15 วิธีโหดมันเฮ ทำ ‘แอนิเมชั่น’ ตอนที่ 4 เทคนิคหลากหลายในการทำแอนิเมชั่น

บทความแอนิเมชั่นตอนสุดท้ายนี้ขอเสนอการสร้างสรรค์แอนิเมชั่นที่ใช้เทคนิคอื่นๆ เริ่มต้นกันที่

1. เทคนิคการวาดลงบนฟิล์มโดยตรง (Drawn on film animation หรืออาจเรียกว่า direct animation และ animation without camera – แอนิเมชั่นที่ไม่ต้องใช้กล้องถ่าย) ทำได้ 2 วิธี คือ วาด, ระบายสี, ปั๊มรอย, ติดวัสดุต่างๆ ฯลฯ ลงบนแผ่นฟิล์มเปล่า (ฟิล์มที่ยังไม่ได้ใช้) และขูดขีด, แกะ, เจาะ, โรยเม็ดทราย ฯลฯ ลงบนแผ่นฟิล์มสีดำ (ฟิล์มที่ถ่ายและล้างแล้ว) โดยทำลงบนฟิล์มทีละเฟรมๆ (จะเป็นฟิล์ม 8 มม. 16 มม. หรือ 35 มม. ก็ได้ และทำได้บนทั้งด้านหน้าและหลังของแผ่นฟิล์ม) จากนั้นก็นำไปฉายได้เลย ข้อดีของแอนิเมชั่นประเภทนี้คือประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะทำลงบนฟิล์มโดยตรง ไม่ต้องพึ่งวัตถุอื่นและไม่ต้องใช้กล้อง แถมยังใช้เศษฟิล์มอะไรก็ได้ จึงไม่แปลกที่มันจะเป็นเทคนิคยอดฮิตในหมู่นักเรียนหนังทั่วโลก / นอร์แมน แม็กลาเรน ชอบใช้เทคนิคนี้เช่นกัน งานของเขามีทั้งแอนิเมชั่นแบบเล่าเรื่องและแบบนามธรรม ในรูปนี้คือ Binkity Blank (1955) ซึ่งใช้วิธีแกะรอยบนเนื้อฟิล์ม 35 มม. พล็อตว่าด้วยความสัมพันธ์ของนกตัวหนึ่งกับกรง แม็กลาเรนเชื่อว่าการแกะเนื้อฟิล์มเป็นเทคนิคที่ไม่เหมาะกับแอนิเมชั่นซึ่งมีพล็อตซับซ้อน แต่ความคิดนี้ถูก ปีแยร์ เอแบต์ หักล้างเกลี้ยงในแอนิเมชั่นต่อต้านสงคราม เรื่อง Memories of War (1982)

เทคนิคหลากหลายในการทำแอนิเมชั่น

2. การวาดบนกระจก (Paint-on-glass animation) ทำโดยวาดภาพสีน้ำมันลงไปบนแผ่นกระจก (เหตุที่นิยมใช้สีน้ำมันเพราะแห้งช้าดี) จากนั้นแอนิเมเตอร์ก็วาดแก้ไขเปลี่ยนแปลงภาพนั้นไปเรื่อยๆ แล้วใช้กล้องบันทึกไว้ทีละเฟรม เมื่อนำมาฉายก็จะเห็นภาพเคลื่อนไหวได้โดยสีน้ำมันค่อยๆ หลอมเหลวเข้าหากันและเปลี่ยนเป็นภาพอื่นๆ ไปอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าความยากเข็ญของเทคนิคนี้อยู่ตรงที่เมื่อเราลบหรือแก้ภาพบนกระจกไปแล้วย่อมไม่สามารถทำให้มันกลับมาเหมือนเดิมเป๊ะได้อีก ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนวาดและถ่ายทำอย่างดี เพราะไม่มีสิทธิซ้อมก่อนหรือเทคใหม่ใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ความยากนี้ก็ส่งผลให้งานดูมีความสด มีเอกลักษณ์ และมีชีวิตชีวามากเช่นกัน / ภาพด้านล่าง : The Old Man and the Sea (1999) แอนิเมชั่นสุดงามระดับออสการ์ของ อะเลคชันดร์ เปตรอฟ
3. แอนิเมชั่นเข็ม (Pinscreen animation) เริ่มจากการนำเข็มมาปักบนกรอบสีขาวให้เต็ม แล้วกดทีละเล่มให้เลื่อนสูง-ต่ำตามลักษณะของภาพที่ต้องการ จากนั้นก็จัดแสงให้สาดเข้าทางด้านข้างเพื่อให้เกิดเงาจากแท่งเข็มเหล่านั้นและใช้กล้องถ่ายเก็บไว้ทีละเฟรม เมื่อนำไปฉายก็จะได้ภาพแสงเงาเคลื่อนไหวที่มีเอฟเฟ็คต์แปลกตา เทคนิคนี้คิดค้นโดย อะเล็กซานเดอร์ อะเล็กซีฟ กับแคลร์ พาร์คเกอร์ สองสามีภรรยาแอนิเมเตอร์ที่อยากทำแอนิเมชั่นซึ่งดูมีมิติกว่าเซลแอนิเมชั่นทั่วไป ทั้งคู่มีผลงานแนวนี้เพียง 6 เรื่องตลอดระยะการทำงานกว่า 50 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นได้ดีมากว่า มันเป็นเทคนิคที่ต้องอาศัยใช้ความอุตสาหะขนาดไหน (แต่ปัจจุบัน สามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำแอนิเมชั่นที่ให้อารมณ์ใกล้เคียงแอนิเมชั่นเข็มได้แล้ว) ภาพด้านล่าง The Nose (1963) ผลงานของอะเล็กซีฟกับพาร์คเกอร์ และ Mindscape (1976) ของฌากส์ ดรูนอง (สามารถค้นหารับชมได้บน Youtube)

4. แอนิเมชั่นทราย (Sand animation) อีกเทคนิคที่ต้องอาศัยลูกอึดอย่างใหญ่หลวงของแอนิเมเตอร์ เพราะต้องโรยทรายให้เต็มแผ่นกระจกที่จัดแสงเข้าทางด้านหน้าหรือหลัง จากนั้นใช้มือหรืออุปกรณ์ต่างๆ วาดลวดลายลงบนผืนทรายตามต้องการแล้วใช้กล้องถ่ายทีละเฟรม

5. Multi-sketch (ย่อมาจาก Multimedia Sketch) แอนิเมเตอร์ชื่อ เรนัต ซาร์ไบลอฟ กับ เคนลี่ ดิลลาร์ด คิดค้นเทคนิคนี้ขึ้นเมื่อปี 2005 นี่เอง วิธีคิดหลักของพวกเขาคือ นำเทคนิควาดภาพด้วยมือแบบดั้งเดิมมาผสมดิจิตอล ส่วนวิธีการก็คือการสเก็ตช์ภาพลงไปบนแท็บเล็ตพีซี (Tablet PC – คอมพิวเตอร์แบบพกพาที่สามารถป้อนข้อมูลเข้าไปได้โดยใช้ปากกา) พร้อมๆ กับอัดเสียงบรรยายไปด้วยแบบด้นสดๆ และใช้โปรแกรมแค็ปเจอร์ภาพหน้าจอจัดการแปลงภาพที่วาดนั้นออกมาเป็นไฟล์วิดีโอฟอร์แม็ตต่างๆ / งานที่ได้จะดูสด ไม่เนี้ยบแต่ก็มีชีวิตชีวา แถมยังประหยัดมากเพราะลงทุนซื้อแท็บเล็ตตัวเดียวแต่ไม่ต้องมีกล้องหรือซอฟต์แวร์ทำแอนิเมชั่นแพงๆ ใดๆ ทั้งสิ้น
หมายเหตุ : วิธีข้างต้นนี้ไม่ใช่ทั้งหมดเท่าที่มีในโลกแอนิเมชั่นอันไพศาล ยังมีอีกมากวิธีที่แอนิเมเตอร์ใช้หัวใจและสองมือทดลองกันด้วยความสนุกสนาน คุณเองก็อาจเป็นหนึ่งในผู้สร้างแนวทางใหม่ๆ ได้ตราบใดที่มีความรักและความเข้าใจศาสตร์แอนิเมชั่นอย่างแข็งแรงจ้ะ ……… (ผู้เขียน SCOOP / หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ฟิ้ว” ฉบับที่ 9 และการตีพิมพ์ใหม่นี้ได้รับอนุญาตจากนิตยสาร “ฟิ้ว” แล้ว)