[fuse. Review] – 600 Miles (เจษฎา ขิมสุข)

BEST DOCUMENTARY FILM AWARD ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า fuse. KIDS Film Festival 2023

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

หนังสารคดีเล่าเรื่องของการเติบโตของกีฬา surf ในชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง โดยมีสถานที่คือ หาดแม่รำพึง เป็นฉากหลังสำคัญของเรื่อง ในสมัยหนึ่ง หาดแม่รำพึงมีภาพจำที่ไม่ค่อยดีนักในสายตาคนทั่วไป เนื่องจากบางช่วงของหาดมีลักษณะทางภูมิประเทศเป็น ‘แอ่งกระทะ’ บวกกับกระแสน้ำวน ทำให้เกิดอุบัติเหตุนักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิตที่หาดแห่งนี้ เรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นข่าวดังระดับประเทศอยู่บ่อยครั้ง จนครั้งหนึ่ง หาดแม่รำพึงถึงกับถูกขนามนามว่า หาดมรณะ, หาดกินคน, หรือกระทั่งหาดผีมาแล้ว ทว่าการเข้ามาของกีฬา surf และการพยายามสร้างชุมชนให้กับนักเล่น surf มารวมตัวกันที่หาดแห่งนี้ ก็ได้ช่วยทำให้ชื่อเสียงกับภาพจำของหาดแม่รำพึงค่อยๆ เปลี่ยนไป

ตัวสารคดีเปิดเรื่องด้วยข้อความบอกเล่าเกี่ยวกับหาดแม่รำพึง พร้อมเสียง ambience คลื่นลมทะเล โดยการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่ในเรื่อง กับเสียง ambience คลื่นลมทะเล เป็นตัวกระตุ้นที่ดีดึงให้ผู้ชมได้ซึมซับกับบรรยากาศของหนัง แต่ตัวหนังสืออาจจะเล็ก และข้อความเยอะไปหน่อยสำหรับการอ่านในหนัง อย่างไรก็ตาม การอ่านข้อความอาจจะฝืนธรรมชาติความเป็นภาพยนตร์ เพราะหนังควรจะเป็นสื่อสารด้วยการใช้ภาพมากกว่าข้อความ การขึ้นข้อความจำนวนมาก จึงฝืนธรรมชาติของสื่อชนิดนี้อยู่บ้าง ขณะเดียวกันข้อความที่ขึ้นมาก็สามารถตัดทอนให้กระชับได้ใจความได้มากกว่านี้

ชื่อเรื่อง 600 miles คือระยะทางระหว่างระยองไปภูเก็ต ซึ่งตามคำบอกเล่าของ ติ๋ว วรินทร subject หลักของเรื่อง ได้เล่าว่า การเดินทางไปสัมผัสกีฬาเซิร์ฟที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งหนึ่งของตน เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขากลับมาสร้างชุมชนนักเล่นเซิร์ฟที่บ้านเกิดระยองของตัวเอง ทว่าในตัวหนังกลับไม่ได้อธิบาย หรือเล่าเรื่องที่มาที่ไปของชื่อเรื่อง 600 miles ให้คนดูแต่อย่างใด ซึ่งน่าเสียดาย เพราะนอกจากคำบอกเล่าคร่าวๆ ของติ๋วแล้ว 600 miles ไม่ได้เชื่อมโยงเนื้อหาใดๆ ที่เกิดขึ้นในสารคดีเรื่องนี้กับความหมายของระยะทาง 600 ไมล์ ที่เป็นชื่อเรื่องเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม ตัวหนังกลับเล่าถึงเรื่องของหลายๆ คนที่สร้างรายได้จากชุมชน surf แห่งนี้ และทำให้ชีวิตดีขึ้น เช่น ชายคนหนึ่งที่ชอบเล่นเกมส์ และชอบขี่รถเล่น ก็หันมาเล่น surf แทน ทำให้ได้ออกกำลังกาย ทั้งยังสร้างรายได้ด้วยการสอน surf ให้กับผู้ที่สนใจ

นอกจากโรงเรียนสอนเล่นเซิร์ฟ ที่สร้างรายได้ให้กับครูผู้สอนแล้ว ชุมชนแห่งนี้ยังให้กำเนิดสินค้าที่ใช้ในกีฬาเซิร์ฟ อย่าง แว็กซ์เล่นเซิร์ฟ ซึ่งปกติต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แต่ในช่วงโควิด ราคาของแว็กซ์นำเข้าถีบตัวขึ้นสูงและหาซื้อยาก ทำให้ทำแว็กซ์ขึ้นใช้เอง จนเกิดเป็นแบรนด์ The Set Wax ที่สร้างรายได้ผู้ผลิตให้เลี้ยงตัวเองได้

ไม่เพียงแค่หนุ่มๆ นักเล่นเซิร์ฟจะออกไปล่องคลื่นเท่านั้น แต่ในชุมชน surf ที่ใช้ชื่อว่า แหลมหญ้าระยองเซิร์ฟคลับ (Laem Yah Rayong Surf Club) แห่งนี้ ยังมีผู้หญิงและเด็กๆ อีกหลายคนที่เข้าร่วมด้วย มีประเด็นน่าสนใจเมื่อ subject คนหนึ่งกได้เล่าว่า surf เป็นกีฬาที่ไม่แบ่งแยกเพศและอายุ ทุกคนสามารถเข้าถึงและลองเล่นได้หมด แม้ว่ากำลังของผู้หญิง โดยเฉพาะกำลังแขนจะสู้แรงผู้ชายไม่ได้ แต่เมื่อเธอมาเล่นบ่อยๆ ก็ทำให้สามารถยืนบนคลื่นได้ ทั้งยังมีแรงแขนเพิ่มขึ้นมาด้วย

ในด้านเทคนิคการถ่ายทำ 600 miles มีมุมกล้องและช็อตภาพหลายๆ ช็อตที่สวยงาม และน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้องที่ให้เห็นวิว object หรือผู้คน ในบริเวณหาดแม่รำพึง เช่น ภาพ surf board ปักอยู่บนหาดทราย, จังหวะแช่กล้องกับวิวและ object อื่นๆ ที่มาพร้อมเสียงสัมภาษณ์ตัว Subject แบบว๊อยซ์โอเวอร์ ก็ทำได้ดี เป็นเทคนิคที่ช่วยเสริมอารมณ์การเล่าเรื่องให้น่าสนใจและมีสีสันชวนติดตาม ทว่าในขณะเดียวกัน ก็ทำให้รู้สึกเหมือนดูการวางสตอร์รี่บอร์ด เป็นช็อตภาพของการทำหนังปกติ ที่กำหนดวางภาพทุกอย่างเอาไว้แล้ว ไม่ได้ปล่อยไหล หรือติดตามความเป็นไปด้วยสายตาคนนอก ที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมชาติแบบที่หนังสารคดีควรจะเป็น

ช็อตภาพที่ถ่ายตามหลังคนหิ้ว surf broad ลงทะล ถูกใช้ซ้ำหลายหลังครั้ง แต่ก็เห็นความพยายามหามุมอื่นถ่าย subject คนนั้นๆ เพื่อความหลากหลาย ช่วยกลบความซ้ำของมุมกล้องได้บ้าง ฟิลเตอร์ของหนังมีความฟุ้งๆ สว่างสดใส แบบแสงแดดช่วงเช้า ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกเหมือนบรรยากาศของชายทะเลต่างประเทศมากกว่าชายหาดของประเทศไทยไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจของคนทำหรือไม่ก็ตาม สกอร์หนังมีเมโลกดี้น่าสนใจ เป็นเสียงดนตรีเรียบง่ายโปร่งเบา ให้ความรู้สึกสบายๆ แต่สดใส มีความหวัง

ตัว หาดแม่รำพึง ถูกถ่ายออกมาด้วยฟีลเตอร์แบบชวนฝัน ห่างไกลชื่อเสียงและภาพจำในด้านลบจากในอดีต ซึ่งตอบโจทย์ของหนังสารคดีเรื่องนี้ ที่ตัว subject พยายามทำให้เกิดชุมชนนักเล่นเซิร์ฟ เพื่อให้หาดแม่รำพึงกลับมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกครั้ง

ภาพรวมของหนังสารคดีชิ้นนี้ทำได้ดีในแง่ของการทำให้เรื่องราวจากปากคำบอกเล่าผ่าน subject ทั้งหลายมีสีสันและน่าติดตาม รวมถึงบรรยากาศสบายๆ ริมทะเล ทำให้เนื้อเรื่องโดยรวมมีเสน่ห์ แต่เรื่องที่เล่าเนื่องจากเป็นการนั่งสัมภาษณ์ชีวิตของ subject แต่ละคนมาประกอบกัน ทำให้ subject หลักของตัวหนังยังอ่อนเกินไป เพราะยังขาดแก่นหลักของเรื่องที่แข็งแรงมากพอในเชิงสารคดี น่าเสียดายวัตถุดิบหลายๆ อย่างที่สามารถดึงมาเป็นแก่นหลััก ให้สารคดีเรื่องนี้ดำเนินเรื่องได้ลึกล้ำขึ้นอีกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในวงการเซิร์ฟ การรับมือกับอาการบาดเจ็บจากการเล่นเซิร์ฟ การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุไม่คาดฝัน เป็นต้น ซึ่งวัตถุดิบดีๆ เหล่านี้กลับถูกแตะเพียงแค่ผิวเผิน ไม่มีเรื่องไหนถูกเล่าแบบลงลึกทั้งสิ้น

600 miles จึงเป็นสารคดีที่ดำเนินเรื่องไปแบบเรื่อยๆ มีเสน่ห์ แต่ไม่มีจุดพีค หรือ point of no return ที่ดึงคนดูเอาไว้ในกำมือ และทำให้ไม่มีจุดคลี่คลายไปด้วย หลากๆ ฉาก สัมผัสได้ถึงความแข็งเกร็ง และภาพแบบสตอร์บอร์ดที่จัดวางทุกอย่างเอาไว้แล้ว ตัวหนังควรใส่แก่นหลักเข้ามาอย่างหนังสารคดี Free Solo เป็นการติดตามการทำภาระกิจอะไรบางอย่างของตัว subject เช่น มีพยากรณ์ว่าจะเกิดคลื่นสูงเท่าตึก 4 ชั้น และ subject ตั้งใจว่าจะล่องบนคลื่นลูกดังกล่าวให้ได้ และเล่าเรื่องติดตามการเตรียมตัวล่องบนคลื่นลูกนั้น ทั้งการเตรียมพร้อมในมิติซ้อมเล่น surf และการเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจ ก็จะทำให้หนังเรื่องนี้น่าสนใจขึ้นอีกมาก