[fuse. Review] – กรรณิการ์ (Akarakitt Thanachokjirapat, 8.54 นาที)

*มีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนสำคัญ

กรรณิการ์เป็นดอกไม้วงศ์ Verbenaceae ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอีกชื่อว่า Coral jasmine เนื่องจากต้นพุ่มกรรณิการ์จะแตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ ดูคล้ายปะการัง(Coral) ตัวดอกมีสีขาวแต่โคนกลีบกลับเป็นสีแสด มีกลิ่นหอมและผลิบานเฉพาะในเวลากลางคืน ดอกที่บานจะร่วงหลุดทันทีเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น รูปร่างคล้ายดอกมะลิ จึงมีชื่อสามัญอื่นว่า night-blooming jasmine หรือ night jasmine นักเดินทางยุคบุกเบิกเมื่อสามร้อยปีก่อน ที่ได้ค้นพบดอกกรรณิการ์ในแถบอินเดีย เรียกกรรณิการ์ว่าต้นเศร้า และกรรณิกาณ์ในอินเดียก็มีอีกชื่อว่า tree of sadness และ tree of sorrow

ชาวฮินดูยกให้กรรณิการ์เป็นไม้มงคล ใช้ในการบูชาเทพเจ้า มักจะปลูกไม้ชนิดนี้ไว้ตามวิหารของเหล่าเทพเจ้า มีกระทั่งตำนานอินเดียเล่าหญิงสาวนางหนึ่ง หลงรักกับพระอาทิตย์ ทว่าถูกพระอาทิตย์ทอดทิ้ง ทำให้หญิงสาวตรอมใจตาย กองขี้เถ้าของเธอได้กลายเป็นต้นไม้ และดอกของต้นไม้จะบานเฉพาะเวลากลางคืน

แม้จะมีคำบอกว่ากรรณิการ์เป็นดอกไม้ของอินเดีย ถึงกระนั้นในตำราบางเล่มกลับแย้งว่า กรรณิการ์เป็นไม้พื้นเมืองจากทวีปอเมริกาใต้ และตำนานไม้กรรณิการ์เรื่องเดียวกันนี้ ยังถูกบันทึกว่าเป็นนิทานโบราณของชนอเมริกันพื้นเมือง ในบ้านเราสันนิฐาษว่ากรรณิการ์จะถูกนำเข้ามาในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือไม่ก็สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามที่เคยปรากฏอยู่ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) ตอนหนึ่งว่า “กรรณิการ์ก้ามสีแสด คิดผ้าแสดติดขลิบนาง”

ส่วน กรรณิการ์ เรื่องนี้ เล่าถึงเหตุการณ์ที่หญิงสาวคนหนึ่งแวะมาร้านกาแฟที่ชื่อ ‘กรรณิการ์’ ได้พูดคุยกับชายหนุ่ม ผู้สืบทอดร้านกาแฟแห่งนี้มาจากพ่อแม่ ระหว่างนั้น ชายหนุ่มก็ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเขา และร้านกาแฟกรรณิการ์ โดยตลอดเวลาที่ทั้งสองคนสนทนากัน หนังทำให้คนดูสัมผัสได้ว่า ชายหนุ่มเจ้าของร้านกาแฟรู้อะไรบางอย่างที่หญิงสาวไม่รู้ พล็อตเรื่องมีกลิ่นของความลับ บรรยากาศไฟสลัวของร้านกาแฟก็ยิ่งเพิ่มความลึกลับคลุมเคลือให้กับตัวหนังมีความน่าสนใจ ชวนให้ติดตามว่าจริงๆ แล้ว ลูกค้าสาวของเขาเป็นใครแน่ และความสัมพันของสองตัวละคร จริงๆ แล้วเป็นยังไง

ตัวหนังดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาของชายหนุ่มเจ้าของร้านกาแฟ และหญิงสาวที่แวะเข้ามาดื่มกาแฟที่ร้านแห่งนี้โดย ‘บังเอิญ’ และฉาก flash back ให้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต ณ ร้านกาแฟแห่งนี้ และใช้เสียง offscreen เป็นเสียงของโฮปเล่าเรื่องของครอบครัวตัวเองสมัยก่อตั้งร้านกาแฟขึ้นมา, เรื่องราวในวัยเด็กของเขา และโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเขา

นอกจากชื่อเรื่อง ตัวหนังยังชูคุณสมบัติเด่นของดอกกรรณิการ์ ให้ปรากฏขึ้นในหนัง ผ่านทั้งการส่งกลิ่นหอมของดอกในเวลากลางคืน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องก็เป็นเวลากลางคืน และโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของโฮป ก็ราวกับการเปรียบเปรยถึงชื่อ tree of sorrow ของกรรณิการ์

แต่กรรณิการ์ที่ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของเม็ดกาแฟสูตรพิเศษของร้าน และยังเป็นชื่อแม่ของโฮป ดังนั้น หากจะทำให้คนดูมองเห็นคำว่ากรรณิการ์เป็นมากกว่าชื่อคนหรือชื่อกาแฟ หนังอาจจะใช้สัญลักษณ์เป็นดอกไม้หรือสีก็จะทำให้เมสเสจหนังครบถ้วนชัดเจนและน่าสนใจขึ้นได้

สกอร์เพลงในเรื่องมีความ Bossa Nova ผสมแจ็ซเบาๆ เหมือนได้พาคนดูเข้าไปนั่งอยู่ในร้านกาแฟจริงๆ บทสนทนาของตัวละครทั้งสองก็ลื่นไหล เสียแต่ว่า ชายหนุ่มเจ้าของร้านกาแฟออกเสียงคำพูดไม่ชัดเจนเท่าไหร่ บางช่วงบางคำจึงฟังค่อนข้างยาก ส่วนฝั่งหญิงสาวนั้น ออกเสียงคำพูดชัดเจนจนแข็งเกินไป ไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร และแม้ช่วงเวลาในหนังจะเกิดในเวลากลางคืน แต่แสงภายในร้านกาแฟดูจะมืดไปซักหน่อย ควรเพิ่มความสว่างอีก 1-2 สเต็ป หรือให้ความสว่างเฉพาะจุดก็จะแก้ได้ ส่วนแสงที่ใช้ในช่วงเวลาปัจจุบัน และช่วงเวลาอดีตของฉาก flash back มีความแตกต่างกันชัดเจนดี แยกได้ง่ายในช่วงที่ตัดสลับภาพ

อย่างในก็ตาม ไม่เพียงแค่กรรณิการ์จะถูกนำมาชูให้อยู่ในทุกอณูของหนังเรื่องนี้ ตัวหนังยังซ่อนการเล่าเรื่องถึง ‘ผู้ป่วยอัลไซเมอร์’ เหมือนกับดอกกรรณิการ์ที่ตัวดอกเป็นสีขาวแต่แอบซ่อนสีแสดส้มไว้ที่โคนดอก

ความจริงแล้วโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ถูกหยิบมาเป็นพล็อตหนังหลายต่อหลายเรื่อง นับตั้งแต่มีการค้นพบโรคนี้ขึ้นมาในวงการแพทย์ อาจจะเป็นเพราะอาการของโรค ที่สามารถนำมาเล่าในเรื่องราวที่ครอบคลุมเนื้อหาทุกแนว ตั้งแต่ซึ้ง เศร้า โศรก ไปจนถึงแนวระทึกขวัญ หรือสยองขวัญจัดๆ อย่าง The Taking of Deborah Loga

หนึ่งในหนังที่หยิบเอาโรคอัลไซเมอร์มาทำ แล้วประสบความสำเร็จ คือเรื่อง Still Alice ตัวหนังที่เล่าถึง อลิส ที่ค่อยๆ ถูกโรคอัลไซเมอร์กลืนกินชีวิตอย่างช้าๆ เริ่มจากการหลงลืมสิ่งเล็กๆ น้อยๆ, ลืมเส้นทาง ไปจนกระทั่งลืมแม้แต่ลูกๆ และตัวตนของตัวเอง แสดงให้เห็นอาการของโรคที่ค่อย ๆ ทำร้ายทั้งตัวอลิสเองและบรรดาคนใกล้ชิดของเธอ

Still Alice ส่งให้ Julianne Moore ได้ชนะรางวัลออสการ์เป็นคร้ังแรกในปี 2015 ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม หลังจากเคยเข้าชิงมาแล้ว 5 ครั้ง

ขณะที่ Still Alice ให้คนดูได้เห็นพัฒนาการของโรคอัลไซเมอร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่อาการของโรคเริ่มปรากฏ กรรณิการ์กลับให้คนดูได้เห็น ‘ปลายทาง’ ของโรคอัลไซเมอร์ ที่ไร้ทางเยียวยารักษาใดๆ เมื่อ กรรณิการ์ หลงลืมทุกสิ่งทุกอย่าง และติดอยู่กับความทรงจำเมื่อครั้งตัวเองยังเป็นเพียงหญิงสาวคนหนึ่ง

ด้วยองค์ประกอบหลักๆ กรรณิการ์ ที่กล่าวไว้ในช่วงต้นนั้น สามารถทำให้จบเรื่องได้อย่างตรึงใจได้ไม่ยาก น่าเสียดายที่หนังกลับเลือกจบแบบหักมุม ด้วยการเฉลยอย่างเรียบง่าย หากเปลี่ยนจากให้โฮปเรียกหญิงสาวว่า ‘แม่’ ออกมาตรงๆ เป็นใช้สิ่งของหรือสัญลักษณ์แทนตัวของ ‘แม่’ แทนคำพูด ก็อาจจะเพิ่มความทรงพลังให้กับฉากจบได้อีกมาก