[fuse. Review] – เสียงไร้สัญชาติ (อัมพล วงค์ปันนา)

BEST SCREENPLAY AWARD ระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า fuse. KIDS Film Festival 2023

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

เสียงไร้สัญชาติเล่าถึง ซันนา เด็กสาวที่เติบโตมากับผู้เป็นพ่อ ที่ลักลอบข้ามฝั่งมาจากพม่าอย่างผิดกฎหมายเมื่อ 32 ปีที่แล้ว แม้พ่อจะทำงานและอาศัยอยู่ประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในปัจจุบัน แต่ทั้งสองพ่อลูกกลับยังไม่ได้รับสัญชาติไทย และสิทธิต่างๆ ของคนไทย ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ ซันนา ที่รักในเสียงดนตรี ต้องการเข้าประกวดร้องเพลงระดับประเทศ ทว่าเงื่อนไขกำกับบนเอกสารสมัครร้องเพลงกำหนดไว้ว่า ซันนา ต้องมีสัญชาติไทย

หนังใช้ว็อยซ์โอเวอร์ที่บอกเล่าชีวิตของซันนากับพ่อ ส่วนของว๊อยซ์โอเวอร์ทำหน้าที่การเล่าเรื่องได้ดี เป็นการปูพื้นให้คนดูได้ทำความรู้จักตัวละครสองพ่อลูก ได้เห็นความขัดแย้งระหว่างซันนา ที่อยากเป็นนักร้องและเรียนดนตรี กับพ่อของเธอ ที่อยากเห็นลูกเดินเส้นทางอื่น

ความฝันในการเป็นนักร้องของซันนา ถูกทั้งพ่อ และ ‘คนนอก’ ไม่เห็นด้วย ถึงขั้นดูถูกและบอกให้ไปทำอย่างอื่นแทน ตรงนี้หนังได้ทำให้เห็นการต่อสู้ของซันนาเพื่อความฝันของตัวเอง ซันนาที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ทำบัตรประชาชนไทยจากหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งก็ไม่ยอมแพ้ และได้ตามเรื่องต่อไปที่ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ช่วยเซ็นชื่อลงเอกสารให้เธอได้สัญชาติไทย ทว่ากลับโดนผู้ใหญ่บ้านเรียกเงินถึง 20,000 บาทเพื่อเซ็นลายเซ็น

ด้วยความต้องการเงินก้อนมาจ่ายให้ผู้ใหญ่บ้าน ซันนาจึงไปเป็นนักร้องที่ร้านเหล้า เพื่อจะได้รับเงินเดือนตอนสิ้นเดือน แต่เจ้าของร้านกลับปิดร้านหนีก่อนจะจ่ายเงินเดือนให้ พ่อจึงใช้เงินก้อนสุดท้ายจ่ายให้กับผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้ซันนาได้ทำบัตรประชาชนไทย และได้สัญชาติไทย

การที่หนังพยายามเล่นประเด็นข้าราชการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการได้รับสัญชาติ และได้ทำบัตรประชาชน เป็นการกล่าวถึงปัญหารับเงินใต้โต๊ะที่เกิดขึ้นจริงในสังคม แต่หนังทำเพียงแตะประเด็นนี้เพียงผิวเผินเท่านั้น ไม่ได้ลงลึกแบบตีแผ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตัดสินความผิดถูก หรือให้ความยุติธรรมกับตัวละคร เพราะหลังได้รับ/จ่ายเงินแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็รับประโยชน์ในส่วนของตัวเอง และแยกย้ายกันไป

ความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยของทั้งซันนาและพ่อ ที่ถูกชูให้เป็นประเด็นหลักของหนังตั้งแต่เปิดเรื่อง ควรถูกขยี้และสร้างอิมแพคกับตัวละครมากกว่าแค่ประเด็นการใช้เงินเพื่อให้ได้สัญชาติ จุดคลี่คลายของเรื่องจึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดายจนเกินไป ไม่ได้ทำให้คนดูรู้สึกว่าตัวละครต้องใช้ความพยายามอะไรมากมาย ก็สามารถมาถึงจุดนี้ได้แล้ว

หนังเลือกที่จะใช้เวลาไปกับการโชว์เสียงร้องของซันนามากกว่าจะค่อยๆ เล่าเรื่องไป เชื่อมโยงเหตุการณ์ไปจนถึงจุดหักเห แต่เป็นการเรียบเรียงเหตุการณ์ แบบต่อบ้างไม่ต่อบ้าง เพื่อไปสู่จุดคลี่คลายเท่านั้น ซันนามีฉากร้องเพลงทั้งหมดถึงสามครั้ง โดยทั้งสามครั้งไม่มีการขยับเนื้อเรื่องไปข้างหน้า ขณะเดียวกัน การร้องเพลงของซันนาก็ไม่ส่งผลใดๆ กับเรื่องที่กำลังเล่าอยู่แม้แต่น้อย มีฉากร้องเพลงฉากสุดท้าย ที่ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างพ่อลูกเท่านั้น

ด้วยเหตุที่หนังให้เวลาไปกับฉากร้องเพลงเยอะเกินไปเมื่อเทียบกับสัดส่วนเวลาที่จำกัดของหนังสั้น ฉากใส่อารมณ์ความรู้สึกระหว่างพ่อลูกจึงออกมาประดักประเดิง ไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่สามารถดึงให้คนดูเข้ามามีความรู้สึกร่วมกับตัวละครก่อนจะเกิดซีนอารมณ์ได้ ดังนั้น ควรจะใส่ฉากที่แสดงถึงความสัมพันธ์ ความผูกพันธ์รักใคร่ระหว่างพ่อกับลูกมากกว่านี้ เพราะตั้งแต่ต้นจนจบ เราแทบไม่ได้เห็นพ่อลูกใช้เวลาร่วมกันแบบที่แสดงออกถึงความรักความเอื้ออาทร คนดูได้เห็นเพียงความห่างเหินระหว่างสองคนพ่อลูก ได้เห็นซันนายืนดูพ่อขายเกาลัดตอนเด็ก และช่วงที่ทั้งสองคนทะเลาะเบาะแว้ง

ไม่แน่ใจว่าพ่อพูดภาษาไทยไม่ได้ หรือพูดไม่ได้ เพราะมีฉากที่พ่อใช้ภาษาใบ้ และไม่ได้ยินเสียงพ่อพูดเลย เข้าใจว่าพ่อของซันนาไม่สามารถสื่อสารแบบปกติได้ แต่ฟังรู้เรื่อง จึงสามารถฟังลูกร้องเพลงได้ และจากที่กล่าวไปแล้วว่า หนังไม่ได้แสดงให้เห็นความสัมพันในด้านบวกของสองพ่อลูก บวกกับเคมีระหว่างนักแสดงพ่อลูก ยังไม่ค่อยลงตัว จึงทำให้เชื่อไม่ได้ว่าทั้งสองคนเป็นคู่พ่อลูกที่รักกัน

ขณะเดียวกัน เรื่องสัญชาติไทย ที่ควรเป็นประเด็นขับเคลื่อนสำคัญของเรื่อง โดยมีเรื่องความขัดแย้งระหว่างพ่อลูก มาเป็นตัวแปรตัวสำคัญ ที่ทำให้ตัวลูกสาวจะได้หรือไม่ได้สัญชาติไทย กลับไม่ได้ทำให้คนดูเอาใจช่วยเท่าที่ควร เช่นเดียวกับฉากพ่อโดนรถชนถึงสองครั้ง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ควรสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมมากกว่านี้ แต่มันกลับเป็นเหตุการ์ที่ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อุบัติเหตุรถชนของพ่อทั้งสองครั้งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงอย่างไรกับเนื้อเรื่อง หรือส่งผลอะไรกับตัวละคร

เรื่องสิทธิพื้นฐานของผู้มีสัญชาติไทย กลายเป็นสิ่งย้อนแย้งในหนังเรื่องนี้ เพราะตั้งแต่เปิดเรื่องมา หนังบอกกับเราว่า พ่อของซันนามีเพียงบัตรประชาชนของผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน จึงไม่ได้รับสิทธิ์ใดๆ เหมือนผู้ถือสัญชาติไทย ทว่าในฉากที่พ่อโดนรถชน หนังไม่ได้บอกว่า พ่อจ่ายเงินค่ารักษาเอง หรือใช้สิทธิ์ใดๆ หรือไม่ เพราะพ่อไม่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลเหมือนผู้มีสัญชาติไทยปกติ แถมพ่อยังใช้เงิน ‘ก้อนสุดท้าย’ ไปกับการจ่ายเงินให้ผู้ใหญ่บ้านแล้ว จึงเกิดคำถามว่า พ่อเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างไร

นอกจากนี้ เสียงสกอร์ที่ใส่เสียงเข็มนาฬิกาเดิน กับสกอร์ระทึกขวัญ ที่ใส่เข้ามาตอนเปิดเรื่อง บวกกับฉากที่พ่อหอบหิ้วข้าวของข้ามแม่น้ำที่กำลังไหลเชี่ยว ท่ามกลางเสียงตะโกนไล่ตามบนฝั่ง บวกกับฉากหลังที่เป็นแนวตะเข็บชายแดน และข้อความตอนเปิดเรื่องว่า “ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริง” ล้วนเป็นการปูอารมณ์หนังที่ทำให้คนดูเข้าใจผิด ว่ากำลังจะได้ดูหนังแอคชั่นกดดันมากกว่าหนังนักเรียนประกวดร้องเพลง