15 วิธีโหดมันเฮ ทำ ‘แอนิเมชั่น’ ตอนที่ 1

แบบไหนจึงเรียกว่า ‘แอนิเมชั่น’ ในความหมายที่กว้างที่สุด ถ้าเรามีภาพนิ่งอะไรสักชุดหนึ่งแล้วหาวิธียังไงก็ได้ทำให้มัน ‘ดูเหมือนเคลื่อนไหวต่อเนื่องไปทีละเฟรม’ …นั่นแหละที่เรียกว่า แอนิเมชั่น (animation)

ฉะนั้น คำคำนี้จึงครบคลุมตั้งแต่ ‘สมุดภาพแบบพลิก’ (Flip book – ปีกกระดาษที่เราวาดภาพใส่ลงไปแผ่นละภาพ โดยแต่ละภาพมีความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างท่าทางอย่างต่อเนื่องทีละนิด เมื่อเราจับทั้งปีกมากรีดไล่ดูอย่างรวดเร็วก็จะเห็นภาพลลวงตาราวกับภาพนั้นเคลื่อนไหวได้) ไปจนถึง ‘ภาพยนตร์’ ที่เราคุ้นเคยกันดี (Motion Picture – ใช้หลักการภาพลวงตา / ภาพติดตา เช่นกัน โดยใช้ฟิล์มถ่ายวัตถุนั้นเป็นภาพนิ่งที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ เมื่อน้ำฟิล์มทั้งหมดไปฉายขึ้นจอด้วยความเร็ว 24 ภาพต่อวินาที เราจะเห็นวัตถุนั้นเสมือนเคลื่อนไหวได้)

15 วิธีโหดมันเฮ ทำ ‘แอนิเมชั่น’ ตอนที่ 1

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป เวลาเราพูดถึงแอนิเมชั่น มักไม่ได้หมายรวมหนังประเภทคนแสดงไว้ด้วย แต่มักใช้ภาพประเภทอื่น ๆ ที่เราสร้างขึ้นด้วยเทคนิคต่างๆ สโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ซิมบ้าผู้เดินโตสู่การเป็นเจ้าป่า พ่อปลาการ์ตูน ตะลุยหานีโมลูกน้อย ไอ้หนูท่อจอมซ่าอยากเป็นเซฟ เจ้าหญิงโมโนโนเกะผู้มีจิตวิญญาณยิ่งใหญ่… ‘แอนิเมชั่น’ อาจเป็นคำที่ทำให้เราพลันนึกเห็นภาพเคลื่อนไหวสุดตื่นใจที่อุบัติขึ้นบนจอหนังได้ด้วย เทคนิคหรูหราและฝีมือการวาดแสนตื่นตาเหล่านี้
แต่แอนิเมชั่นในความหมายที่แท้จริงหาได้มีเพียงเท่านั้น และเราก็ไม่จำต้องใช้สกุล ‘ณ ดิสนี่ย์’, ‘ณ พิกซาร์’, ‘ณ จิบลิ’ ฯลฯ เพื่อจะเปิดโอกาสลิ้มลองใช้สองมือสร้างผลงานแอนิเมชั่นที่น่าสนใจเป็นเราเองบ้างหรอกนะ! ด้วยความหมายครอบจักรวาลปานนี้ บอกเป็นนัยว่า เราทำแอนิเมชั่นได้ด้วยวิธีหลากหลาย ‘ฟิ้ว’ จึงขอลองแบ่งเทคนิคออกเป็นกลุ่มง่าย ๆ ราว 15 วิธี พร้อมยกตัวอย่างที่น่าสนใจและท้าทายให้ลองทำตามเป็นที่สุด {หมายเหตุ : ไม่มีข้อจำกัดว่าแอนิเมชั่นแต่ละเรื่องต้องเลือกใช้แค่เทคนิคใดเทคนิคหนึ่งในความเป็นจริงมีหลายเรื่องที่ใช้หลายเทคนิคผสมผสานกันได้อย่างน่าทึ่ง}

1. แอนิเมชั่นแบบดั้งเดิม (Traditional animation)

หรือที่เรามักได้ยินในชื่อ Cel animation ซึ่งหมายถึงการวาดภาพ 2 มิติ ด้วยมือบนแผ่นเซลใสทีละแผ่น แล้วทำไปวางซ้อนบนภาพแบ็คกราวน์ (ซึ่งอาจวาดด้วยมือเหมือนกัน หรือเป็นภาพถ่ายก็ได้) จากนั้นก็ใช้กล้องถ่ายไว้ทีละเฟรมก่อนจะนำไปฉายให้ดูเหมือนเคลื่อนไหวนั่นเอง / ปัจจุบันการวาดบนแผ่นเซลแทบจะสูญพันธ์แล้วเพราะเราวาดลงบนวัสดุอื่นและสแกนเข้าคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง (หรือจะวาดในคอมพ์เลยยังได้) แถมเมื่อแต่งภาพในคอมพ์เสร็จก็พริ้นต์ออกมาเป็นฟิล์มฉายได้ทันที อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเทคโนโลยีจะล้ำแค่ไหน แอนิเมเตอร์ที่เลือกทำแอนิเมชั่นแนวนี้ก็ยังนิยมรักษาสไตล์ของเส้นสาย สีสัน ฯลฯ แบบเดิมเสมอ แอนิเมชั่นดั้งเดิมที่ว่านั้นยังแบ่งออกได้ค่าว ๆ เป็น แอนิเมชั่นเต็มรูปแบบ (Full animation = ใส่รายละเอียดประณีตบรรจง เน้นความสมจริง) และแอนิเมชั่นชนิดลดทอนรายละเอียด (Limited animation = ประหยัดกว่า เน้นความสมจริงน้อยกว่า ดูเป็นการ์ตูนมากกว่า)
(ซ้าย) How’s Moving Castle ตัวอย่าง แอนิเมชั่นแบบ Full ของค่ายจิบลิ / (ขวา) My Neighbors the Yamato’s ผลงานของค่ายจิบลิเช่นกัน แต่เป็นแอนิเมชั่นแบบ Limited ….. (ผู้เขียน SCOOP / หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ฟิ้ว” ฉบับที่ 9 และการตีพิมพ์ใหม่นี้ได้รับอนุญาตจากนิตยสาร “ฟิ้ว” แล้ว)