[fuse. Review] – ฉิงชู (ธีรดา จิตต์ใจฉ่ำ, 24.40 นาที)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

[ เรื่องย่อ: เกี้ยมอี๋ ติงติง และเส้นหมี่ เด็กหญิงวัย 12 ปี ที่จะต้องช่วยกันหาวิธีนำเครื่องเล่นเทปที่พวกเขาทำพัง กลับคืนมาให้พี่โตโต้ ก่อนที่พี่โตโต้จะไปเรียนต่อในวันมะรืนนี้ ]

“ฉิงชู” บอกเล่าเรื่องราวของการก้าวข้ามผ่านวัย จากแก๊งค์สาวน้อยท้ายตลาดสามนางที่ปรารถนาสานสัมพันธ์หัวใจในเพศตรงข้าม มิตรภาพระหว่างเพศคือสิ่งที่วัยนี้ปรารถนา ซึ่งจะว่าไปแล้วทั้งตัวแสดง บรรยากาศ รวมทั้งฉากหลังของเรื่อง ชี้ชวนให้ย้อนกลับไปรำลึกถึง “แฟนฉัน” ภาพยนตร์ที่มีเหล่าเด็กน้อยเป็นตัวแสดงนำ จนเกิดเป็นปรากฎการณ์ “รักครั้งแรก” ในโลกภาพยนตร์เมื่อ 20 ปีก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทการแสดงของตัวเอก “เดอะแก๊งค์” เกี้ยมอี๋ ติงติง และเส้นหมี่ ทั้งสามสาวรับส่งและเข้าขากันเป็นอย่างพอเหมาะ ได้จังหวะจะโคน จนเชื่อว่าเธอทั้งสามเป็นเพื่อนซี้กันจริง ๆ แค่เปิดตัวด้วยซีน “ลองช็อต” เพียงไม่กี่วินาที

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองข้ามแนวเรื่องในแบบ “คอมเมดี้” แสดงนำโดยวัยรุ่นวัยใสตัวน้อย หรือหากมองข้ามการเล่าเรื่องไปตามลำดับเวลา เพื่อไปเพ่งพินิจในรายละเอียดของงาน เราจะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า หนังสั้นฝีมือนักศึกษาเรื่องนี้เต็มไปด้วย device มากมาย

เมื่อกล่าวถึงเครื่องมือทางเทคโนโลยี เรามักนึกไปว่าต้องอยู่ในมือของผู้ชาย เพศผู้ครอบครองโลก แต่ในหนังสั้นเรื่องนี้ device ทางไอทีหลายชิ้นตกอยู่ในมือของสุภาพสตรีตัวน้อย ๆ

แต่แน่ละว่าพวกเธอคงไม่ได้อยากครอบครองโลก มากเท่ากับมัดใจหนุ่มน้อยโตโต้ บ้านฝั่งตรงข้ามกัน โดยมีเครื่องเล่นเทป “ซาวอะเบาท์” เป็น device แกนกลางร้อยความสัมพันธ์ของทั้งสอง และ device นี่เอง ทำให้สาวน้อยทั้งสามกลายเป็นวีรสตรี

“ฉิงชู” มิใช่นำเสนอชีวิตหนุ่ม-สาววัยใสในเชิงหวานแหวว ดูไปอมยิ้มไปเท่านั้น แต่ยังแฝงให้เห็นอำนาจของผู้หญิงในยุคไอที ที่มีแก๊งค์สาวน้อยวัย 12 ปีเป็นภาพตัวแทน (representation) ที่สามารถใช้งานและจัดการกับเจ้า device ในยุคดิจิทัลได้ จนแก้ไขปัญหาทั้งหมดให้ลุล่วงทันเวลา

จากเดิมที่ทุกคนหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ใช้มันเป็นแค่เครื่องเล่นสนุกสนานทั้งวันทั้งคืน จนกลายเป็นเด็กติดมือถือ หนึ่งในปัญหาสังคมของยุคสมัย เป็นที่เอือมระอาของผู้ใหญ่ จนสุดท้ายผู้ปกครองของเธอทั้งสามริบไปเก็บไว้

ส่วนหนุ่มน้อยโตโต้ก็มี device ประจำตัวเพียงชิ้นเดียว แต่แทนที่ชายหนุ่มจะฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือ ที่มีสารพัดฟังก์ชั่นการใช้งานภายในตัว แต่กลับย้อนยุคเป็นงานเครื่องเล่นเทปแบบอนาล็อก นั่นคือ เครื่องเล่นเทปซาวอะเบาท์ จนได้รับฉายาเป็นเจ้าชายวินเทจจากสาว ๆ

แล้วในที่สุด ซาวอะเบาท์เครื่องนี้ก็นำพาความวุ่นวายหัวใจให้เกิดขึ้น เมื่อสาวน้อยทำ device คลาสิกพังพินาศ device สายอนาล็อกใหญ่โตเทอะทะ ไม่เล็กกะทัดรัดแบบโทรศัพท์มือถือ และดูไม่เป็นมิตรกับสาวน้อยทั้งสามนัก พวกเธอไม่อาจจัดการ device ย้อนยุคเครื่องนี้ได้เลย แม้จะพยายามซ่อมแซมมัน ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะเครื่องพวกนี้ดูไม่เป็นมิตรเอากับพวกเธอเสียเหลือเกิน

จนทั้งสามต้องหวนกลับไปหาเรื่องมือของยุคสมัยไอที แต่โทรศัพท์ถือมือทุกคนก็ถูกริบไปหมดแล้ว สุดท้ายต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์ของยายของสมาชิกแก๊งค์นางหนึ่ง ซึ่งเธอสามารถจัดการเครื่องมือดิจิทัลได้อย่างคล่องแคล่วและคล่องมือ อินเทอร์เน็ตหลุดก็รู้ปัญหาต่อใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

สุดท้ายแล้วก็ด้วยวิสัยแบบผู้หญิงนั่นแหละ ด้วยความคล่องแคล่วชำนาญการด้าน shopping online สุดท้าย เครื่องเล่นเทปซาวอะเบาท์เครื่องใหม่ก็มาถึงถือพวกเธอ และก็กลายเป็นเครื่องมือสานสัมพันธ์ระหว่างหนุ่ม-สาววัยละอ่อนต่อไป

“ฉิงชู” เป็นการเล่าเรื่องที่ฉลาดคมคายตรงที่สอดแทรกบทวิพากษ์บทบาทด้าน gender role ไว้อย่างแนบเนียน ภายใต้ตัวแสดงที่เป็นเด็กน้อย และอารมณ์ขบขัน การกลับบทบาทให้เด็กหญิงเป็นฝ่ายครอบครองและใช้งาน device ดิจิทัลนั้น เหมือนจะสื่อนัยยะถึงเครื่องมือสมัยใหม่ เช่น โทรศัพท์มือถือ ที่อาจคนรุ่นอาวุโสหรือพ่อแม่มองว่าเป็นเครื่องมือแห่งความลุ่มหลงมอมเมา แต่ในอีกทางก็พร้อมจะเป็นเครื่องมือให้กับสตรีเพศบรรลุความสำเร็จก็เป็นได้