*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ
หากจะหาคำไหนมาจำกัดความให้กับหนังสั้นสีขาวดำ ความยาวไม่ถึง 5 นาที เรื่องนี้ คงจะต้องบอกว่า ข้าวมันไก่สามารถถูกจัดเข้าพวกเดียวกับซีรีส์รวมเรื่องพิศวงงงงวย The Twilight Zone (1959 -1964) ได้ไม่ยาก
แม้จะไม่ค่อยมีบทสนทนาเกิดขึ้นในเรื่อง แต่ความจริงแล้ว หนังสั้นเรื่องนี้ ‘เสียงดัง’ มากในแบบของตัวเอง ทั้งเสียงที่เป็นนามธรรม และเสียงที่เป็นรูปธรรม ที่เราได้ยินจริงๆ จนถึงกับขึ้น tag เปิดเรื่องให้ใส่หูฟังเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชม การใส่เสียงสับไก่, เสียงเข็มนาฬิกาเดิน, เสียงวิทยุ มาประกอบช็อตภาพตอนแม่ค้ากำลังสับไก่ ก่อนจะตัดไปที่หลอดไฟ, นาฬิกา, วิทยุทรานซิสเตอร์ โดยตัดให้เห็นสิ่งของเหล่านั้นเป็นภาพซ็อตสั้นๆ ใช้สีขาวดำเล่นกับแสงและเงา ทำให้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของตลาด พร้อมกับส่งพลังให้กับหนังทั้งเรื่อง ก่อนจะตัดไปที่ฉากผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาซื้อข้าวมันไก่ โดยที่เราไม่ได้เห็นใบหน้าทั้งหมดของชายผู้นั้น ด้วยภาพที่ตั้งใจถ่ายไม้ของแผงขายข้าวมันไก่ให้ทาบปิดดวงตาพอดี ก่อนจะซูมไปที่ปากของชายหนุ่มเมื่อเขาสั่งข้าวมันไก่
ความน่าสนใจเริ่มขึ้นเมื่อข้าวมันไก่ที่ชายหนุ่มได้มาค่อยๆ หายไป จนเหลือแค่กล่องเปล่า เขาถามแม่ค้าเพื่อหาคำอธิบาย แม่ค้าก็ทำแค่สับไก่แรงขึ้น เขาพยายามมองไปรอบๆ เพื่อหาคำอธิบายอีกครั้ง ก็เห็นลูกค้าคนอื่นๆ ของร้าน ก็กำลัง ‘กิน’ ความวางเปล่าบนจานข้าวตัวเอง ชายหนุ่มกลับไปทั้งแบบนั้น และลองกิน ‘ความว่างเปล่า’ ในกล่องข้าวมันไก่ของตนดูบ้าง จนท้ายที่สุด เขาก็ไปร่วมนั่งกิน ‘ความว่างเปล่า’ ร่วมกับลูกค้าคนอื่นๆ ที่ร้านข้าวมันไก่ร้านเดิม
ความจริงก็คือหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการคำอธิบาย หรือเนื้อหา หรือแม้กระทั่งบทสนทนาในการดำเนินเรื่อง แต่กลับเต็มไปด้วยสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการตีความ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็ราวกับกำลังตั้งคำถามที่ไร้เสียงมากมายกับเหล่าคนดู ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังมองเห็นความไม่ถูกต้อง เป็นความถูกต้อง เพียงเพราะคนอื่นๆ เห็นเช่นนั้นหรือไม่, ความเห็นของบุคคลอื่นสำคัญกว่ามุมมองความเห็นของเราหรือไม่, การคล้อยตามคนอื่นเป็นสิ่งที่เราควรทำ ไม่ว่าสิ่งนั้น หรือการกระทำนั้นจะแปลกประหลาดแค่ไหนในมุมมองของเราหรือไม่, เราจะรู้สึกแปลกแยก กลายเป็นตัวประหลาด ถ้าเรามองไม่เห็นเหมือนกับที่คนอื่นมองเห็นหรือไม่, ต่อให้หลักการและความถูกต้อง หรือสิ่งที่ควรจะเป็นค่อยๆ หายไปทีละอย่าง จนสุดท้ายไม่เหลือสิ่งใดอยู่อีก เราจะยังยึดถือคติความเชื่อ หรือกระทั่งภาพจำนั้นๆ อยู่หรือไม่, คุณค่าศีลธรรมในตัวเราจะลดลงหรือไม่ หากเรายึดถือเอาความถูกต้องที่ขัดแย้งกับมุมมองของผู้อื่น เป็นต้น
ทั้งๆ ที่เป็นแค่ข้าวมันไก่ แต่หนังกลับเซ็ตโทนเรื่องให้มีความสยองขวัญ บีบคั้นด้วยสถานการณ์ธรรมดาแต่ไม่ปกติ อย่างการไปซื้อข้าวมันไก่ออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ไก่บนเขียงของร้านข้าวมันไก่ไม่ได้ ‘น่ากิน’ เหมือนอาหารในเรื่องอื่นที่ถูกถ่ายทอดให้เห็นความน่ากิน ฉากสับไก่ของเรื่องทำให้นึกถึงฉากดินเนอร์ไก่ในตำนาน จากเรื่อง Eraserhead 1977 หนังขาวดำสุด งง ของ David Lynch เมื่อ Henry ต้องไปรับประทานอาหารมื้อค่ำร่วมกับครอบครัวของแฟนสาว แต่กลับเกิดเหตุอธิบายไม่ได้ขึ้นกับ ‘ไก่’ ที่ควรจะเป็นเพียงมื้ออาหารธรรมดาๆ ของพวกเขา (แต่ก็ไม่เคยมีอะไรจะธรรมดาในหนังของ David Lynch)
ข้าวมันไก่ไม่ได้แปลกประหลาดเท่างานของ David Lynch และไม่ใช่หนังแนวทดลอง (Experimental Film) เนื้อเรื่องและรูปแบบการนำเสนอยังคงเดินในรูปแบบของหนังปกติ ที่ยังไม่ได้ข้ามเส้นไปเป็นหนังแนวทดลอง แบบหนังสั้นงของ Maya Deren นักทำหนังสาย avant-garde ช่วงยุค 40-50 ที่ดูปุ๊บก็รู้ทันทีว่าเป็น Experimental Film
ทว่า ข้าวมันไก่ กลับมีกลิ่นที่ไปทาง The Lighthouse หนังขาวดำปี 2019 ที่พูดถึงสิ่งที่อธิบายหรือหาสาเหตุไม่ได้ แต่กลับไม่สามารถบอกได้ว่ามันคือเรื่องจริง หรือภาพลวงตากันแน่ ขณะที่เกิดสถานการณ์อันไม่ปกติขึ้น การปรากฏหรือไม่ปรากฏของสิ่งของ หรือตัวตน ที่ไม่ควรมีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็น กล่องที่ควรจะบรรจุข้าวมันไก่แต่ภายในกลับว่างเปล่า หรือนางเงือกที่กำลังกรีดร้องบนชายหาด ก็ไม่อาจบอกได้ว่า สิ่งที่ตัวละครกำลังมองเห็นนั้นเป็นเหมือนกับสิ่งที่คนอื่นมองเห็นหรือไม่ นอกจากประเด็นเรื่องจริงหรือลวง The Lighthouse ยังเต็มไปด้วยสัญญะสัญลักษณ์ให้ตีความได้มากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวไฟบนประภาคาร นกนางนวล นางเงือก ฯลฯ
ไม่เพียงแต่ข่าวมันไก่จะทำให้นึกถึงหนังขาวดำเรื่องอื่นๆ แล้ว การตีความเนื้อเรื่องยังทำให้คิดไปไกลถึง ทฤษฎีสมคบคิด conspiracy theory ได้เลยทีเดียว ด้วยสภาวการณ์ที่ ‘เรื่องอย่างเป็นทางการ’ (สิ่งที่ถูกทฤษฎีสมคบคิดหยิบยกหลักฐานอ้างอิงอื่นมาหักล้าง) เป็นสิ่งที่ทุกคนทำเหมือนๆ กัน นั่นคือการกิน ‘ความว่างเปล่า’ ด้วยทีท่าที่บ่งบอกว่า ‘ความว่างเปล่า’ ที่ตัวเองกำลังกินอยู่คือข้าวมันไก่
เช่นเดียวกับชื่อเรื่อง ข้าวมันไก่ ที่เขียนด้วยสัญลักษณ์ Phonetic ว่า /Kʰ ːW MAN KÀJ/ ก็สามารถกลายเป็นอีกหนึ่งทฤษฎีสมคบคิดในแง่ที่ว่า ข้าวมันไก่อาจจะไม่ได้เป็นข้าวมันไก่อย่างที่เราคิด เพราะสัญลักษณ์ Phonetic กำลังบอกเราว่า มันเพียงแค่ออกเสียงเช่นนี้ ทว่าที่จริงแล้ว มันสามารถเป็นสิ่งอื่นได้ เหมือนกับหลักภาษาไทยเรื่องคำพ้องรูปพ้องเสียง ที่ออกเสียงเหมือนกัน หรือเขียนเหมือนกัน แต่ความหมายไม่เหมือนกัน
ท้ายสุด ขอยกย่องความครีเอทของเจ้าของไอเดียหนัง ด้วยความยาวหนังเพียงแค่ 4 นาทีเศษ แถมยังเป็นแค่การหยิบเอาเรื่องธรรมดาสามัญใกล้ตัวในชีวิตมาใช้ แต่งานที่ออกมาก็สร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ได้ สะกิดต่อมให้คนดูตั้งคำถาม ไปจนเกิดการตีความในบริบทที่หลากหลายได้ โดยไม่จำเป็นต้องจับคอนเทนท์ที่ต้องการสื่อใส่ลงในบทสนทนาแบบหนังเรื่องอื่น