[fuse. Review] – วายชนม์ (ณัฐภกร แน่งน้อย, 20.46 นาที)

(BEST DOCUMENTARY FILM AWARD ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า fuse. Film Festival 2022)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

“ถึงสิ้นชีพวางวาย มลายหาย” ความตายในชีวิตจริงที่มาเยือน บอส ชายหนุ่มที่วัน ๆ ทำแต่งานไม่มีเวลากลับมาหาย่าของเขา แต่พอถึงคราที่เขาสิ้นลมหายใจ การเดินทางเพื่อไปงานศพและบทสนทนาพร้อมความว้าวุ่นทางความรู้สึกก็เกิดขึ้น

……………………………..

“ความตาย” เป็นหนึ่งในหัวข้อยอดนิยมของคนสร้างเรื่องราวหรือเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะผ่านสื่อใดก็ตาม ความตายพูดไม่เป็น สื่อสารไม่ได้ แต่ในโลกของเรานี้ เป็นโลกของคนเป็น คนเป็นจึงเป็นฝ่ายสื่อสารแทนคนตาย จนมักกล่าวกันว่าพิธีศพนั่นจัดขึ้นเพื่อเยียวยาคนเป็นมากเสียกว่าคนตาย

แล้วในหนังเรื่องนี้ ได้ช่วยพาให้พวกเรารู้จักคนเป็นมากกว่าคนตาย เห็นได้ระยะห่างของคนตายที่ไกลกว่าคนอื่น ๆ

เริ่มต้นเรื่องด้วย “ชายหนุ่ม” ต้องเดินทางกลับบ้านเพื่อไปร่วมงานศพของย่า แสดงให้เห็นระยะห่างระหว่างความเป็นกับความตาย ทั้งที่เขาตระหนักดีว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วยังแสดงให้เห็นอีกว่า ความตายเป็นเรื่องของการเดินทางทั้งที่เกิดขึ้นได้ทุกชั่วขณะชีวิต

การเดินทางไปงานศพของย่าทำให้เขาเริ่มต้นสนทนากับตัวเอง เพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับความตาย ความสัมพันธ์ของตัวเขากับย่า และความสัมพันธ์สามเส้า ย่า-พ่อ-เขา ทั้งที่ชายหนุ่มเป็นห่วงอารมณ์ความรู้สึกของพ่อ แต่ภาพของพ่อที่ปรากฎกลับหนักแน่นและเงียบสงบ โดดเดี่ยวแต่กลับมั่นคง จนสื่อสารในเรื่องความตายได้มากกว่าบทพูดที่ใส่ไว้ในหนัง

จนเชายหนุ่มคล้ายกับจะบอกว่า สักวันหนึ่ง เมื่อสถานการณ์เช่นนี้มาถึงตัวเขา เขาจะเป็นพ่อ วันนี้เขาอาจต้องการใครอย่างน้อยสักคน เพื่อเป็นเพื่อน คอยสื่อสารสนทนากันด้วยเสียง แต่สักวันหนึ่ง เมื่อวันนั้นมาถึงตัวเขา เขาอาจสนทนาด้วยสายตาก็เป็นได้

ช่วงขณะที่จับใจที่สุดในเรื่อง น่าจะเป็นตอนที่เขาเปิดเผยถึงความสัมพันธ์กับย่า แต่เป็นความสัมพันธ์ในเชิงขัดแย้งกันผ่านเสียงระนาด ก่อนรับด้วยฉากงานศพของย่าตามประเพณี ที่ต้องมีการจัดแสดงทั้งปี่พาทย์และโขนหน้าไฟ อันเต็มไปด้วยเสียงดนตรีเซ็งแซ่ดังขึ้นเป็นจังหวะ พร้อมภาพตัดสลับไปมาจนเหมือนเป็นการเร่งเร้า ราวกับสภาพจิตอันหวั่นไหววูบวาบของการส่งเสียผู้เป็นที่รักในวาระสุดท้าย

ความตายเป็นเรื่องของปัจเจก การค้นหาความหมายของความตายก็เป็นเรื่องของปัจเจกเช่นกัน

เราอาจกล่าวได้ว่าผลงานชิ้นนี้ของณัฐภกร เป็น docudrama ที่จับทั้ง documentary กับ drama มาใส่กล่อง แล้วเขย่าจนส่วนผสมทั้งสองผสมกลมกลืน เกิดรสชาติอันกลมกล่อมลงตัว

เทคนิคด้านภาพที่เน้นการตั้งกล้องนิ่ง ไม่แพนหรือซูม ไม่เล่นเทคนิคทางภาพจนล้นเกิน ให้ความหยุดนิ่ง สงบสงัด จนบางครั้งหยุดนิ่งเหมือนไม่มีชีวิต และบางตอนเหมือนนำภาพนิ่งมาเรียงร้อยต่อกันเป็นเรื่องราว ครั้งช่วงของภาพก็สั่นไหวไปตามมือจับ เพราะไร้ขาตั้งกล้อง ยิ่งช่วยให้รู้สึกสั่นไหวเหมือนจิตใจมนุษย์ในยามทราบข่าวร้าย

เทคนิคการตัดต่อที่จับจังหวะได้อย่างลงตัว เลือกจังหวะได้พอดิบพอดี ว่าตรงไหนจะช้าหรือตรงไหนต้องเร็ว ทำให้ไม่ดูอึดอัดจนน่าเบื่อเหมือนดูสไลด์ภาพนิ่งต่อ ๆ กัน ทำให้งานภาพโดยรวมเป็นธรรมชาติเหมือนเราถ่ายคนกันเองในครอบครัว จนงานภาพมีความเป็น documentary สูง แตกต่างอย่างโดดเด่นกับบทบรรยายที่แทรกเข้ามาเป็นช่วง ๆ บอกเล่าถึงเรื่องราวและคำถามต่อตัวเองในเรื่องความตายอย่างเร้าอารมณ์อ่อน ๆ ตามแบบฉบับ drama จนประกอบกันเป็นชิ้นงานการเล่าเรื่องทั้งภาพและเสียงอันน่าชื่นชม

จนทำให้เราเชื่อว่าภาพที่ปรากฏในหนัง เป็นเหมือนภาพแทนสายตาตัวเขาเอง ที่เปิดโอกาสให้พวกเราคนดูสวมบทบาทแทนตัวเขา เพื่อไขกุญแจหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตของแต่ละปัจเจก

หนังตลอดทั้งเรื่องกินเวลา 20 นาที แต่กลับดูเหมือนไม่นานเลย เพราะลวดลายของ “ณัฐภกร” นั้นไม่ธรรมดาทีเดียว