ทำความรู้จักมุมกล้องในการถ่ายทำภาพยนตร์แต่ละประเภท

นอกจากภาพที่สวยงามแล้วต้องการสื่อสารอะไรกับผู้ชม?

ในมุมผู้ชมภาพยนตร์คือเรื่องราวบนแผ่นฟิล์มที่ไหลลื่นไปเรื่อยๆ เฟรมต่อเฟรม จากจุดเริ่มต้นไปถึงตอนจบ อย่างไรก็ตามหากพลิกมุมมองจากผู้ชมเป็นผู้เล่าเรื่อง กว่าที่ภาพจะเคลื่อนจากเฟรมหนึ่งไปอีกเฟรมหนึ่งต้องผ่านขั้นตอนวิธีคิดที่สลับซับซ้อนและพิถีพิถัน โดยเฉพาะเรื่องมุมกล้อง มุมกล้องไม่ได้ทำหน้าที่แค่ให้ภาพออกมาสวยงามเท่านั้น เพราะแท้จริงมันแฝงไปด้วยเหตุผลของนักเล่าเรื่องว่าที่ในฉากนี้เลือกใช้มุมกล้องนี้เพราะอะไร มีข้อความอะไรที่อยากสื่อสารกับผู้ชม ด้วยเหตุนี้ในการถ่ายทำภาพยนตร์แต่ละเรื่องจึงเต็มไปด้วยมุมกล้องมากมายหลายประเภท ซึ่งในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

รู้จักกับมุมกล้องแบบ Normal Angle Shot, High Angle Shot, Low Angle Shot และOver Shoulder Shot

Normal Angle Shot เรียกได้ว่าเป็นมุมกล้องยอดนิยมที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในภาพยนตร์แทบทุกเรื่องก็ว่าได้ โดย Normal Angle Shot คือมุมกล้องที่อยู่ในระดับสายตาตัวละคร ที่ผู้ชมจะเห็นใบหน้าตัวละครในระดับสายตา โดยปกติมักใช้กล้องสูงระดับหน้าอก ซึ่งเรียกว่า Chest High Camera Angle ในการถ่ายทำ การใช้มุมกล้องประเภทนี้จะทำให้ผู้ชมรู้สึกมีความเท่าเทียมกับตัวละคร ไม่สูงกว่าหรือด้อยกว่า เปิดกว้างให้ผู้ชมตีความฉากนั้นๆ ได้อย่างอิสระ High Angle Shot เป็นอีกหนึ่งมุมที่เห็นได้บ่อยเช่นกัน ซึ่งก็ตามชื่อ High Angle Shot โดยมุมนี้กล้องจะอยู่ด้านบนหรือวางไว้บนเครน ทำมุมประมาณ 45 องศา แล้วถ่ายกดลงมาที่ตัวละคร จึงเรียกสั้นๆ ว่า ‘มุมกด’ โดยส่วนใหญ่ที่นักเล่าเรื่องเลือกใช้มุมกล้องประเภทนี้เพราะต้องการสื่อสารให้ผู้ชมรู้สึกว่าตัวละครรู้สึกตกต่ำ สูญเสียศักดิ์ศรี พ่ายแพ้ หรือเพื่อเผยให้เห็นลักษณะภูมิประเทศหรือความกว้างใหญ่ไพศาลของภูมิทัศน์เมื่อใช้กับภาพระยะไกล (LS)
Low Angle Shot ตรงกันข้ามกับ High Angle Shot โดยสิ้นเชิง เนื่องจาก Low Angle Shot คือมุมที่ต่ำกว่าระดับสายตาของตัวละคร แล้วเงยกล้องขึ้นประมาณ 70 องศา ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าตัวละครกำลังเงยหน้าขึ้นเพื่อมองบางอย่าง ส่วนในเรื่องความหมายก็ตรงกันข้ามกับ High Angle Shot เช่นกัน จุดประสงค์ที่นักเล่าเรื่องเลือกใช้มุมกล้องนี้ก็เพื่อต้องการที่จะให้ผู้ชมรู้สึกว่าตัวละครในฉากดูยิ่งใหญ่ มีพลัง และทรงอำนาจ ตัวอย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง The Dark Knight (2008) ที่ใช้มุมกล้องนี้ถ่ายไปที่ตัวละครโจ๊กเกอร์ เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความน่าเกรงขามของตัวละครนี้ Over Shoulder Shot เป็นอีกมุมกล้องที่พบเห็นได้บ่อย โดยเฉพาะในฉากที่ตัวละครกำลังสนทนากันอยู่ โดยตามชื่อ Over Shoulder Shot มุมกล้องนี้จึงมักเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘มุมผ่านไหล่’ เช่นในฉากที่มีตัวละคร A กับตัวละคร B กำลังสนทนากันอยู่ และตัวละคร A กำลังเป็นผู้พูด กล้องก็จะถ่ายผ่านไหล่ของตัวละคร B ไปโฟกัสที่ใบหน้าของตัวละคร A จุดประสงค์เพื่อให้บทสนทนาเป็นไปอย่างลื่นไหล ผู้ชมไม่รู้สึกติดขัด

Point of View และ Bird’s Eye Viewคืออะไร?

มุมกล้อง Point of View คือมุมที่ภาพที่ผู้ชมเห็นจะเป็นสิ่งเดียวกับที่ตัวละครเห็น ดังนั้นมุมนี้จึงเรียกสั้นๆ ว่า ‘มุมแทนสายตาตัวละคร’ คล้ายกับมุมในเกม FPS (First Person Shooter) หรือ มุมมองบุคคลที่หนึ่ง ที่เรามักจะเห็นในเกม Shooting ต่างๆ การที่นักเล่าเรื่องเลือกใช้มุมกล้องนี้ก็เพราะดึงให้ผู้ชมรู้สึกเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วย ราวกับเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละครตัวนั้นเลย Bird’s Eye View ถึงแม้จะเป็นมุมที่ปรากฏให้เห็นไม่บ่อยครั้งนักในภาพยนตร์แต่ละเรื่อง แต่ก็น่าจะเป็นมุมที่ทุกคนคุ้นเคยและรู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจาก Bird’s Eye View ก็มีความหายตรงตัวอยู่แล้วว่าเป็นมุมมองของนก จึงเป็นมุมภาพที่มองลงมาจากที่ที่สูงมากๆ ราวกับนกที่บินอยู่บนฟ้า ต่างจาก High Angle Shot เพราะเป็นมุมที่สูงเกินสายตามนุษย์จะมองเห็นได้ เมื่อนักเล่าเรื่องต้องการบอกเล่าถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ความอลังการตระการตา มุมกล้องแบบ Bird’s Eye View มักจะเป็นตัวเลือกแรกที่ถูกหยิบมาใช้เสมอ
Worm’s Eye View เป็นมุมที่อยู่ตรงข้ามกับ Bird’s Eye View โดยสิ้นเชิง เพราะตามชื่อ Worm Eye View ซึ่งก็แปลตรงตัวอยู่แล้วว่ามุมสายตาของหนอน ซึ่งหนอนเป็นสัตว์ขนาดเล็กที่มักจะเคลื่อนไหวติดอยู่กับพื้น ดังนั้นมุมกล้องประเภทนี้จึงเป็นมุมกล้องที่ต่ำมากๆ มองเห็นพื้นหลังเป็นเพดานหรือท้องฟ้า มุมกล้องประเภทนี้มักจะถูกใช้บ่อยๆ ในหนังประเภท Monster ที่นักเล่าเรื่องต้องการแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของสัตว์ประหลาด และบอกให้รู้ว่ามนุษย์นั้นไม่สามารถเทียบเคียงกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้เลยแม้แต่น้อย (โดย ฟ้ามุ่ย พิมผกาพร)