[fuse. Review] – สีที่แท้จริง / True Color (นภัสกร บทมาตร, 8.40 นาที)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

[ เรื่องย่อ: true color เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวโลกที่ไร้สีสัน แต่ทว่าวันหนึ่งนางเอกได้พบกับความมหัศจรรย์บางอย่างที่เธอสามารถเสกสีสรรค์ด้วยวิธีต่างๆให้กับโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ถนน สิ่งของต่างๆ แต่ถึงอย่างนั้น บางสิ่งบางอย่างเธอก็ไม่อาจที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด เธอต้องเผชิญหน้ากับความจริงอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เธอได้รับกำลังใจที่ทำให้เธอลุกขึ้นสู้ และเป็นเเรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นต่อๆไป ]

คำว่า True Color นอกจากจะมีความหมายตรงตัวว่า ‘สีที่แท้จริง’ แล้ว ยังสามารถใช้เป็นสำนวน ซึ่งมีอีกความหมายหนึ่งคือการเปิดเผยธาตุแท้ อุปนิสัยใจคอ หรือความตั้งใจที่แท้จริงของคนๆ หนึ่ง และหนังอนิเมชั่น True color ก็สามารถนำความหมายทั้งสองของคำๆ นี้ นำมาเสนอได้อย่างน่าสนใจ

แม้ว่าเทคนิคการลงสีในภาพยนตร์สามารถทำได้แล้ว แต่ก็ยังมีนักทำหนังอีกหลายคน ยังเลือกใส่ฉากขาวดำลงในหนัง เพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่าง หรือแม้แต่ทำหนังทั้งเรื่องให้เป็นหนังขาวดำ จนถึงปัจจุบัน มีหนังมากมายที่เลือกถ่ายทำทั้งขาวดำและภาพสีในเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสลับฉากสีกับฉากขาวดำแตกต่างกันไปตามแต่ละเหตุการณ์และไทมไลน์ หรือกระทั่งมีทั้งสีและมีทั้งขาวดำในฉากเดียวกัน เช่นหนังเรื่อง Pleasantville ฉากหนึ่งที่ใส่ทั้งสีสันและขาวดำเป็นฉากที่กลายเป็นหนึ่งในภาพจำคลาสสิกสำหรับคอหนังทั่วโลก คือฉากเด็กผู้หญิงชุดแดง เดินผ่านกลุ่มเชลยชาวยิวที่ถูกคุมโดยทหารนาซีในเรื่อง Schindler’s List โดยในฉากนั้น ตัวของเด็กหญิง ฉากหลัง รวมไปถึงผู้คนทั้งหมดยังคงเป็นขาวดำ มีเพียงชุดของเธอเท่านั้นที่ปรากฏสีสันขึ้น

ขณะเดียวกัน หนังที่มีทั้งฉากขาวดำและสีในเรื่องเดียวกัน มักจะนิยมใส่ฉากขาวดำเข้ามาเพื่อเป็น flash back ของเรื่องราว และใช้ฉากสีในเหตุการณ์ปัจจุบัน หรือในหนัง Memento กลับใช้ฉากขาวดำกับเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่เรียงลำดับตามไทมไลน์ปกติ แล้วใช้ฉากสีกับเหตุการณ์ที่เกิดย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้น

การใช้ฉากสีกับขาวดำยังทำเพื่อจุดประสงค์อื่นของผู้กำกับ เช่น ในงานคลาสสิก The Wizard of Oz ฉากเมืองแคนซัส ซึ่งเป็นโลกจริงใช้ขาวดำ แต่ฉากเมืองมรกต ซึ่งเป็นโลกแฟนตาซีใช้สี โดยหนังเรื่องล่าสุดที่ใช้ตัดสลับฉากระหว่างสีกับขาวดำหนีไม่พ้นเรื่อง Oppenheimer โดย คริสโตเฟอร์ โนแลน ใช้ฉากสีแทนมุมมองเรื่องเล่าจากฝั่งของตัวละคร J. Robert Oppenheimer และฉากขาวดำแทนมุมมองเรื่องเล่าจากฝั่ง Lewis Strauss

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทีมสร้างของ True color มีไอเดียที่สร้างสรรค์และออกนอกกรอบ หนังเปิดภาพเป็นอนิเมชั่นลายเส้นสองมิติ สีขาวดำ ถึงอย่างนั้นการที่เล่นกับแสงและเงาก็ทำให้ได้เข้าใจได้ในฉากที่มีแดดส่อง หรือการสะท้อนของผิวน้ำบนท้องถนน รวมไปถึง sound ฟ้าร้องกับฝนตกทำได้คนดูสัมผัสกับบรรยากาศฟ้าฝนในหนังได้ชัดเจน

True color เล่าถึงหญิงสาวพนักงานบริษัทไร้สีสันเช่นเดียวกับเมืองที่เธออยู่ และผู้คนในเมือง ค้นพบว่าเธอสามารถสร้างสีสันให้กับสิ่งต่างๆ ได้ เธอจึงเดินหน้ามอบสีสันให้เมือง ไปจนถึงสวนสาธารณะ เธอได้สังเกตเห็นกลุ่มเด็กๆ และมอบสีสันให้กับพวกเขา และด้วยสีสันของเธอก็ทำให้ว่าวขาวดำ ก็กลายเป็นปลากระเบนล่อยลอยไปบนท้องฟ้า

กระทั่งหญิงสาวได้เจอกับชายอารมณ์ร้ายขาวดำคนหนึ่ง ที่ไม่ยอมรับสีสันของเธอ แม้ว่าเธอจะพยายามเต็มสีสันให้กับเขาซักเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ ชายคนนั้นโวยวายแล้วเดินหันหลังจากไป นั่นทำให้หญิงสาวเศร้าหมองและท้อแท้ แต่ชาวเมืองคนอื่นๆ ที่ได้รับสีสันจากเธอ ก็เข้ามาช่วยกันให้เธอกลับมาสดใสอีกครั้ง

ไอเดียของการกำเนิดสีสันแต่ละจุดทำได้ดี ภาพสีสวยงาม มีความสอดคล้องและต่อเนื่องกัน ตรงตามตรรกะที่ถูกสร้างขึ้นในโลกของหนังเรื่องนี้ เมื่อตัวละครหลักค้นพบสีสัน และเดินไปเจอชาวเมืองคนอื่นๆ ที่ยังเป็นสีขาวดำ ก็พบว่านอกจากจะไร้สีสันแล้ว ทุกคนยังทำหน้าเบื่อหน่าย กระทั่งกลุ่มของเด็กๆ ในสวนสาธารณะ ที่กำลังเล่นฟุตบอลกันอยู่ยังมีสีหน้าและท่าทางเบื่อหน่าย ทั้งๆ ที่ควรสนุกสนานกับช่วงเวลาเล่นกับเพื่อนๆ จนตัวละครหลักเดินมาพบและมอบสีสันให้ พวกเด็กๆ ถึงมีความสุขได้

หนังไม่มีคำพูดหรือบทสนทนา แต่มีดนตรีประกอบคลอเป็นฉากหลัง โดยส่วนของดนตรีประกอบในหนังก็ทำหน้าที่เล่นโน้ตดนตรีให้สอดรับกับการกำเนิดสีของแต่ละฉาก แต่ละสถานที่ อีกทั้งยังสอดรับและเสริมแรงให้กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ในแต่ละฉากได้ดี หนังให้โทน comedy บางๆ การขยับเคลื่อนไหวของตัวละครในอนิเมชั่นทำได้ลื่นไหลดี ไม่มีอะไรติดขัด ภาพวาดลายเส้น แม้จะไม่ได้มีเอกลักษณะโดดเด่นสะดุดตา หรือใส่รายละเอียดฉากหลัง แต่ก็สวยงาม

ฉากตัวละครควงร่มในชุดพนักงานบริษัทขาวดำก่อนจะเกิดวงกลมสีรุ้งล้อมรอบ และเปลี่ยนออกมาเป็นชุดที่มีสีสัน ทำให้นึกถึงท่าแปลงร่างยอดฮิตของบรรดาตัวละครสาวน้อยพิทักษ์โลกในอนิเมะเก่าๆ เช่น Sailor Moon กระทั่งน่าควงร่มของเธอ ก็ทำให้นึกถึงท่าควงไม้คฑาของ Sakura ตัวละครในอนิเมะ Cardcaptor Sakura กับ Sailor Moon ภาพวาดสีในฉาก End Credit Scene ช่วยบอกเล่าเสริมเรื่องราวที่เป็นช่องว่างของหนังได้ดี ทำให้คนดูได้เห็นความสัมพันระหว่างหญิงสาวกับตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง ที่เธอพบเจอระหว่างทาง

หนึ่งในตัวละครที่ประทับใจ คือนกเหลืองหน้านิ่ง จัดว่าเป็นตัวละครที่เข้ามาขโมยซีน ทำให้ตัวหนังมีความน่าสนใจขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลภายใต้ตรรกะของโลกในหนังเรื่องนี้ โดยหลังจากเจ้านกเหลืองเจาะบับเบิ้ลของหญิงสาวแตกแล้ว มันก็หันมา ‘มองกล้อง’ แว็บนึง ให้ความรู้สึกว่าเจ้านกเหลืองสามารถทำลายประตูมิติที่ 4 (breaking the 4th wall) เพราะหยั่งรู้ว่ามีผู้ชมหนังเรื่องนี้กำลังมองดูตัวเองอยู่ แบบที่ตัวละครอย่าง Deadpool มีความสามารถหันมา ‘มองกล้อง’ และสื่อสารพูดคุยกับคนดูโดยตรง อีกทั้งยังหยั่งรู้ว่าตัวเองเป็นเพียงตัวละครตัวนึงเท่านั้น

เรื่องจบแบบปลายเปิดให้คิดต่อว่าจะอะไรขึ้นหลังเด็กหนุ่มสีขาวดำคนหนึ่งเดินเข้ามาแตะร่มคันนั้นต่อจากหญิงสาว