[fuse. Review] – ทางกลับบ้าน / Way back home (ศิริรัตน์ โชยจอหอ, นูรีซัน สะมะแอ, เมราวดี ดาหมิ)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

โศกนาฏกรรมการก่อการร้ายเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาหรือสถานที่ใด ทั้งในสถานที่สุ่มเสี่ยง ที่ถูกเรียกว่าโซนอันตราย ไปจนถึงเมืองใหญ่ๆ ที่สำคัญของโลก อย่าง ลอนดอน ปารีส นิวยอร์ค มิวนิค ที่ในความคิดของคนจำนวนมาก เมืองเหล่านั้นล้วนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย ก็เคยมีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น

ทางกลับบ้าน ไม่ได้บอกอย่างแน่ชัดว่าฉากหลังในเรื่องอยู่ที่ไหน มีนิดกับหน่อย พี่น้องสองคนเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยนิดกำลังออกกำลังกายอยู่ในสนามกีฬาแห่งหนึ่ง ก่อนจะเกิดเสียงระเบิดดังขึ้น

Timing ของเสียงระเบิดที่เกิดขึ้น เหมือนเสียงระเบิดส่งผลแค่กับนิดและหน่อยสองพี่น้อง โดยที่คนอื่นๆ ไม่มีใครได้ยิน ซึ่งจุดนี้ก็นำไปสู่ความไม่เข้ากันของฉากหลัง ที่มีคนวิ่งผ่านเป็นฉากหลังในสนามกีฬา เพราะไม่แน่ใจว่าคนเหล่านั้นเป็นตัวละคร extra หรือเป็นคนทั่วไปที่กำลังวิ่งอยู่

เพราะหากเป็นตัวละคน extra ก็ไม่ได้มีการแสดงออกใดๆ ที่บอกว่าตกใจกับเสียงระเบิดหรือตกใจกับเหตุการก่อการร้ายมากเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้ไม่เชื่อว่ามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นจริง หากเปลี่ยนสถานการณ์ให้ตัวละคร extra วิ่งหนีในสถานที่อื่น ที่เป็นสถานที่สาธารณะทั่วๆ ไป ที่ไม่ใช่สนามกีฬาหรือลู่วิ่ง ก็จะช่วยให้เหตุการณ์ระเบิดสมจริงขึ้นมากกว่านี้

อีกอย่างที่คนดูไม่สามารถเชื่อมโยงได้ก็คือ หนังทำให้เราสงสัย ว่าทำไมหน่อยกับแม่ถึงห้าม และเป็นห่วงที่นิดรีบร้อนกลับบ้าน และเกิดคำถามว่าทำไมหน่อยไม่กลับบ้านพร้อมกับนิดด้วย หรือทำไมหน่อยไม่หนีออกจากพื้นที่แห่งนั้น

เพราะโดยทั่วไปแล้ว หากมีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้น การอยู่ในพื้นที่ที่สามารถได้ยินเสียงระเบิดได้ ย่อมอันตรายกว่าการขับรถหนีไปจาก ยกเว้นว่าพื้นที่แห่งนั้นจะโดนล้อมไว้ หรือมีเหตุให้ไม่สามารถขับรถบนท้องถนนได้ตามปกติ

หนังไม่ได้ให้เหตุผลรองรับได้ว่าเพราะเหตุใดการอยู่ที่เดิมถึงปลอดภัยกว่าการหนีไป ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่เหตุผลรองรับ เช่น อาจใส่เป็นการรายงานข่าวว่าขอให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ที่เดิม ห้ามออกนอกพื้นที่ เพราะเสี่ยงอันตราย หรือห้ามขับรถออกมาบนท้องถนน หรือเส้นทางจารจรปกติถูกปิดกั้น เพราะโดนระเบิด เป็นต้น

ในบทสนทนาระหว่างแม่กับหน่อยทางโทรศัพท์ยังไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่าที่ควร และแม่ดูเป็นห่วงแต่นิดโดยไม่สนใจความปลอดภัยของหน่อย เพราะหนังไม่ได้บอกเราว่าทำไมการอยู่ในพื้นที่ระเบิดถึงปลอดภัยกว่าการหนีออกมา หรือเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่ใดกันแน่ ซึ่งพอหนังดำเนินต่อเนื่องมายังบทสนทนาระหว่างแม่กับนิด เมื่อนิดถามแม่ว่า ทำไมเราไม่ย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น และแม่ตอบมาว่า ‘อยู่ที่ไหนก็ตายเหมือนกัน’ ก็ยิ่งย้ำความไม่สอดคล้องกันในหนัง เพราะไม่สามารถเชื่อมโยงสถานที่กับเหตุการณ์ได้ว่าตกลงเกิดเหตุระเบิดที่ใกล้ๆ บ้าน หรือใกล้ๆ สนามกีฬา หรือในเมืองที่นิดอยู่กันแน่ หนังควรให้ข้อมูลเรื่องสถานที่กับเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ชัดเจนกว่านี้

เหตุก่อการร้ายที่โด่งดังที่สุดในโลก หนีไม่พ้นเหตุการณ์ 911 เมื่อเครื่องบินสองลำพุ่งชนตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ ที่กรุงนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ที่ถูกหยิบมาเล่าครั้งแล้วครั้งเล่าในโลกภาพยนตร์ ทว่าหนังที่พูดถึงการก่อการร้าย ไม่ได้มีแค่หนังบ็อกซ์บัสเตอร์ฟอร์มยักษ์เท่านั้น ยังมีหนังเล็กๆ ทุนต่ำอีกหลายเรื่อง ที่เล่าถึงเหตุการณ์ความเป็นความตาย และผู้คนที่พยายามเอาชีวิตรอดจากการก่อการร้าย

หนึ่งในนั้นคือ Elephant 2003 หนังอิสระฟอร์มเล็ก สร้างจากเหตุการณ์จริงของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมแห่งที่สหรัฐอเมริกา ผู้กำกับ Gus Van Sant เลือกการดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย ไม่มีฉากตูมตาม และเล่าผ่านมุมมองของ ‘ผู้กระทำ’ ต่างจากหนังวินาศกรรมเรื่องอื่่นๆ ที่เล่าเรื่องผ่านมุมมองของ ‘ผู้ถูกกระทำ’ มากกว่า บวกกับการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของนักเรียนอีกหลายๆ กลุ่มของโรงเรียนก่อนเกิดเหตุสลดขึ้น

Elephant เล่าเรื่องชีวิตปกติในวันธรรมดาๆ วันหนึ่งของบรรดานักเรียนมัธยมในโรงเรียนแห่งนี้ ใช้ความ subtle ในการให้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเหตุร้ายในเรื่อง โดยไม่ได้บอกโต้งๆ ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น แต่คนดูก็รู้สึกได้ถึงความไม่ปกติที่กำลังดำเนินอยู่

ทั้งนี้ ผู้เขียนก็ได้แต่อนุมานเอาเองว่าใน ทางกลับบ้าน เป็นเหตุระเบิดจากการก่อการร้าย เพราะหนังไม่ได้ให้รายละเอียดหรือข้อมูลอย่างอื่นที่บอกคนดูอย่างชัดเจนได้ว่า เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกันแน่ ระเบิดเพราะคนทำ หรืออุบัติเหตุ ? เพราะโกดังเก็บวัตถุไวไฟ หรือโรงงานใดๆ ก็สามารถระเบิดได้โดยไม่ต้องมีเหตุการก่อการร้าย หนังไม่ได้ให้ข้อมูลว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร มีแค่เสียงระเบิด กับบทสนทนาของสองพี่น้องและแม่เท่านั้น