Auteur Theory : ทฤษฎีแห่ง Super Director!

Auteur คืออะไร?

Bonjour à tous! วันนี้เราทักทายกันแบบชาวปา-ฆี (ก็ปารีสน่ะแหละ) เพราะว่าทฤษฎีที่จะนำเสนอในวันนี้มีรากศัพท์และต้นตอมาจากประเทศฝรั่งเศสนั่นเอง / คำว่า auteur หลายคนอาจอ่านว่า ออ-เธอร์ แบบคำว่า author ซึ่งมีความหมายเดียวกันในภาษาอังกฤษ ทว่าแท้จริงอ่านแบบชาวฝรั่งเศษว่า อุต-เตอ แปลตรงตัวว่า “ผู้เขียน” หรือ “ผู้ประพันธ์” auteur theory จึงถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า “ทฤษฏีประพันธกร” / แล้วทฤษฎีประพันธกรคืออะไร มีกฏเกณฑ์อย่างไร เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับผู้เขียนบทภาพยนตร์ และผู้กำกับทุกคนสามารถพิจารณาว่าเป็น auteur ได้หรือไม่ วันนี้เราจะมาคลายข้อสงสัยเหล่านี้ไปพร้อมกัน

ทฤษฎีประพันธกรคืออะไร?

ทฤษฎีประพันธกร เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าผู้กำกับภาพยนตร์นั้นเป็นทั้งผู้ประพันธ์และหัวใจสำคัญของภาพยนตร์ ผู้กำกับประเภท auteur จะมีส่วนร่วมอยู่ตลอดทั้งกระบวนการสร้างภาพยนตร์ รอยนิ้วมือของเขาจะเปรอะเปื้อนอยู่บนทุกชิ้นส่วนของงานภาพยนตร์ และเมื่อร่องรอยแห่งอัตลักษณ์นั้นได้ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านผลงานและช่วงเวลา เราจึงเรียกมันว่า “ลายเซ็น”
ถึงตรงนี้ คุณคิดถึงชื่อผู้กำกับคนไหนแล้วบ้าง? ชื่อของผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นอย่าง Wes Anderson, Alfred Hitchcock, Tim Burton, Woody Allen, Christopher Nolan, David Lynch, Quentin Tarantino, Guillermo del Toro หรือ Stanley Kubrick อาจเป็นชื่อแรกๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง

ที่มาของทฤษฎีประพันธกร

ก่อนที่เราจะไปกันต่อ ขอย้อนกลับไปราว 70 ปีก่อน ในปี ค.ศ. 1954 ปีเกิดของทฤษฎีกันซักนิด Cahiers du Cinema คือชื่อสิ่งพิมพ์สัญชาติฝรั่งเศสที่ได้ตีพิมพ์แนวคิดของนักวิจารณ์ชาวอเมริกันนามว่า Andrew Sarris โดยเขาได้ระบุถึงกฏ 3 ข้อที่บ่งชี้ถึงความเป็นผู้ประพันธ์ (authorship) อันได้แก่ 1) ความสามารถขั้นพื้นฐานในการกำกับภาพยนตร์ 2) เอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือลายเซ็นที่เด่นชัด และ 3) นัยยะซ่อนเร้นที่สะท้อนบุคลิกภาพของผู้กำกับ ด้วยความหมายที่เปิดกว้างต่อการตีความเช่นนี้เองที่ทำให้ตัวทฤษฎีมีความน่าสนใจ และกระตุ้นเร้าการตีความจากนักทฤษฎีรุ่นใหม่มาจนถึงปัจจุบัน
Auteur & Screenplay Writer ผู้กำกับแนว auteur หลายคนมักควบตำแหน่ง ผู้เขียนบทภาพยนตร์ (screenplay writer) ไปพร้อมกัน ซึ่งทำให้อัตลักษณ์ของผู้กำกับคนนั้น ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับภาพยนตร์ตั้งแต่งานเขียน ทว่าผู้กำกับแนว auteur ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนบทภาพยนตร์ด้วยตนเองเสมอไป เพราะประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์การพิจารณา อีกทั้งทฤษฎีประพันธกรถูกใช้สำหรับผู้กำกับภาพยนตร์เท่านั้น และการกำกับบนบทภาพยนตร์ที่ผู้อื่นเขียนก็เป็นการแสดงถึงสุนทรียะของผู้กำกับผ่านการตีความบทภาพยนตร์ เรียกว่าได้โชว์สกิลกำกับเพียวๆ แบบไม่มีอะไรผสม กล่าวโดยสรุปคือถ้าหากเข้าเกณฑ์ข้างต้นที่ได้กล่าวไป จะเขียนบทภาพยนตร์เองหรือไม่ ก็ไม่เกี่ยงนั่นเอง