“การจะพัฒนาคนทำหนังให้ดีอย่างยั่งยืน การที่จะพัฒนาคนดูให้มีรสนิยมแล้วก็มีเงินด้วย การที่จะพัฒนาโรงหนัง การออกกฎให้โรงหนังลดการทำการค้า และทำประโยชน์ มันต้องเป็นนโยบายใหญ่ที่มีภาครัฐลงมาทำ”
ปัญหาคนเข้าโรงหนังน้อยลง เป็นปัญหาของทั้งโลกไม่ใช่เฉพาะแค่ที่ไทย โควิดระบาดกับหนังสตรีมมิ่งได้เปลี่ยนพฤติกรรมการดูหนังทั่วโลก ยุคนี้ยังมีหนังที่ฟลุ๊คทำเงินได้มหาศาลก็จริงอยู่ แต่ที่ฟุ๊บไปเลยก็เยอะ อย่างบ้านเราหนังที่ได้ร้อยล้านไม่ได้มีทุกปี แต่ที่เจ๊งก็เจ๊งหนักกว่าเมื่อก่อน
มีคนทำหนังเมืองนอกบอกมาว่าตอนนี้ตลาดหนังไทยไม่น่าเล่นเลย คนไทยไม่ดูหนังแล้ว ยิ่งวันนี้ถ้าเด็กสิบขวบไม่เข้าโรงหนัง พออายุสิบห้าเขาก็ไม่เข้า พอยี่สิบเขาก็จะไม่เข้า เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า
ไลฟ์สไตล์ของคนเราเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ไม่มีใครนัดเพื่อนไปดูหนังกันแล้ว ยิ่งหนังไทยที่กลุ่มคนดูน้อยอยู่แล้ว ทุกวันนี้ลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพที่ ส่วนกลุ่มคนที่เคยทําหนังก็จะทำหนังเพื่อลงในสตรีมมิ่ง เพราะเห็นว่าทำหนังฉายโรงมันแบกความเสี่ยงเยอะมาก แล้วยังต้องนั่งลุ้นอีกว่ามันจะได้เงินเท่าไหร่ หรือไม่ก็ไปทําละครทีวีแล้วรับค่าจ้างรับเป็นค่าตัว นานๆจะมีหนังอย่าง “ฉลาดเกมโกง” ที่โกอินเตอร์ มีคนเมืองนอกซื้อไปฉาย หรือ “Hunger” ฉายใน Netflix ฝรั่งถามเลยว่าใครเป็นคนกํากับ จริง ๆ แล้วมีคนไทยที่ไปทำงานอยู่ในกองถ่ายต่างประเทศก็มีไม่น้อย
เชื่อว่าหนังไทยจะยังอยู่ แต่ช่องทางอาจจะไม่ใช่การเข้าโรงหนังเหมือนแต่ก่อน หนังไทยที่เมืองนอกซื้อไปฉายก็มีแต่มันยังน้อย ที่ผ่านมาก็มี “ซีรี่ย์ วัยรุ่นวาย”
พวกเรามักชอบพูดถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ด้วยความชื่นชม แต่ถ้าเราถอดโครงสร้างว่ารัฐบาลเกาหลีเขาทำอะไรบ้างถึงได้รุ่งเรืองขนาดนี้ ซึ่งเราจะพบว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้พัฒนาวงการหนังแค่ด้านเดียว แต่ เขาพัฒนาไปทั้งองคาพยพ ลักษณะเป็นสามเหลี่ยมใหญ่ นั่นคือทั้งคนทํางาน คนทําหนัง คนดูหนัง แล้วก็ตัวโรงหนัง
ถามว่ารัฐบาลทําอะไรกับคนทําหนังเกาหลีบ้าง สิ่งที่เขาทําคือสร้างคนทําหนังให้เก่ง ตั้งแต่คุณภาพของมหาวิทยาลัยที่สอนภาพยนตร์ สร้างระบบไม่ให้คนเรียนหนังจบแล้วต้องตกงาน ทำให้นักศึกษาสบายใจมั่นใจ หรืออย่างการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เด็ก ๆ พร้อมในการเรียนศิลปะ ส่งเสริมให้จัดงานเทศกาลหนัง ให้มีโรงหนังเล็ก ๆ ในชุมชน นอกจากส่งเสริมให้คนเกาหลีมีรสนิยม แล้วก็ยังสร้างเศรษฐกิจให้ดี ผู้คนจะได้มีเงินใช้จ่ายเพื่อการดูหนังหรือเสพศิลป์ต่าง ๆ
นอกจากนั้นเขายังสร้างบรรยากาศของรอบ ๆ บริเวณโรงหนังให้เป็นพื้นที่ของชุมชน ให้มาเสวนาในเรื่องหนังกัน ไม่ใช่แค่เป็นที่ซื้อป๊อบคอร์น มีการจัดนิทรรศการ บางครั้งมีการลดค่าตั๋วหนังเพื่อสนับสนุนให้คนมาดูหนัง มีโรงหนังท้องถิ่นเป็นที่รองรับคนดูที่พลาดดูหนังในโรงใหญ่ในเมืองที่ออกไปแล้ว ขนาดที่ว่าวันนี้ดูไม่ทันเดือนหน้าก็ยังมีฉายอยู่ให้ได้ดู
รัฐบาลเกาหลีเขาเปรียบโรงหนังว่า มันเป็นธุรกิจก็จริง แต่มันคือโรงเรียนที่เป็นโรงมหรสพที่ให้ทั้งความบันเทิง ความรู้และสอนใจชาวบ้าน แล้วยังเปรียบเหมือนวัด อันเป็นแหล่งรวมจิตใจของผู้คนในชุมชน