ปรมาจารย์ชี้แนะศาสตร์แห่งการแสดง

มารู้จักคำพูดเด็ดจากปรมาจารย์ด้านการแสดง

บทความนี้ขอรวบรวมคำพูดเด็ดจากปรมาจารย์ด้านการแสดงมาชวนรู้จักกัน เริ่มต้นกันที่ Konstantin Stanislavski (1863-1938) ผู้ได้รับสมญา Father of Psychological Realism in Acting นักแสดง ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างละครเวทีชาวรัสเซีย เจ้าของทฤษฏีการแสดงระบบ Stanislavski ซึ่งเขาเคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “นักแสดงที่ล้าหลังคือ นักแสดงที่คิดแค่ว่าตนเองนั้นมีฝีมือการแสดงสุดยอดอยู่แล้ว” “ทุกคนในฉากคือบุคคลสำคัญที่เสริมส่งต่อกัน ดังนั้นทุกคนจึงล้วนมีความสำคัญ” “สร้างสรรค์ความรู้สึกให้สมจริงต่อผู้ร่วมแสดง แล้วความรู้สึกจริงๆจะเกิดขึ้นมาเองในการแสดง” “ระหว่างกำลังร่วมแสดงอยู่ในฉากที่เราไม่มีบทพูด จงอย่าเผลอเหม่อจนหลุดลอย แต่ต้องมี Reactionไปด้วย (ฟังและรู้สึกไปด้วย)”

อาจารย์ฉลวย ศรีรัตนา อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอาวุโส

“การแสดงคือ จินตนาการบวกศิลปะอย่างมีอารมณ์ มีชีวิตชีวา ที่ถ่ายทอดบทบาทการแสดงไปสู่จิตใจของผู้ชมให้เกิดอารมณ์ร่วม” “นักแสดงต้องรู้จักตัวละครของตนอย่างลึกซึ้ง รู้ว่าภูมิหลังและจุดมุ่งหมายในชีวิตคืออะไร” “นักแสดงต้องเข้าใจว่าความรู้สึกจะเกิดขึ้นก่อนอารมณ์ ความรู้สึกคือการเปลี่ยนไปของภาวะจิตใจ จากความรู้สึกหนึ่งไปสู่อีกความรู้สึกหนึ่ง นักแสดงจึงต้องมีอารมณ์ที่ฉับไว (Sensitive) พอที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งสีหน้า แววตา ท่าทาง” “การอ่านบทอย่างพินิจพิเคราะห์ทุกตัวอักษรจะช่วยสร้างจินตนาการได้คมชัดขึ้น”
อาจารย์ถาวร สุวรรณ อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอาวุโส “นักแสดงจะต้องเป็นผู้มีมารยาท มารยาทของนักแสดงคือ ตรงต่อเวลา เตรียมตัวมาให้พร้อม ซักซ้อมมาอย่างดี เชื่อฟังและไม่ก้าวก่ายหน้าที่ผู้กำกับ เสนอความเห็นได้นอกเวลาการถ่ายทำภาพยนตร์ ไม่ต้องไปสอนผู้แสดงคนอื่น และ ปฏิบัติตามกฎของสตูดิโอนั้นๆ” / อาจารย์กำธร สุวรรณปิยะศิริ อดีตพระเอกโทรทัศน์ นักพากย์ภาพยนตร์ และนักแสดงอาวุโส เชื่อว่า “ซ้อมการแสดง” คือสิ่งที่นักแสดงจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คุณจะต้อง Dry Rehearsal หรือ ซ้อมแห้ง นั่นคือซ้อมการแสดงโดยไม่ได้ถ่ายทำ, Camera Rehearsal หรือซ้อมต่อหน้ากล้อง ,Make up Rehearsal หรือ ซ้อมโดยแต่งหน้าแล้ว ,Dress Rehearsal หรือ ซ้อมโดยแต่งตัวแล้ว และ Final Rehearsal หรือ ซ้อมครั้งสุดท้ายก่อนถ่ายทำจริง

ศ.ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์ (ศาสตราจารย์กิติคุณ สาขานาฎศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

กล่าวไว้ว่า “สิ่งที่นักแสดงต้องใส่ใจคือ สำนวน –สำเนียง –ท่าทาง นั่นคือ พูดออกมาด้วยความรู้สึกหรือเจตนาใด การพูดออกมาด้วยความรู้สึกหรือเจตนาที่แตกต่างกัน คนดูจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกหรือเจตนาที่แท้จริงนั้น เช่น พูดกับอีกฝ่ายว่า ‘น่ารัก’ ด้วยอารมณ์ใดในขณะนั้น รัก เมตตา จริงใจ หรือ อิจฉา ประชด แปลกใจ หรือ เห็นขำ”
อาจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ เรื่องนวลฉวี ซีอุย แซ่อึ้ง สายน้ำไม่ไหลกลับ คู่กรรม2 ฯลฯ (จากหนังสือการกำกับและการแสดงภาพยนตร์ สนพ.ฟิล์มเฮาส์) “เป็นสิ่งจำเป็นที่นักแสดงจะต้องเชื่อในสิ่งที่ตนเองกระทำ และถือเป็นหน้าที่แรกที่จะต้องรับผิดชอบต่อผู้ชน เพื่อชักนำให้เกิดศรัทธาในบทบาทการแสดงของตน ความเชื่อถือดังกล่าวคือ เช่น จะไม่แกล้งทำว่าขาของตนเป็นเหน็บชา นักแสดงต้องเชื่อว่าขาของตนเป็นเหน็บชาจริงๆ โดยผ่านท่าทางการกระทำกับความรู้สึกเหน็บชาที่กล้ามเนื้อ” / “มนุษย์เราทุกคนจะมีความรู้สึกฝังใจกับอารมณ์เก่าอยู่มากมาย และพร้อมที่จะรับการกระตุ้นและนำออกมาใช้ ในฐานะนักแสดงควรรู้จักควบคุม หาประโยชน์จากความรู้สึกเหล่านี้ และควรรู้จักประยุกต์ให้เข้ากับงานด้านการแสดง กล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาจากความทรงจำแห่งประสบการณ์ในอดีต”