มนุษย์ไม้เลื้อย จิตวิทยาตัวละครที่พบบ่อยในโลกภาพยนตร์

มนุษย์ไม้เลื้อยคืออะไร ?

“จริงอยู่ที่เราทุกคนต้องมีความต้องการพึ่งพาผู้อื่นด้วยกันทั้งสิ้น แต่จะอยู่ในระดับมากน้อยเพียงใดนั้น ก็แล้วแต่บุคคลและเหตุการณ์ แต่ยังมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาจะพึ่งพาผู้อื่นมากจนเกินปกติ ทำให้เขาเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิต และในหลายๆกรณี เขามักแสดงในรูปแบบที่ตรงข้ามซ่อนเร้น และเข้าใจยาก” อาจารย์ สุวนีย์ เกี่ยวกิ่งแก้ว ภาควิชาพยาบาลจิตเวช ม.เชียงใหม่ / เหอเป่าหวัง (เลสลี่จาง) ในภาพยนตร์ Happy Together (1997) กำกับโดยหว่องกาไว เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจของผู้ที่มีบุคลิกแบบ “ไม้เลื้อย” (Dependency or hopeless character) ที่คอยโอนเอนเข้าหาไม้หลักเพื่อเกาะเกี่ยวผูกพัน จริงๆ แล้วไหลเยิ่วฟา (เหลียงเฉาเว่ย) ก็ยินดีที่จะเป็นไม้หลักให้พึ่งพิง แต่คุณเหอก็ช่างพันพัวนัวเนียและพึ่งพาเขาในทุกๆ เรื่อง (Morbid Dependency) กระทั่งเริ่มรู้สึกว่าตนเองเหมือนขี้ข้ายิ่งขึ้นทุกวัน หนำซ้ำเหอยังกลับประพฤติตัวคบกับคนไม่เลือกหน้า เหมือนการพยายามแสวงหาอิสรภาพอย่างไร้สติ จึงกลายเป็นการทำลายตนเองอย่างไม่รู้ตัว และผลที่ตามมาก็คือ ไหลเยิ่วฟาสุดจะทนต่อไปไหว กระทั่งเผ่นแน่บหนีไปอย่างไม่ใยดี ปล่อยให้เหอนอนคร่ำครวญอย่างทุกข์ทรมาน

ภาวะมืดแปดด้านท้อแท้สิ้นหวัง หมดปัญญาจะจัดการใดๆกับชีวิต

นี่คือคนที่ตกอยู่ในภาวะมืดแปดด้านท้อแท้สิ้นหวัง หมดปัญญาจะจัดการใดๆกับชีวิตของตน(helplessness) แต่บางรายกลับแสดงออกอย่างตรงข้ามสุดขั้ว (Reaction formation) กลายเป็นคนก้าวร้าวรุนแรง ต่อต้านสังคม หรือเบี่ยงเบนไปในทางสำส่อนทางเพศ และที่พบบ่อยๆ คือ กลายเป็นคนติดเหล้าหรือติดยาเสพติดจนงอมแงม (Alcoholism and Addiction) ที่เสพติดเหล้าหรือยานั้นเพราะเขาเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยลด หรือลืมความกลัวที่ว่า “ไม่มีใครต้องการแก” (Unfulfilled Dependency Need) ดังนั้นเหล้าหรือยาก็คือ สัญลักษณ์ (Symbolization) ของความไว้ใจได้ และพึ่งพิงได้ (ดื่มเมื่อใด ก็เมาได้เมื่อนั้น) แม้ว่ายิ่งดื่มยิ่งทรุดทั้งร่างกายและจิตใจ ยิ่งรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าชิงชังตนเองมากขึ้น ก็ยิ่งต้องดื่มต้องเสพให้มากๆขึ้นเพื่อให้ลืมความรู้สึกเลวร้ายนั้น กลายเป็นวงจรหายนะ ที่มักจะสิ้นสุดที่การสิ้นใจตายคาขวดเหล้า
หลายๆ ท่านคงจำ Ben (นิโคลาส เคจ) จากภาพยนตร์ Living Las Vegas หนุ่มใหญ่ที่มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าโลกถีบทิ้งให้เขาอยู่ข้างหลัง จึงแก้ปัญหาทุกอย่างในชีวิตด้วยการดวดเหล้า กระทั่งลูกเมียทิ้งเพื่อนฝูงหน่าย และ เจ้านายไล่ออก การสูญเสียทุกอย่างในชีวิตก็ยิ่งทำให้เขาประชดตัวเองด้วยการดื่มหนักขึ้น และจบชีวิตด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง / บุคคลเช่น Ben หรือ เหอเป่าหวังนั้น มักมีพื้นฐานขาดแคลนความรักความเอาใจใส่มาตั้งแต่วัยเยาว์ หลายๆรายต้องพลัดพรากจากแม่มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก หนำซ้ำยังขาดไร้ผู้ใหญ่ที่จะให้ความรักความใกล้ชิดทดแทน ชีวิตจึงเหมือนน้ำพร่องแก้วจนเติบใหญ่ หรือแม้แต่ มีพ่อมีแม่ครบ แต่ลูกกลับไม่เคยได้สัมผัสถึงความรักความอบอุ่นและความจริงใจที่คนเป็นพ่อเป็นแม่พึงต้องมีให้ นอกจากการใช้อำนาจกดขี่ หรือ มีเงื่อนไขกับลูกสารพัด ( จะรู้สึกรักลูกก็ต่อเมื่อ ลูกเรียนเก่ง ลูกช่วยทำงานบ้าน ลูกทำตามใจพ่อแม่ ซึ่งมักจะพบในพ่อแม่ประเภทขาดไร้วุฒิภาวะ (Immature Parent)

เมื่อการเป็นบุคคล "ไม้เลื้อย" ยิ่งทำให้ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างเหลือเกิน

พ่อแม่ที่เอาใจใส่ลูกอย่างสุดๆ ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา กรณีตัวอย่างที่น่าศึกษาก็เช่น นายพร (อนันต์ บุนนาค) ใน “ลมหายใจ สายน้ำ และความรัก” หนังไทยปี 2546 หนุ่มไม่เอาถ่านที่สร้างตำนานรักแห่งคุ้งน้ำ เขาเกิดมา เพื่อรอรัก “น้อย”ญาติผู้น้อง ไม่ว่าเธอจะผ่านชายมาแล้วเท่าไหร่ เขาก็เฝ้าแต่รัก และรักกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต พร้อมกับขวดเหล้า การยึดความรักเป็นสรณะแม้จะทุกข์ทรมาน แต่กลับทำให้ชีวิตของพรดีขึ้นทุกครั้งที่มีความหวัง และสมหวัง ยิ่งช่วงหลังที่เขาได้ครองรักกับน้อยถึง 5 ปี ทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจ หน้าที่การงานของเขารุ่งขึ้น รุ่งขึ้น จนพ่อแม่ปลี้มใจอย่างที่เคยเป็นมาก่อน แต่แล้วจู่ๆ ผัวเก่าของน้อยก็มาขอทวงเมียคืน พรจึงได้รู้ (ยอมรับความจริง) ว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ในความรู้สึกของน้อยยอดดวงใจของเขานั้น รักเขาเช่นเดียวกับน้องสาวที่มีต่อพี่ชายแท้ๆเท่านั้น ดังนั้นหลังจากวันนั้นเขาจึงทิ้งตัวเองลงไปในขวดเหล้า และไม่ขอเป็นผู้เป็นคนอีกต่อไป / บุคคลประเภทไม้เลื้อยนั้น แม้จะมีความรักที่สมหวัง รักกันอย่างดูดดื่ม ไม่มีอะไรมาพรากจากกันได้นอกจากความตาย นั่นกลับทำให้เขายิ่งตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างเหลือเกิน / หากเขายึดเอาคนรักเป็นแหล่งที่พึ่งพิงทางใจอย่างเข้มข้น (Highly Narcissistic or highly dependent) และ เพราะหากวันหนึ่งคนรักเกิดมีอันเป็นไป หลักยึดนี้ล้มครืนลงวันใด โอกาสที่เขาจะล้มตามจึงมีแนวโน้มสูง เช่น Dead Leaves หนังเล็กๆ แสนหม่นหมองเศร้าสร้อย แต่งดงามเหลือเกิน (จากฝีมือการเขียนบท และ กำกับของคอนสแตนติน เวอร์เนอร์) ลอร่า ที่จู่ๆ ก็ล้มหัวฟาดพื้นตาย ทิ้งให้หนุ่มโจอี้กลายเป็นโรคประสาทซึมเศร้า และมีความคิดว่า แม้ลอร่าจะสิ้นลม แต่ร่างของเธอก็ยังอยู่ ยังไม่ได้หายไปไหน เขาจึงรีบนำร่างไร้วิญญาณนั้นห่อด้วยผ้าปูเตียง แล้วแบกเดินหนีลงมาทางบันไดหนีไฟ แล้วแบกขึ้น รถขับพาไปตระเวนที่ไหนต่อไหน แบกขึ้นแบกลงไปพักตามที่ต่างๆ จนศพเริ่มจะบวมเป่งเน่าเปื่อย เขาก็ยังรักยังหลงของเขาอยู่อย่างนั้น อย่างไม่ยอมปล่อยวางใดๆทั้งสิ้น
ในกรณีของโจอี้ที่ติดทั้งยาและเหล้า (Alcoholism – Addiction)ก็ได้สะท้อนให้เห็นอยู่แล้วว่า เขาโหยหาความรักความผูกพัน และต้องการที่พึ่งพิงทางใจมากเพียงใด การติดยา-เหล้า และคนรัก คือการลดความหวาดกังวลจากความว้าเหว่และซึมเศร้า เหมือนเด็กน้อยที่โดนทอดทิ้ง (โรคร้ายคร่าชีวิตพ่อแม่ ทำให้โจอี้ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวตั้งแต่เด็ก) / ซึ่งอาจจะมีปูมหลังต่างจากตาพร ในลมหายใจ สายน้ำ และความรัก ที่พ่อแม่รักดังหัวแก้วหัวแหวน (พ่อแม่มีอันจะกิน มีลูกชายเพียงคนเดียว) เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน มดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม จูบจอมถนอมเกล้าจนทำอะไรก็ไม่เป็น เรียกได้ว่า Over Protect จนกลายเป็น Over dependent ไปเลย ก็คงเช่นเดียวกับ เบน (ดัสติน ฮอฟแมน) ใน The Graduate ที่พ่อแม่ตีกรอบให้ทุกอย่าง เขาเองก็พยายามแหกกรอบนั้น แต่ในที่สุดก็พาตัวเองไปสยบต่ออำนาจใหม่(คุณนายโรบินสัน) ซึ่งไม่ผิดกับการหนีขอนไม้ แต่ดันไปพึ่งพิงนกกะสา เพื่อกลายเป็นเหยื่อที่โดนเคี้ยวกินอย่างเอร็ดอร่อย / ทั้งตาพร และ เบน ล้วนมีพ่อแม่ประเภท Dominating Parents ที่รักมาก(หลงมาก)จนปรนนิบัติให้ทุกอย่าง ลูกจึงลำบากไม่เป็น ไม่กล้าเผชิญปัญหาใดๆ ตัดสินใจเองไม่ถูก มีพัฒนาการไม่สมวัย อารมณ์และจิตใจเกิดการชะงักงัน มีความเชื่อมั่นนับถือตนเองต่ำ ( Low self-esteem) หลายรายเกิดความรู้สึกผิดแต่แก้ปัญหาไม่เป็นซะอีก เลยกลายเป็นพฤติกรรมซับซ้อนซ่อนเร้น หาโรคหาภัยใส่ตัว และ ทำชีวิตพังครืนอย่างคาดไม่ถึง (ผู้เขียน This is life)