2. ซีน (Scene) ขออนุญาตทับศัพท์คำภาษาอังกฤษที่ดูเข้าใจง่ายและใช้กันอย่างแพร่ “ซีน” คำนี้อาจกล่าวถึงฉากของภาพยนตร์ที่ถูกถ่ายทำไปแล้วหรือกำลังถูกถ่ายทำอยู่ โดยมีลักษณะของเวลาในแต่ช่วงเข้ามาเกี่ยวข้อง ภาพของฉากจะถูกเซ็ตเอาไว้มุมใดมุมหนึ่งตามความต้องการของกล้อง ในขณะเดียวกันเวลาและการเคลื่อนไหวจะทำให้ฉาก กลายเป็นซีนขึ้นมา เป็นการรวมฉาก นักแสดง องค์ประกอบเสียง องค์ประกอบแสงเอาไว้ เพื่อมาต่อกันให้กลายเป็นภาพยนตร์ขึ้น
ฉากที่กำลังจะถูกถ่ายทำในเวลาใดเวลาหนึ่ง อาจจะอยู่บนพื้นที่ของโลเคชั่นหลักหรือถูกตระเตรียมขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดรับกับองค์ประกอบด้านอื่นๆ ของภาพยนตร์ จะถูกเรียกว่ามีการเซ็ตติ้งขึ้น บ้านที่เคยโล่งอาจถูกถมด้วยเฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้เกิดองศาหรือมุมที่ขับเน้นให้เห็นถึงสีหน้าและอารมณ์ของนักแสดง ตัวฉากนี้เองยังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการช่วยเล่าเรื่องของภาพยนตร์ผ่านการเลือกวัตถุประกอบฉากขึ้น เช่น หากภาพยนตร์ต้องการจะถ่ายทอดภูมิหลังทางครอบครัวของตัวละครที่เกิดและเติบโตมาในบ้านที่อบอุ่น แต่ไม่ได้มีรายได้มากนัก สถานที่หลักอาจเป็นบ้านไม้เก่า แต่มีการเซ็ตเฟอร์นิเจอร์ที่กึ่งเก่ากึ่งใหม่แต่ยังสะอาดและน่าใช้งาน ด้วยผ้าหรือเบาะสีโทนอุ่น ก็จะทำให้ฉากนั้นมีความอบอุ่นมากมาย ส่งให้นักแสดงที่เข้าฉากได้เล่าเรื่องของตัวเองผ่านฉากด้วย
ว่าด้วยการสร้างฉากเฉพาะขึ้นเองในภาพยนตร์ การสร้างฉากขึ้นในภาพยนตร์นั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่การเซ็ตวัตถุหรือของประกอบฉากบางอย่างเพื่อให้ฉากนั้นๆ ตรงตามองค์ประกอบศิลป์และช่วยถ่ายทอดเรื่องราวในภาพยนตร์ออกมาได้โดยไม่ต้องพึ่งเพียงตัวแสดงหลัก แต่ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างฉากยังสามารถเซ็ตได้ตั้งแต่สถานที่เป็นต้นไปได้เลย วิธีการนี้เราคงคุ้นเคยดีกับการทำฉากละครเวที ไม้อัดถูกตัดและดัดแปลง พร้อมด้วยการลงสีให้ฉากนั้นๆ มีความสมจริงมากที่สุด แต่ในมุมของการสร้างฉากภาพยนตร์แล้ว เราต้องการฉากที่สมจริงที่สุดอย่างละครเวทีหรือไม่? อย่างที่เรารู้กันดีว่าภาพยนตร์นั้นมีองค์ประกอบฉาก แสง เสียง หลากหลายแบบตามแต่ประเภทของภาพยนตร์ ดังนั้น การจะบอกว่าเราควรสร้างฉากแบบไหนให้เหมาะกับองค์ประกอบศิลป์ที่ดีที่สุด คงจะบอกได้ยากเนื่องจากภาพยนตร์แต่ละเรื่องก็มีความต้องการไม่เท่ากัน แต่องค์ประกอบหลักๆ ที่ควรคำนึงถึงในการเซ็ตฉากภาพยนตร์นั้นก็พอจะมีอยู่บ้าง ดังนี้ พื้นที่และการจัดวางตำแหน่งของนักแสดงในกรอบภาพของภาพยนตร์ เพื่อให้กล้องได้จับภาพของนักแสดง ด้วยพื้นหลังที่จะขับเน้นอารมณ์หรือการส่งสารของตัวแสดงออกมา การสร้างฉากจำเป็นต้องคำนึงถึงการใช้งานร่วมกับตัวแสดงอยู่เสมอ แน่ในว่าในการเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหว ระยะของฉากจึงต้องถูกกำหนดให้สัมพันธ์กับบล็อคกิ้งหรือระยะเดินและหยุดของนักแสดง พื้นที่และตำแหน่งการเคลื่อนไหวของตัวแสดงหรือวัตถุที่อยู่ในเฟรมภาพ ตำแหน่งการจัดวางของนักแสดงนั้นล้วนเคลื่อนไหวเพื่อเล่าเรื่องและส่งสารออกมาถึงผู้ชมเสมอ เช่นเดียวกันกับการสร้างฉากในระยะต่างๆ นั้น ผู้จัดทำก็ควรที่จะคำนึงถึงระยะการเคลื่อนไหว ตำแหน่งของนักแสดง ไปจนถึงสุนทรียะที่จะเกิดขึ้นในซีนนั้นๆ อีกด้วย พื้นที่และระยะการเคลื่อนไหวของกล้อง การสร้างฉากนั้นไม่ได้คำนึงถึงตัวแสดงเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมไปถึงระยะที่กรอบเฟรมของกล้องจับได้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้ก็จะสัมพันธ์ไปถึงระยะความใกล้ไกลของการจับภาพตัวแสดงเองด้วย พื้นที่นอกกรอบภาพที่กล้องต้องการ นอกเหนือไปจากข้อสำคัญของการสร้างฉากเพื่อสิ่งที่อยู่ในกล้องระยะนอกกล้องก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเซ็ตฉากขึ้น เพื่อให้ตัวแสดงได้มีระยะเผื่อเหลือเผื่อขาดสำหรับหลบหรือซ่อนอารมณ์ ไปจนถึงสร้างระยะความยาวของกล้องได้มากขึ้นหากที่จัดทำต้องการ ซึ่งข้อคำนึงนี้ ก็จะต้องไปพร้อมกันกับปัจจัยก่อนหน้า เพื่อส่งให้ภาพยนตร์มีฉากที่สมบูรณ์ทั้งในด้านองค์ประกอบภาพ และองค์ประกอบแสง (อ้างอิง นิพนธ์ คุณารักษ์, Film Language : Elements of Film, วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่ระบุชื่อผู้แต่ง, 2019, ตำแหน่งต่าง ๆ ใน “การสร้างภาพยนตร์”, จาก https://intrend.trueid.net/article/ตำแหน่งต่าง ๆ ใน “การสร้างภาพยนตร์”)