อาการทางจิตที่มักพบได้ในโลกภาพยนตร์ ตอนที่ 2 โรคซึมเศร้า

โรคประสาทซึมเศร้าในโลกภาพยนตร์

ในบทความนี้เราจะพูดถึงอีกหนึ่งอาการที่มักพบเห็นบ่อยในตัวละครโลกภาพยนตร์ คือ โรคประสาทซึมเศร้า (Depressive Neurosis) องค์การอนามัยโลกเคยคาดการณ์ว่า ในไม่ช้าทั่วโลกจะมีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า 154 ล้านคน! โดยในจำนวนนี้จะมีคนไทยร่วมด้วย 12 ล้านคน ในขณะที่ธนาคารโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้มีผลการวิจัยออกมาว่า โรคซึมเศร้ากำลังจะเป็นปัญหาแก่มนุษยชาติ โดยจะตีคู่สูสีกับปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจที่กำลังอยู่ในอันดับที่ 1

ผมมาลาสเวกัสก็เพื่อมาดื่มๆๆๆ แล้วจะได้ตายๆๆๆๆไปเลย

“เสียงน้ำตกมันดังเหมือนโกรธใครมา เหมือนคนที่โกรธใครๆ แล้วคิดจะฆ่าตัวตาย ถ้าฉันจะตาย ฉันจะมาที่นี่” (รสรำพันกับพีท เมื่อยืนอยู่หน้าน้ำตก ภาพยนตร์เรื่อง “ความรักครั้งสุดท้าย”) หรือหากเราเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Living Las Vegas ก็คงจำเซร่าได้ “ฉันอยากรู้ทำไมคุณถึงกลายเป็นไอ้ขี้เมา?” เบน “ไม่รู้ มันจำไม่ได้ จำได้แต่ว่า ผมมาลาสเวกัสก็เพื่อมาดื่มๆๆๆ แล้วจะได้ตายๆๆๆๆไปเลย” อีกฟากหนึ่ง ยกไจ๋ “นกไร้ขา มันได้แต่บิน และ บิน เหนื่อยก็นอนในสายลมในชีวิตจะลงดินก็เพียงครั้งเดียว คือเมื่อถึงวันตาย” (ยกไจ๋ กับการดำเนินชีวิต ที่ทำลายตัวเองโดยไม่รู้ตัวใน Days of being wild) “ผมเดินมาจนสุดทางแล้วที่รัก วันเหลือเพียงภาพมายา ผมอยากตายตามคุณไป ที่รัก” (หนุ่มโจอี้คร่ำครวญถึงสาวคนรักที่ตายจาก ใน Dead Leaves)
“ผู้ป่วยสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เธอเสียใจและซึมมาก บ่นบ่อยๆว่าตนเองไร้ค่า เป็นภาระแก่ครอบครัวตลอดมา ต่อมาผู้ป่วยได้ซื้อยานอนหลับมาสะสมทีละ 5-10 เม็ด” (กรณีตัวอย่างของคนไข้โรคซึมเศร้า ที่เสียชีวิตเพราะการฆ่าตัวตาย) คำพูดและเหตุการณ์ข้างต้นนี้ทั้งหมด คือการส่ง “สัญญาณ -ฆ่าตัวตาย”ของผู้ที่ป่วยด้วยโรคประสาทซึมเศร้า ที่ผู้ดูแลจะต้องใกล้ชิดเอาใจใส่อย่างยิ่ง

อะไรอยู่ภายในใจของคนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ?

อะไรอยู่ภายในใจของคนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ? เบื่อ เซ็ง ท้อบ่อยๆอย่างไร้เหตุผล รู้สึกคุณค่าของตน Self-esteem) ลดลง รู้สึกผิดบาปและนึกดูถูกตำหนิตนเองเสมอๆ เกิดอารมณ์เศร้าบ่อยๆบางครั้งก็รุนแรง เบื่อโลก ความคิดอยากตายมักผุดขึ้นมาบ่อยๆ “ก่อนฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยมักเกิดความหดหู่และเศร้า และระลึกถึงอดีตได้อย่างคลุมเครือและแบเหมารวม คือแยกแยะรายละเอียดได้ไม่ชัด การทบทวนความหลังเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า อดีตที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นมันช่างไร้ค่าและน่าเศร้าอย่างเป็นที่สุด ฉะนั้นไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้วที่จะมีชีวิตอยู่” – ศาสตราจารย์มาร์ค วิลเลียม ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านจิตวิทยาคลินิก
การรักษาทำอย่างไร ? ในยุคนี้ในการรักษาโรคซึมเศร้าจัดได้ว่า มีประสิทธิภาพกว่าเดิมมาก ทั้งในเรื่องของยาต้านเศร้า ควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด และคุณหมอมักแนะนำให้คนไข้ ให้ขยันหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อคลายเครียดคลายเศร้าและสดชื่นแจ่มใสทั้งกายและใจ ขอให้เอาใจใส่ดูแลตนเองและคนใกล้ชิดให้ดีนะครับ เพราะโรคซึมเศร้าหากปล่อยปละละเลย ไม่ทำความเข้าใจ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โอกาสที่ผู้ป่วยจะทรุดลงและฆ่าตัวตายมีสูงถึงเกือบ 20 %