*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ
[ เรื่องย่อ: อินฟูลเอนเซอร์สาวท่านหนึ่งได้ทำการเก็บบันทึกรูปและวิดีโอลูกตนเองตั้งแต่เกิดจนโตเพื่อเก็บเป็นคอนเท้นลงบนโซเชียล จนเกิดเป็น กระแสตอบรับจากสังคมมากขึ้นเพราะด้วยใบหน้าหลุดของลูก ทำให้เธอต่อยอดความเป็นกระแส โดยนำลูกมาทำเป็นคอนเท้นที่หลากหลายผ่านชีวิตประจำวัน จนเริ่มรบกวนเวลาส่วนตัวของลูกและพิศดารมากขึ้น รางวัลและชื่อเสียงต่างๆเริ่มทยอยเข้ามาทำให้แม่รู้สึกหลงละเริงไปจนกลายเป็นการกระหายคอนเท้นและหลงลืมความรู้สึกของลูกชายไป จนกระทั่งเขาโตพอที่จะมีความคิดเป็นของตัวเองทำให้เขาเลือกที่จะจากแม่ของเขาไปอย่างเงียบๆ ]
ในยุคที่โลกออนไลน์ส่งผลกระทบกับโลกแห่งความเป็นจริงของผู้คน จนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ ทำให้เกิดอาชีพๆ หนึ่งขึ้นมา พวกเขาเข้ามาผสานช่องว่างที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนของโซเซียลมีเดีย อาชีพนั้นเรียกว่า Influencer หรือบุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง content ในโซเซียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ โดยทั้งการกระทำและ content ที่เขานำเสนอล้วนส่งอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมาย หรือที่รู้จักกันในชื่อ followers ทั้งสิ้น
การมีตัวตนบนสื่อโซเซียลของ influencer ก็คือการผลิตหรือนำเสนอ content ที่ตลาดของพวกเขาต้องการจะเสพ ไม่ว่าจะเป็น content ประเภทใด เพราะยิ่งมียอดผู้คนติดตาม content ใดๆ มากเท่าไหร่ ย่อมหมายถึงรายได้มหาศาลและชื่อเสียงให้กับ Influencer มากเท่านั้น เรื่องนี้ทำให้เกิดประเด็นตามมาอีกมาก เช่น แบรนด์สินค้าล้วนว่าจ้าง Influencer โดยดูจากยอด follower มาโปรโมทสินค้าให้กับตน หรือ Influencer สร้าง content ที่ไม่เหมาะสมเพียงเพราะต้องการเรียกยอด engage จาก followers ไม่ว่า engage นั้นจะเป็นด้านลบหรือบวกก็ตาม
หากย้อนไปเมื่อครั้งที่โทรทัศน์ยังเป็นเพียงโลกทั้งใบของบ้านทุกบ้าน ก็มีหนังที่เคยนำเสนอด้านมืดของอิทธิพลอย่างสื่อโทรทัศน์มาแล้วหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ The Network ปี 1976 ที่เล่าถึงผู้ประกาศข่าวคนหนึ่งกำลังจะถูกไล่ออก แต่เขากลับสร้างอิทธิพลต่อผู้ชม จนเรียกเรทติ้งมหาศาลให้กับสถานี แต่อิทธิพลของเขาเลยขอบเขตจนควบคุมไม่ได้อีก
และในยุคที่ Reality TV กลายเป็นรายการยอดนิยม ก็มีหนังเรื่อง The Truman Show (1998) ที่หยิบเอาชีวิตของชายผู้หนึ่งชื่อ ทรูแมน ตั้งแต่วินาทีที่เขาลืมตาดูโลก ให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือน และถ่ายทอดสดชีวิตของเขาผ่านรายการ Reality ตลอด 24 ชั่วโมง กระทั่งเจ้าตัวค้นพบว่าโลกที่เขาอยู่ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง
เมื่อการนำเสนอสื่อเปลี่ยนทิศทาง พร้อมกับการกำเนิดของโซเซียลมีเดีย อำนาจที่มีผลต่อผู้เสพสื่อจึงย้ายจากสื่อโทรทัศน์ไปสู่มือของเหล่า Influencer แทน
ใน Sharenting ที่เล่าถึง Influencer ท่านหนึ่ง ได้กลายมาเป็นคุณแม่ ก่อนจะค้นพบว่าผู้ติดตามของเธอชื่นชอบ content ลูกชายมาก คุณแม่จึงคอยสร้าง content ป้อนตลาดที่หิวกระหายของเธอตลอดช่วงชีวิตของเด็กชาย เพื่อเรียกยอดไลค์และยอด followers
ไม่ต่างจากผู้บริหารสถานีใน The Network ที่ทำหนทางเพื่อให้รายการได้เรทติ้งสูง กระทั่งสังหารผู้ประกาศคนดังกลางรายการสด และเจ้าของรายการ The Truman Show ที่ใช้ประโยชน์จากชีวิตของชายคนหนึ่ง มาเป็น Content ในรายการ Reality ของเขา คุณแม่ใน Sharenting เองก็เช่นกัน เธอใช้ประโยชน์จากลูกชายมาทำ content เพื่อสร้างชื่อเสียงเงินทองให้กับตัวเอง
ชื่อเรื่อง Sharenting มาจาก คำว่า share ที่มาจากปุ่ม share หรือการแบ่งปัน content ออกสู่โซเซียล ผสมกับ Parenting เป็นการนำ parenting หรือบทบาทพ่อแม่เลี้ยงดูลูก มาแชร์ให้โลกรู้ เนื้อเรื่องสะท้อนการไขว่คว้าความโด่งดังแบบสุดโต่งของผู้เป็นแม่ โดยไม่สนใจว่าต้องแลกมากับความเป็นส่วนตัวและชีวิตส่วนบุคคลของลูก และไม่สนใจว่าเบื้องหลังจะมีเหตุการณ์เลวร้าย ความเจ็บปวด เรื่องน่าอาย หรือความไม่ปกติใดๆ เกิดขึ้นกับลูก ตราบเท่าที่ content เหล่านั้นนำมาซึ่งรายได้และชื่อเสียง น่าเศร้าที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ กับเหล่า influencer ในยุคนี้
Sharenting นำเสนอในรูปแบบของอนิเมชั่นสองมิติ ใช้ลายเส้นง่ายๆ แบบลายเส้นดินสอ ลงสีไล่ระดับตามแสงและเงาที่เกิดขึ้นในแต่ละเฟรม เน้นการเล่นแสงเงา การลงสี ที่ไม่ realitic ไม่เน้นความสวยงาม รายละเอียดของภาพที่เป็นฉากหลังเป็นเพียงภาพวาดเป็นง่ายๆ ลงสีกลืนๆ กัน โดยเน้นให้รายละเอียดของภาพอยู่ที่ตัวละครผู้เป็นแม่ ที่ให้สีแตกต่างกับฉากหลังชัดเจน ขณะที่ตัวละครลูกชาย ในหลายฉากก็ถูกกลืนให้มีสีเดียวกับฉากหลัง ถึงอย่างนั้นงานภาพก็จัดว่าเป็นงานที่ลงตัว โดดเด่นมีสไตล์ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
หนังเปิดเรื่องอยู่ในปัจจุบัน ที่ทั้งแม่และลูกอยู่ในงานรับรางวัลของ Influencer ก่อนภาพเหตุการณ์จะตัดจากเวทีรางวัลไปสู่ภาพความทรงจำในอดีตของแม่และลูกชาย ตั้งแต่วัยทารกแบเบาะ
ฉากเด็กชายบนพื้นหลังมืดสนิท แต่กลับปรากฏดวงตาเฝ้าจับจ้องนับร้อยๆ ดวง สะท้อนความ ‘อยากรู้อยากเห็นเรื่องชาวบ้าน’ ของบรรดาผู้ติดตาม โดยมีฝั่ง influencer ผู้เป็นแม่คอยสนองด้วย content ที่เป็นชีวิตส่วนตัวของลูกชาย ขณะที่เด็กชายทำได้เพียงเดินก้มหน้าอย่างฝืนทนท่ามกลางดวงตาที่คอยจ้องมอง โดยฉากนี้เป็นการส่งเมสเสจที่แข็งแรงมากของหนัง ให้เห็นภาพความเป็นส่วนบุคคลของคนๆ นึงที่ถูกทำลาย
ฉากที่เด็กชายกลายร่างเป็นลูกโป่ง พาคุณแม่ล่องลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปในอากาศ คุณแม่ที่เกาะลูกโป่งนั้นก็ได้ปลาบปลื้มใจกับความสำเร็จของอาชีพ influencer นับเป็นการจิกกัดเสียดสีสังคมปัจจุบันได้อย่างแสบสัน และเปรียบเปรยให้เห็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
สังเกตได้ว่าในฉากนี้ ขณะคุณแม่กำลังรื่นรมกับเสียงพลุและดวงดาวอันงดงามกับท้องฟ้าที่เธอกำลังทะยานขึ้นไป สีหน้าของลูกโป่งที่กลายร่างมาจากลูกชายของเธอ กำลังร่ำไห้หม่นหมอง พอตัดมาที่คุณแม่ขึ้นไปรับรางวัล Influencer ลูกชายจึงได้แต่เดินจากไปอย่างเงียบงัน ไร้เสียงตรบมือ ไร้แสงสว่างเจิดจ้าตามเขาเหมือนผู้เป็นแม่
หนังไม่มีบทสนทนาแบบจับต้องได้ เป็นชิ้นเป็นเป็นอัน มีเสียงจากตัวละครออกมาเท่านั้น เช่น ในฉากลูกชายถูกสุนัขไล่กัด ก็มีเพียงเสียงร้องของลูก และเสียงเห่าของสุนัข หรือตอนแม่ออกจากงานรับรางวัล มาตามให้ลูกกลับไป ก็มีแค่เสียงแว่วๆ แต่ไร้คำพูด ถึงอย่างนั้นก็สามารถเข้าใจได้
หนังจบด้วยภาพโทรศัพท์ในมุมมืด และเสียงปิดโทรศัพท์ดังพร้อมกับภาพแสงหน้าจอที่ดับลง เป็นการปิดเรื่องที่ทำให้คนดูเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร ทั้งยังรู้สึกเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของลูกชาย