[fuse. Review] – REPEAT (รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์, 6.25 นาที)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ ภาพยนตร์สั้นประกอบละครเวทีเรื่องสายน้ำที่ถูกบิดเบือน ที่ทิ้งคำถามและความสงสัยเอาไว้ให้กับผู้ชมมากมายก่อนที่จะได้รับคำตอบเหล่านั้นไปพร้อมกันในละครเวที ภาพยนตร์สั้นทำหน้าที่สร้างความสงสัยผ่านเทคนิคและเส้นเรื่องภายในภาพยนตร์ แต่ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ก็มีเรื่องราวของตนเอง ที่กำลังพาผู้ชมไปตั้งคำถามกับความจริงหนึ่งชุดที่มีอยู่ในสังคม กับความจริงชุดที่เรียกว่า “ชีวิตเปรียบดังสายน้ำ”

บทสนทนาของชายสองคนในห้องที่ยากจะระบุฉากหลังและสถานที่ กำลังสนทนากันอย่างดุเดือดผ่านคำพูดและภาพวาดบนกระดาษ A4 องค์ประกอบของฉากทั้งหมดนั้นถูกเซ็ตอยู่ในภาพขาวดำ บทสนทนาถูกดูดเสียงออกไป ทำให้การสื่อสารที่เกิดขึ้นกับผู้ชมมีเพียงการอ่านปากและกระดาษเอสี่เท่านั้นที่สื่อสารด้วยภาพ ในขณะที่การสื่อสารผ่านเสียงถูกตัด ข้อความทุกอย่างถูกยกขึ้นไปอยู่ในแคปชั่นที่ถูกจัดวางไว้ตรงกลางของวิดีโอ ข้อความจึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่แคปชั่นเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์อย่างโจ่งแจ้ง

องค์ประกอบของฉากขาวดำและการดูดเสียงออกทำให้ผู้ชมรู้จักกับตัวแสดงได้เพียงการอ่านปาก ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ซิทคอมชื่อดังระดับโลกอย่างมิสเตอร์บีน ที่สร้างเสียงหัวเราะให้ผู้คนมากมายด้วยท่าทางและการแสดงออกทางหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา ในขณะเดียวกันมิสเตอร์บีนก็ไม่ได้เป็นเพียงตลกที่สร้างแต่เสียงหัวเราะ แต่กลับแฝงประเด็นและปัญหาทางสังคมเอาไว้มากมายภายใต้หน้าตาและฉากหลังสีขาวดำของภาพยนตร์ ในยุคที่การถ่ายภาพฟิล์มกำลังโด่งดัง แต่บทสนทนาของตัวละครทั้งสองในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้กลับนั้นมีความเข้มข้นกว่า เพราะการอ่านปากและเข้าใจบริบทได้ก็เป็นไปได้อย่างยากเย็น ทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่าฉากที่เกิดไม่ได้เป็นเรื่องตลกอย่างมิสเตอร์บีน แต่กลับเต็มไปด้วยบทสนทนาที่ซีเรียสถึงขั้นเรียกได้ว่า เป็นการหยิบยกปรัชญา หรือชุดความจริงหนึ่งในการใช้ชีวิตมาสนทนากัน

ชายในชุดสูทรับบทเป็นเหมือนผู้สั่งสอนมากกว่าคู่สนทนา พูดเรื่องสายน้ำควรจะไหลไปอย่างธรรมชาติ และหากไปวางก้อนหินเพื่อหยุดให้แม่น้ำไหล สิ่งที่เกิดขึ้นคือแม่น้ำก็จะล้นออกมาและเปิดเส้นน้ำทางใหม่ด้วยตัวของมันเอง แต่ก็จะเป็นการกระทำที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ คำอธิบายนั้นถูกเล่าผ่านการวาดภาพและแคปชั่นที่ใส่มาหลังจากที่ฉากจบแต่ละประโยคจบลง ผู้ชมได้เรียนและรู้ปรัชญาแม่น้ำผ่านการอ่านและภาพขาวดำเท่านั้น ภาพยนตร์จึงทำหน้าที่คล้ายคลึงกันกับหนังสือมากกว่าการเป็นภาพยนตร์เอง เพราะผู้ชมใช้เพียงตาเท่านั้นในการสร้างการรับรู้ ประสาทสัมผัสหูนั้นไม่ได้ถูกใช้งาน ภาพยนตร์ทำหน้าที่เป็นทั้งภาพยนตร์ แต่ทำได้ไม่เต็มรูปแบบ ในขณะเดียวกันก็สร้างฟังก์ชันการเป็นหนังสือขึ้นมาทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสตีความบทสนทนาที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น ในแบบที่ผู้ชมต้องการ

ในส่วนของตัวละครอีกหนึ่งคนที่รับหน้าเป็นผู้ตอบคำถามในบทสนทนา ในตอนท้ายของบทสนทนานั้นตัวละครนี้กลับรู้สึกว่าสิ่งที่ชายที่คนพูดเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเขาเองก็มีเหตุผลในทุกการกระทำนั้นของเขา และดูเหมือนว่าเหตุผลนั้นจะมีค่ามากพอสำหรับการเป็นเหตุผลที่หนักแน่น ก้อนหินในบทสนทนานั้นถูกเปลี่ยนเป็นคำว่า “โกง” ที่ปรากฏขึ้นอย่างไร้ที่มาที่ไป ฝั่งหนึ่งมองว่าการโกงนั้นเป็นเหมือนก้อนหินที่ไม่ควรมาวางเพื่อกั้นสายน้ำ แต่อีกฝั่งกลับมองว่าการโกงหรือก้อนหินนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้เมื่อการกระทำนั้นทำเพื่อคนที่รัก บทสนทนาปิดลงด้วยการพูดถึงคุณค่าของเวลาที่ทำให้ชวนสงสัยในรายละเอียดอื่นๆ มากขึ้น ว่าทำไมข้อคติเรื่องสายน้ำและก้อนหิน จึงกลายเป็นอุปลักษณ์ของการโกงและกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม การปะทะกันระหว่างชุดความจริงที่สังคมเชื่อมานานว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด สายน้ำไม่ไหลย้อนหลับ สายน้ำก็เหมือนชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไป กลับถูกตั้งคำถามด้วยการกระทำปัจจุบันที่มีเหตุผลมากมายรองรับให้การกระทำแต่ละอย่างเกิดขึ้น รายละเอียดของเนื้อเรื่องมีแนวโน้มในการตอบคำถามว่าถึงอย่างไร ปรัชญาชีวิตชุดนี้ก็ไม่สามารถตั้งคำถามและถอดรื้อได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น ความจริงหรือปรัชญาชีวิตนั้นก็เป็นหนึ่งในเรื่องสมมติที่สร้างขึ้นมาในสังคม มาตรฐานความถูกต้องนั้นถูกกำหนดโดยคนในสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย

ปรัชญาสายน้ำแห่งชีวิตนั้น อาจมีอยู่ในอดีต ในประวัติศาสตร์ ในวัฒนธรรมมานานแสนนาน แต่การตีความและการนำมาปรับใช้ในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นแล้ว อุปลักษณ์เรื่องสายน้ำและการโกงเพื่อให้ประโยชน์กับคนที่รักนั้น ก็เป็นการนำมายาคติหนึ่งชุดมาใช้ตีความใหม่ ซึ่งคำตอบอาจไม่ใช่ถูกหรือผิด แต่การตัดสินก็เกิดขึ้นเสมอในสังคม ซึ่งคำตอบนั้นก็สามารถเห็นได้ในภาพยนตร์ว่าชายที่ชื่อพีท กำลังทำสิ่งที่ผิดและขัดกับมายาคติชุดใหญ่ในสังคม และการโกงที่ว่านั้นไม่เป็นผลดีกับใครเพราะเขาไม่เห็นค่าของเวลา หลายเหตุปัจจัยที่ยังคงเป็นคำถาม และคำตอบนั้นคงจะถูกไขได้ในละครเวทีที่ถูกทำให้มาประกอบกัน