่รอคอยให้มีคนมาซื้อ แต่แล้วก็มีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้น
ความจริงแล้วหนังที่เล่าถึงตัวละคร ที่เป็นอาหาร หรือข้าวของเครื่องใช้ ขึ้นมามีชีวิตจิตใจ มีอยู่เพียงไม่กี่เรื่อง และส่วนใหญ่ก็ถูกสร้างในรูปแบบของอนิเมชั่น เรื่องที่โด่งดังที่สุดน่าจะเป็น Beauty and the Beast หนังอนิเมชั่นปี 1991 เจ้าของรางวัลออสการ์ 2 ตัว ในสาขาบทเพลงและดนตรีประกอบยอดเยี่ยม จากค่ายดีสนีย์ ในหนังมีทั้งนาฬิกาตั้งโต๊ะ เชิงเทียน กาชา ถ้วยชา ตู้เสื้อผ้า แปรงปัดฝุ่น ไปจนถึงเปียโน ขึ้นมามีชีวิตเป็นตัวละครในเรื่อง
ส่วนตัวละครอาหารในอนิเมชั่น สามารถย้อนไปได้ถึงโฆษณาเก่าแก่ ที่โฆษณาซุ้มล็อบบี้ขายขนมขบเคี้ยวของโรงภาพยนต์เครือ Vista Theater ชื่อเรื่องว่า Let’s All Go to the Lobby โดยโฆษณาตัวนี้ก็เป็นอนิเมชั่นสี ขนาดสั้น ความยาวเพียง 1 นาที ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 1957 โดย Let’s All Go to the Lobby ถูกจัดให้เป็นโฆษณาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของคนอเมริกัน และเนื้อเรื่องเป็นเพียง ป็อปคอร์น โค้ก กับเหล่าขนมขบเคี้ยว เดินพาราเรดในโรงหนังพร้อมกับเพลง jingle โฆษณา
โฆษณาชิ้นนี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Technicolor Refreshment Trailer No. 1. และเมื่อปี 2000 Let’s All Go to the Lobby ก็ถูกรับเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นภาพยนต์อนุรักษ์ไว้ที่ หอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติ (National Film Registry) ในสังกัดของหอสมุดรัฐสภา (Library of Congress)
อาหารปรากฏเป็นตัวละครอีกครั้งในฉากๆ หนึ่งของหนัง live action ปี 1985 เรื่อง Better Off Dead ในฉากที่พระเอกของเรื่องกำลังฝันกลางวันขณะทำงานพิเศษอยู่ในร้านฟาสฟู๊ดแห่งหนึ่ง โดยเขาได้ทำให้แฮมเบอร์เกอร์ชิ้นเขื่องมีชีวิตขึ้นมา เจ้าแฮมเบอร์เกอร์เล่นกีตาร์เพลงของ Van Halen และมีทั้งแฮมเบอร์เกอร์สาว กับเฟรนซ์ฟรายเข้ามาแจม โดยตัวแฮมเบอร์เกอร์ ได้ร่วมเฟรมเดียวกับตัวละครที่เป็นคนจริงๆ โดยใช้เทคนิคถ่ายทำแบบ Stop Motion
อีกเรื่องเป็นหนัง CG-animation เรท R ปี 2016 เรื่อง Sausage Party ตัวละครหลักของเรื่องเป็นไส้กรอกในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ที่ตั้งคำถามว่ามีอะไรอยู่ข้างนอกซูเปอร์มาร์เก็ต และจะเกิดอะไรขึ้นหลังพวกเขาถูกซื้อไป ขณะที่บรรดาอาหารอื่นๆ ที่ล้วนมีชีวิตอยู่ ณ ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ ต่างเฝ้ารอให้ถูกมนุษย์มาซื้อไป โดยเชื่อหมดใจว่านั่นคือหนทางสู่สวงสวรรค์ เป็นจุดสูงสุดของการมีชีวิตอยู่ของพวกเขา
Sausage Party ยังหยิบเอาประเด็นเรื่องวันหมดอายุของเหล่าอาหารในซูเปอร์มาเก็ตมาเล่น แต่ไปไกลและลึกกว่าประเด็นหมดอายุของอาหารกระป๋องสองเกลอใน Shelf Life มาก เนื่องจากในซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากอาหารแล้ว ยังมีเครื่องดื่มบางชนิดที่อยู่ ‘เป็นอมตะ’ ไม่มีวันหมดอายุ แล้วยังมีบรรดาอาหารที่หมดอายุแล้ว แต่หลบหนีการกำจัด ออกจากชั้นวางไปแอบอยู่ในเขตลึกลับ จนเกิดเป็นสังคมลับๆ ของเหล่าอาหารเดนตายที่แอบซ่อนอยู่ภายในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้
อีกเรื่องเป็นซีรีส์ที่สร้างมาจากตัวละคร ‘ไข่ขี้เกียจ’ อันโด่งดังของแบรนด์ Sanrio เรื่อง Gudetama: An Eggcellent Adventure ตัวซีรีส์ทำเป็นอนิเมชั่นสามมิติเฉพาะตัวลูกเจี๋ยบและตัวเจ้าไข่ขี้เกียจ Gudetama ทั้งสองพากันไปผจญภัยในโลกจริง โดย Gudetama: An Eggcellent Adventure ก็หยิบเอาประเด็นไข่หมดอายุมาเล่น แต่มีวิธีแก้ไขมาให้คือ ดองกับน้ำซีอิ๊ว เจ้า Gudetama จึงต้องใช้ความเค็มคอยเต็มไม่ให้กลายเป็นไข่เน่าอยู่ตลอดเรื่อง
ทีมสร้าง Shelf Life นับว่ามีความกล้าหาญมาก เพราะการใส่ชีวิตจิตใจให้กับตัวละครอาหารหรือสิ่งของเครื่องใช้ และทำให้พวกมันแสดงอารมณ์ความรู้สึก ใส่ชีวิตจิตใจให้กับตัวละครที่ไม่มีชีวิตในโลกแห่งความจริง ภายใต้ตรรกะของความเป็นอาหารกระป๋องได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ทำออกมาได้ดี มีประเด็น แต่ถ้าเปลี่ยนให้กระป๋องทั้งสองได้ผจญภัยบ้างระหว่างรอให้มีคนมาซื้อ อาจใส่เป็นการผจญภัยเล็กๆ แบบเด็กๆ ไม่ต้องผจญภัยแบบเรท R อย่างเรื่อง Sausage Party แต่เป็นผจญภัยแนว Gudetama: An Eggcellent Adventure หรือไม่ก็เพิ่ม background ตัวละครกระป๋องทั้งสองว่ามีที่มาที่ไปยังไง มาจากฟาร์มไหน ตอนเป็นมะเขือเทศสดเป็นยังไง หรือตอนยังเป็นนมสดเป็นยังไง ก็จะทำให้ตัวหนังดูน่าสนใจกว่านี้
สมมุติว่าผู้สร้างต้องการใส่เนื้อหาเรื่องเล่าที่มาที่ไปของตัวละคร หรือต้องการเล่าเรื่องอื่นเพิ่ม ก็ไม่จำเป็นต้องทำเป็นอนิเมชั่นเหมือนกันหมดทั้งเรื่อง แต่สามารถทำเฉพาะส่วนของเรื่องที่เพิ่มเข้ามาให้เป็นภาพวาดสองมิติ เป็นแค่ภาพวาดลายเส้นลงสีแบบง่ายๆ เพิ่มเข้ามา ก็สามารถเสริมให้หนังน่าสนใจได้เช่นกัน
งานด้านภาพของ Shelf Life มีความนูนสูง ไม่ได้ลงรายละเอียดมาก แต่ก็ดูพอเป็นรูปร่างของสิ่งต่างๆ ภาพมุมกว้างหน้าร้าน New Day Super เหมือนเมืองจำลองของเล่น โดยรวมงานด้านภาพเหมือนงานดินปั้น สีสันน่ารัก คล้ายกับการทำอนิเมชั่นโดยใช้เทคนิค stop motion ในการเคลื่อนไหวตัวละคร การเคลื่อนไหวของตัวละครมนุษย์มีความติดขัดอยู่บ้างในช่วงขยับแขน น่าเสียดายที่กระป๋องอื่นๆ กับอาหารต่างๆ ในชั้นวางไม่มีชีวิต ไม่มีบท ไม่งั้นจะน่าดึงดูดกว่านี้ เพลง score สร้างบรรยากาศเบาๆ สบายๆ ให้ความรู้สึกเหมือนดูอนิเมชั่นของค่าย Pixar
บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนกระป๋องใน Shelf Life กับคำถามของเหล่าตัวละครอาหารในหนังเรื่องอื่นๆ ที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากพวกเราหมดอายุ เหมือนเป็นการเปรียบเปรยคำถามของมนุษย์ที่ว่า ตายแล้วไปไหน ขณะที่ความต้องการจะทำประโยชน์ก่อนจะถึงเวลาหมดอายุของกระป๋องทั้งสอง กับความเชื่อเรื่องสวงวสวรรค์ของบรรดาอาหารหลังถูกมนุษย์ซื้อไปใน Sausage Party เหมือนมนุษย์ที่มีศรัทธาความเชื่อตามหลักศาสนาและการสละตนเพื่อผู้อื่น