[fuse. Review] – KRAI-THONG 2020 (กรภัทร์ จีระดิษฐ์, 21.17 นาที)

(BEST ART DIRECTION AWARD, BEST SCREENPLAY AWARD ระดับประถมถึงมัธยมหรือเทียบเท่า fuse. Film Festival 2022)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

“หากเรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรายังจะเปลี่ยนแปลงมันอยู่หรือไม่?” คำถามใหญ่ในช่วงแรกของภาพยนตร์ที่ถูกโยนมายังผู้ชมให้ได้ตกผลึกนึกขมวดคิ้วตามผ่านเรื่องราวของ ‘แมลงเม่าตัวน้อยที่ถลำหาความสุขในแสงไฟจนทำให้ปีกของมันต้องมอดไหม้’

เรื่องราวตำนานรักสุดตื่นเต้นของ ‘ไกรทอง’ หมอจระเข้หนุ่ม ที่ได้รับหน้าที่ให้ตามไปช่วยเหลือ ‘ตะเภาทอง’ ลูกสาวของผู้ใหญ่บ้านที่ถูกปีศาจจระเข้ยักษ์อย่าง ‘ชาละวัน’ ลักพาตัวไปอยู่ในถ้ำบาดาล หากแต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อแท้จริงแล้วความรักที่แท้จริงในนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้หาใช่เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาดังที่เรารู้จักกัน เมื่อ KRAI-THONG 2020 ถูกตีความใหม่ในฐานะรักสามเส้าเคล้าน้ำตาเมื่อวิญญาณของพญาจระเข้ที่เคยพ่ายแพ้แต่ยังไม่ไปไหนและกลับมาทวงคืนคนรักที่กลับชาติมาเกิดใหม่ไปอยู่ด้วยกันอีกครั้ง

ภาพยนตร์ค่อยๆ เผยเรื่องราวให้เราเข้าใจถึงความรักต้องห้ามระหว่างชาละวันและสาวน้อยตะเภาทองที่แม้แต่ตัวพญาจระเข้เองก็เข้าใจดีถึงโชคชะตาของตนเองที่จะต้องถูกไกรทองมาตามล่าและต้องพ่ายแพ้เรื่อยไป ผู้กำกับได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านการร้อยเรียงและการวางลำดับภาพที่น่าสนใจอย่างการตัดสลับภาพของตัวละครระหว่างชาตินี้และชาติก่อนหน้าที่มีชะตาลิขิตต้องวนเวียนกลับมาพบกันอีกครั้ง อีกทั้งยังมีการกำกับภาพที่คำนึงถึงองค์ประกอบในเฟรมได้อย่างพอเหมาะพอดีและสวยงาม ถึงแม้ว่าสีสันและแสงเงาภายในภาพยนตร์จะดูมืดหม่นเกินความจำเป็นไปบ้าง แต่ความหม่นหมองนี้ก็ชักนำให้ผู้ชมอย่างเราได้เข้าไปอยู่ในโลกสุดระทมปนขมในรสชาติความรักของตัวละครได้อย่างดีทีเดียว

อีกสิ่งที่ควรพูดถึงคงจะเป็นในส่วนของโครงสร้างบทภาพยนตร์ภายในเรื่องที่ทำให้สับสนเล็กน้อยจนเกือบจะเป็นโครงเรื่องแบบ non-linear ซึ่งโดยส่วนตัวคาดว่าสิ่งสำคัญในการสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นนั้นจำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างเรื่องที่แข็งแรง กระชับ และชัดเจน โดยเฉพาะจุด Climax ภายในเรื่องที่ยังไม่ค่อยชัดเจนเด่นชัดเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามจากคำแนะนำข้างต้นเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น เนื่องจากเราจะสามารถเห็นได้ว่าทั้งการวางโครงเรื่อง, ตัวบท, จังหวะ และการตัดต่อมีความชัดเจนในไดเรกชั่นของผู้กำกับมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมในความสามารถและสมควรค่าแก่การรักษาไว้อย่างยิ่ง

ในส่วนของนักแสดงวัยเยาว์ภายในเรื่องก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างมีเสน่ห์เฉพาะตัว หากแต่เพื่อการพัฒนาต่อไปที่ควรคำนึงถึงก็คงจะเป็นการพูดด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบและการออกเสียงที่ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก ซึ่งอาจส่งผลให้การสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครไปสู่ผู้ชมได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร อาจเพราะบทพูดที่ดูมีความย้อนยุคและไพเราะประนึงวรรณคดีซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่จะทำให้นักแสดง แสดงศักยภาพออกมาได้อย่างไม่เต็มที่ก็เป็นได้ แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้วก็ยังเห็นเคมีที่น่าสนใจของนักแสดงและศักยภาพที่ดีหากถูกขัดเกลาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปสามารถพัฒนาได้อีกแน่นอน ในขณะเดียวกันความโดดเด่นภายในภาพยนตร์ที่อดที่จะออกปากชมไม่ได้เลยก็คงจะเป็นดนตรีประกอบภายในเรื่องและการเลือกใช้ score เพลงที่ยอดเยี่ยม อย่างเพลง ดินแดน ของ safe planet และ just one thing ของ solitude is bliss ที่ถูกหยิบมาใช้ได้อย่างพอเหมาะพอดี มีความร่วมสมัย ส่งผลในภาพยนตร์มีมิติและบรรยากาศที่เร้าอารมณ์จนยากที่จะละสายตาไปจากหน้าจอ

ท้ายที่สุดแล้ว KRAI-THONG 2020 กับเรื่องราวความรัก ความสิ้นหวัง และการต่อสู้ ภายใต้ชุดนักเรียนในบรรยากาศสุดหม่นหมองก็ทำให้หวนคิดถึงมิติใหม่ของนิทานพื้นบ้านว่า ในท้ายที่สุดแล้วสาวน้อยตะเภาทองก็จะต้องถูกมาตรฐานของสังคมกดทับให้ใช้ชีวิตในแบบที่ถูกขีดเส้นไว้พร้อมกับเดินไปในทางที่ถูกต้อง และปีศาจร้ายผู้กุมหัวใจอย่างพญาชาละวันก็จะกลับกลายเป็นความผิดพลาดที่สังคมไม่ยอมรับและลบทิ้งให้เลือนหายในฐานะสิ่งที่ไม่เป็นไปใน ‘มาตรฐานของสังคม’ อีกต่อไป เฉกเช่นเดียวกับแมลงเม่าตัวน้อยที่ถูกเปลวไฟแผดเผาจนกลายเป็นธุลีตามเรื่องเล่าในตอนต้นของภาพยนตร์ แต่สิ่งหนึ่งที่จะยังคงสลักอยู่ในหัวใจกับคำถามที่ว่า “หากเรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรายังจะเปลี่ยนแปลงมันอยู่หรือไม่?” คำตอบในตอนนี้ก็คงจะเป็นการเลือกที่จะเดินหน้าต่อสู้เพื่อมุ่งหวังถึงผลลัพธ์ที่ดีกว่า ดังแมลงเม่าตัวน้อยที่วันหนึ่งจะโผบินฝ่ากองเพลิงไปยังแสงสว่างที่แท้จริงจากดวงตะวันก็เป็นได้