15 วิธีโหดมันเฮ ทำ ‘แอนิเมชั่น’ ตอนที่ 3 Computer animation

ในบทความนี้เราขอชวนมารู้จักกับ แอนิเมชั่นที่ทำด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer animation) แน่นอนว่าแยกเป็นประเภทย่อย ๆ ได้อีกเพียบเช่นกัน...

3.1 แอนิเมชั่น 2 มิติ (2D animation) คือแอนิเมชั่นที่สร้างส่วนประกอบต่างๆ ของภาพและตัดต่อบนคอมพิวเตอร์แบบงานกราฟฟิก 2 มิติ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ทำด้วยโปรแกรมแฟล็ช (Flash animation) หมายถึงโปรแกรม Adobe Flash ซึ่งช่วยให้ทำแอนิเมชั่นได้ง่าย และไฟล์งานก็ไม่ใหญ่โต จึงฮิตมากในหมู่คนทำแอนิเมชั่นที่ต้องการเผยแพร่งานทางอินเตอร์เน็ต (เราเลยมักได้ยินแฟล็ชแอนิเมชั่นในชื่ออื่นๆ อย่าง อินเตอร์เน็ตการ์ตูน, ออนไลน์การ์ตูน, เว็บตูน) แต่เทคนิคนี้มีข้อจำกัดตรงที่มักได้งานซึ่งดูไม่ค่อยประณีต ใครอยากใช้ควรศึกษาพื้นฐานการเคลื่อนไหวของแอนิเมชั่นและใส่ใจกับการลงรายละเอียดของภาพให้มากเป็นพิเศษ ตัวอย่างแฟล็ชแอนิเมชั่นจากเว็บไซต์ www.homestarrunner.com หรือ ทำด้วยโปรแกรมพาวเวอร์พอยต์ (PowerPoint animation)

หือ? พาวเวอร์พอยต์ของไมโครซอฟต์เนี่ยนะทำแอนิเมชั่นได้?....

ใช่เลย! สำหรับคนที่ยังไม่เคยลอง เชื่อหรือไม่ว่ามีแอนิเมเตอร์มากมายใช้โปรแกรมนี้ทำหนังและเกมกันมาแล้ว! ปกติ เราใช้โปรแกรมพาวเวอร์พอยต์ในการเสนอสไลด์รายงานที่ประกอบด้วยข้อมูลหลายๆ หน้า โดยสามารถสั่งให้สไลด์นั้น “เคลื่อนไหว” (animate) ทีละหน้าต่อเนื่องกันไปได้ ฉะนั้น จึงมีคนหัวใสนำคุณสมบัตินี้มาใช้ร่วมกับคำสั่งอื่นๆ ในตัวโปรแกรม เช่น เอฟเฟ็คต์ Custom Animation, Animation Trigger, Visual Basic for Applications (VBA) ฯลฯ ก็จะขยับรูปวาดหรือเส้นสายให้เคลื่อนไหวได้ หรือจะทำแอนิเมชั่นเป็นเรื่องๆ ก็ยังได้ โดยวาดรูปง่ายๆ ลงไปบนแผ่นสไลด์ทีละแผ่น คล้ายๆ วิธีของ Cel animation แล้วเพิ่มความน่าสนใจด้วยการใส่เอฟเฟ็คต์และเสียง จากนั้นก็สั่ง Slide Show ให้โปรแกรมฉายสไลด์ทั้งชุดต่อเนื่องกันไปโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของแอนิเมชั่นแบบนี้ก็คือ หน้าตาของงานย่อมไม่ดูหลากหลายเท่าแอนิเมชั่นทั่วไป และยังต้องอาศัยเวลากับแรงงานมหาศาลอีกต่างหาก ประมาณกันว่าแอนิเมชั่นพาวเวอร์พอยต์ยาวแค่ 1 นาทีอาจใช้เวลาทำงานถึง 1 เดือนเต็มเลยทีเดียว (ภาพด้านล่าง : คำสั่งเอฟเฟ็คต์ Custom Animation ใน PowerPoint) (ฉากต่อสู้ใน Shadow Fighter: The Movie แอนิเมชั่นขนาดสั้นที่ทำด้วยพาวเวอร์พอยต์)

3.2 แอนิเมชั่น 3 มิติ (3D animation)

หมายถึงแอนิเมชั่นที่ทำด้วยคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมที่ทำให้ภาพดูมี 3 มิติสมจริง ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ความรู้และทักษะด้านซอฟต์แวร์มากเป็นพิเศษ เราจึงไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ หนึ่งในเจ้าพ่อแอนิเมชั่น 3 มิติของโลก นาทีนี้คือ ค่ายพิกซาร์…ในรูปนี้คือผลงานของพวกเขาเรื่อง The Incredibles
(ผู้เขียน SCOOP / หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ฟิ้ว” ฉบับที่ 9 และการตีพิมพ์ใหม่นี้ได้รับอนุญาตจากนิตยสาร “ฟิ้ว” แล้ว)