*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ
ในสมัยที่โลกยุคปัจจุบันสามารถบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในรูปแบบดิจิตอล ‘ความทรงจำ’ของหลายๆ คนจึงถูกถ่ายทอดออกมาทางภาพถ่าย ไฟล์วีดีโอ ที่สามารถคงอยู่กับเจ้าของได้ยาวนานกว่ายุคไหนๆ
เทคโนโลยีทำให้สิ่งที่คงอยู่ได้อย่างถาวรอย่างไฟล์ดิจิตอล กับสิ่งที่แปรผันได้ตามกาลเวลาอย่างชีวิตมนุษย์ สามารถบรรจบกันได้ และถูกถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานเรื่องแล้วเรื่องเล่า
บันทึกความทรงจำที่ทำโดยคนใกล้ตัว อาจทำให้ตัว subject ของเรื่องไม่มีอาการเกร็ง และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติภายใต้สภาวะแวดล้อมอันคุ้นเคย ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำสารคดี
Rattana เป็นหนังสารคดีที่เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลานสาวกับตัว Subject ของสารคดีเรื่องนี้ ซึ่งเป็นคุณยายวัย 80 ปีของเธอ โดยใช้ฉากเปิดเรื่องเป็นภาพถ่ายสีซีดสมัยคุณยายยังสาว พร้อมคำบอกเล่าถึงความเก่งกาจของคุณยายรัตนาในสมัยนั้นที่ต้องเป็นเสาหลักเลี้ยงดูสมาชิกทุกคนในครอบครัวจากคำบอกเล่าของหลานสาวเอง ที่ส่งมาเป็น offscreen เป็นการเซ็ตให้เห็น vibe ของตัวสารคดีที่ชัดเจนและแข็งแรง
คำถามที่ ‘เอิง’ ยกขึ้นมาถามคุณยายของเธอเน้นให้คนดูได้เห็นถึงความผูกพันในแบบเฉพาะตัวระหว่างคนทั้งสองเจนเนอร์เรชั่นให้เด่นชัดขึ้น แม้ตัว Subject จะแสดงความเขินกล้องออกมาให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็เป็นธรรมชาติของตัว Subject เองที่จะรู้สึกเช่นนั้นเมื่อถูกหลานสาวถามคำถามที่มีความเป็นส่วนตัวสูง
การถ่ายทำโดยภาพรวม แม้จะไม่ได้ใช้เทคนิคเล่าเรื่องที่แปลกใหม่มากนัก แต่ก็มีลูกเล่นเป็นการสลับไปสัมภาษณ์บุคคลใกล้ชิดอีกสองคน และการใช้ภาพถ่ายเก่าๆ ของคุณยายที่ร่วมเฟรมกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัว มาประกอบการเดินเรื่อง โดยใช้ภาพถ่ายเก่าๆ เหล่านั้นบอกเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ความทรงจำในอดีต ทำให้ตัวเนื้อเรื่องโดยรวมมีมิติมิติที่น่าสนใจและน่าติดตาม เช่นเดียวกับการตัดต่อลำดับภาพ
การตั้งกล้องถ่ายทอด Subject ของเรื่องในสภาพแวดล้อมที่เป็นชีิวิตประจำวัน พร้อมปล่อยเสียงสัมภาษณ์เป็น offscreen ทำให้มองเห็นการใช้ชีวิตจริงๆ ของหญิงชราในวัยบั้นปลาย ที่กำลังถูกบันทึกให้อยู่ในความทรงจำรูปแบบดิจิตอล
มุมกล้อง และการซูมเข้าให้เห็นสีหน้าของผู้ถูกสัมภาษณ์ในเรื่องทำออกมาได้ดี ยิ่งในฉากที่มีคำบอกเล่าเรื่องราวที่ขัดแย้งกันของตัว Subject กับบุคคลใกล้ชิด ก็ทำให้คนดูเข้าใจได้ทันทีว่าคุณยายกำลังปิดบังความเจ็บป่วยต่างๆ ของตัวเองจากหลานสาว ผู้ที่กำลังสัมภาษณ์ ซึ่งย้อนแย้งกับคำพูดของลุงเก้ ผู้เป็นลูกชาย และลุงของเอิง เมื่อเขาเล่าถึงอาการป่วยของคุณยายตอนอยู่ในโรงพยาบาล
ความลึกซึ้งทางอารมณ์ที่มีชั้นแบ่งแยกชัดเจนในระดับความใกล้ชิดที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล การแสดงออกของคุณยายจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อต่อหน้าลูกๆ เทียบการแสดงออกเมื่ออยู่ต่อหน้าหลานสาว ก็ทำให้เห็นถึงรูปแบบของความสัมพันธ์เชิงซ้อนของมนุษย์ ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน ผ่านตัว Subject เอง และเป็นประเด็นที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นได้อย่างแยบยล
ในฉากคำถามที่เลือกใช้เพื่อขยี้ถามถึงเหตุการณ์ในอนาคต ทำนอง จะเป็นยังไงถ้า… จะเห็นได้ว่าทั้งสีหน้าและแววตาของลูกสาวคุณยายเปลี่ยนไปทันที แม้จะเป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ยังไม่ได้เกิดการสูญเสียขึ้นจริงๆ ก็สามารถสร้างความสะเทือนใจร่วมได้
การที่คนสองเจเนอร์เรชั่นพูดคุยกัน และพลัดกันบอกเล่าเรื่องราว ยังทำให้คนดูได้เห็นมุมมองที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงระหว่างยายหลาน โดยในขณะที่ฝั่งคุณยายมองดูหลานสาวที่ตนเลี้ยงมาตั้งแต่เกิด ได้เติบโตและเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ กำลังปักหลักมีชีวิตเป็นของตัวเอง ฝั่งหลายสาวเองก็มองเห็นคุณยายที่เคยแข็งแรงหาเลี้ยงทั้งครอบครัว ก้าวเข้าสู่วัยชรา ที่โรคภัยรุมเร้า และไม่สามารถดูแลตัวเองได้
ถึงอย่างนั้น จากคำพูดที่คุณยายสื่อออกมากับคำถามเกี่ยวกับอนาคตของหลานสาว ก็ทำให้รู้ว่า ไม่ว่าหลานสาวจะอายุเท่าไหร่ แต่ในสายตาคุณยาย เอิงก็ยังเป็นเด็กเช่นเดิม
เมื่อปี 2019 มีหนังฟอร์มเล็กเรื่องหนึ่งที่เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่าง อาม่า ที่ถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็ง กับหลานสาววัยสร้างตัว ของผู้กำกับจีน-อเมริกัน Lulu Wang เรื่อง The Farewell (กอดสุดท้าย คุณยายที่รัก) ที่ได้เสียงตอบรับจากทั้งคนดูและนักวิจารณ์ในด้านบวก และได้เข้าชิงรางวัล BAFTA สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ
ด้วยอาการป่วยของอาม่า ทำให้หลานสาวผู้เติบโตและทำงานในอเมริกาทั้งชีวิต ต้องเดินทางมาพบกับอาม่าของเธอในประเทศจีน แผ่นดินที่เธอไม่คุ้นเคย การเล่าเรื่องของ The Farewell ไม่ได้บีบเค้นหรือยัดเยียดอารมร์หม่นเศร้าของการสูญเสีย เแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นตัวละคร ตัวหนังแสดงเห็นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ที่ทำการรวมญาติเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อทำให้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีิวิตอาม่ามีความสุขก่อนลาโลก ดังนั้นโทนของหนังจึงทำออกมาในแนว Comedy ครอบครัว ในบรรยายกาศว้าวุ่นของบรรดาญาติโยมสายต่างๆ ได้เห็นความพยายามของแต่ละตัวละคร ที่ช่วยกันเก็บงำอาการป่วยของอาม่าไว้เป็นความลับ ไปพร้อมๆ กับเก็บอาการโศกเศร้าของตัวเองไว้ภายใน ก่อนหนังจะจบลงเงียบๆ ด้วยฉากที่หลานสาวจากลาอาม่ามาพร้อมคุณแม่
Rattana อาจไม่สามารถเทียบชั้นได้กับ the Farewell แต่ในแง่ของนักทำหนังที่ประสบการณ์ยังน้อย ถือว่าทำออกมาได้ดี มีมิติที่ลึกซึ้ง มีชั้นเชิงการเล่าเรื่องน่าสนใจ
หนังเลือกจบด้วยฉากถ่ายรูปคู่ระหว่างยายหลาน ที่อวลด้วยบรรยายกาศน่ารักผ่อนคลาย แม้ตัวหนังจะมีจุดประสงค์ที่ถูกสร้างเพื่อเป็นบันทึกความทรงจำ แต่เชื่อว่าใครที่ได้ดูคงได้แต่หวังว่าฉากนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่สองยายหลานจะได้ถ่ายรูปด้วยกัน
ในโมงยามสุดท้ายของชีวิต การเผชิญหน้ากับความตาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมิอาจหลีกเลี่ยง ไปจนถึงการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ก็ล้วนเป็นความรู้สึกที่มนุษย์ทุกคนสามารถเชื่อมโยงและรู้สึกได้ การหยิบประเด็นนี้มาใช้ในงานสารคดี จึงสามารถกระตุ้นให้ผู้ชมสะเทือนอารมณ์ได้ไม่ยาก