เรียนรู้การแสดง ผ่านความเข้าใจปูมหลังตัวละคร

หนุ่มอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ชั้นสูง แต่กลับมีวีรกรรมที่สมควรติดคุกแทบทั้งสิ้น

Good Will Hunting วิลล์ ฮันติ้ง (แมทท์ เดมอน) เยาวชนหนุ่ม ผู้มีอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ชั้นสูง แต่กลับมีวีรกรรมที่ล้วนแต่สมควรติดคุกแทบทั้งสิ้น ทั้งโจรกรรมรถยนต์ ปลอมเป็นตำรวจ ก่อเหตุวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ฯลฯ แต่เขาโชคดีที่ภาครัฐฯเห็นพ้องกันว่าเจ้าหนุ่มสุดแสบรายนี้สมควรได้รับการบำบัดทางจิต เพื่อดึงเอาศักยภาพอันล้นเหลือของเขามาใช้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่าผลักให้ไปนอนในห้องขัง

จิตแพทย์คนแล้วคนเล่าล้วนเบือนหน้าหนี

เพราะทนกับพลังป่วยกวนโทสะของเขาไม่ไหว กระทั่งมาพบกับจิตแพทย์ฌอน แม็กไกวร์ (โรบิน วิลเลียม) ผู้มีอดีตที่เจ็บปวดและแสบซ่าพอๆ กัน คุณหมอฌอนผู้นี้เองที่สามารถทะลุทะลวงเข้าถึงปูมหลังอันฝังใจ (Sensitive Area)ของหนุ่มวิลล์ ฮันติ้งได้อย่างกระจ่างว่า เขาถูกแม่ทิ้งตั้งแต่อายุราว 4 ขวบ อันเป็นวัยเด็กที่ยังใช้เหตุใช้ผลได้ไม่ดีนัก ยังไม่รู้จักการยืดหยุ่น เป็นวัยแห่งการยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) ความคิดของเขาก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นล้วนแล้วแต่ตนเองเป็น”สาเหตุ”ทั้งสิ้น (ที่แม่ทิ้งฉันไป เพราะฉันมันไม่ดี เพราะฉันเองไม่น่ารัก ฉันมันน่ารังเกียจ ฯลฯ Feel guilty)
จากนั้นเมื่อวิลล์อายุ 10 ขวบ ยังต้องเผชิญกับพ่อเลี้ยงขี้เมาที่ทำร้ายทารุณเขาจนเลือดตกยางออกไม่เว้นแต่ละวัน (ด้วยกิ่งไม้ เข็มขัดหนัง และคีมเหล็ก) แม้แผลกายจะจางแล้ว แต่บาดแผลทางใจมันยากจะเยียวยา ด้วยเด็กวัย 10 ขวบคือวัยแห่งความปรารถนาที่จะเป็นฮีโร่ แต่กลับถูกทำลายความภาคภูมิใจไปเสียสิ้นจากพ่อเลี้ยงอำมหิต เมื่อเขาได้เปิดใจม่าถึงตรงนี้ คุณหมอฌอนจึงได้ดึงบาดแผลในจิตไร้สำนึกมาสู่จิตสำนึกของวิลล์ “เธอไม่ใช่คนผิด พูดซิ พูดออกมาเลย..เธอไม่ใช่คนผิด..เธอไม่ใช่คนผิด..” และแล้วน้ำตาแห่งความปวดร้าวที่เก็บกักมาชั่วชีวิตก็ทะลักทลายออกมาเหมือนเขื่อนแตก เหมือนวันที่เขาโดนทำร้ายทั้งจากพ่อเลี้ยงและแม่ที่ทิ้งเขาไป

Catch Me If You Can เด็กหน้าห้องสู่วงการอาชญากรรม

Catch Me If You Can ดูเหมือน “พ่อ” ของแฟรงค์ อบาเนล (ลีโอนาร์โด ดิแคพิโอ) จะเป็นดังเพื่อนรุ่นพี่ที่ทั้งกันเองใกล้ชิดและเป็น “ต้นแบบ” ที่น่าภาคภูมิ ทำให้เชื่อว่าเจ้าลูกชายคนนี้จะต้องได้ดิบได้ดี แถมชื่อเสียงจะต้องกระฉ่อนโลกอย่างแน่นอน ซึ่งในที่สุดก็จริงดังว่า คือกระฉ่อนในทาง”เลว” – ปลอมตัวเป็นนักบินโกงบินฟรีกว่า 2 ล้านไมล์ – ปลอมตัวเป็นหัวหน้าแพทย์แผนกกุมารเวชโรงพยาบาลจอร์เจีย – ปลอมตัวเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมอัยการแห่งมลรัฐหลุยเซียน่า – ใช้เช็คปลอมใน 26 ประเทศ 50 มลรัฐ สุดท้ายไปไม่รอดโดนศาลตัดสินให้จับคุกขังเดี่ยวเป็นเวลาถึง 25 ปี (แม้ว่าบั้นปลายชีวิตออกมาทำงานชดใช้สังคม) / เหตุใดชีวิตของเขาจึงเป็นเช่นนี้? จริงๆ แล้วพ่อที่เป็นเสมือนเพื่อนรุ่นพี่นั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม เพียงแต่จะต้องไม่มีวิธีคิดที่บิดเบี้ยวเหมือนพ่อของแฟรงค์คนนี้ ที่มักจะเห็นดีเห็นชอบทุกครั้งที่ลูกกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น ฉกบัตรเครดิตของพ่อไปใช้จ่ายตามใจชอบจนคนเป็นพ่อต้องใช้หนี้กว่า 3,400 เหรียญโดยไม่ดุด่าว่ากล่าวแม้แต่คำเดียว หรือเมื่อแฟรงค์เป็นเพียงนักศึกษาแต่หลอกทุกคนว่าเขาคืออาจารย์คนใหม่แล้วพาบรรดาลูกศิษย์ไปทัวร์โรงงานขนมปังจนถูกมหาวิทยาลัยไล่ออก ในขณะที่คนเป็นพ่อได้แต่หัวเราะร่วนในความฉลาดแกมโกงของลูกชายตนเอง จะว่าไป คนเป็นพ่อก็ใช่ย่อย พฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจก็มากด้วยเล่ห์เพทุบายที่ลูกชายก็เห็นอยู่เต็มตา ซึ่งได้กลายเป็นสิ่งที่ซึมซับอย่างไม่รู้ตัว ( Internalization) ด้วยเห็นว่ามันคือรางวัลชีวิต (Reward) ที่ได้มาจากความปลิ้นปล้อน / แม้ในที่สุดคนเป็นพ่อต้องโดนข้อหาฉ้อโกงและกลายเป็นบุคคลล้มละลายสูญเสียทุกสิ่งอย่างแม้แต่ภรรยาของตนเองก็ตีจาก แต่ลูกอย่างแฟรงค์กลับไม่ยอมรับความจริงแถมป้ายโทษให้ผู้อื่นว่าข่มเหงรังแกพ่อของตนอย่างไม่เป็นธรรม และสิ่งนี้ได้เสริมให้เขาเคียดแค้นมุ่งทำร้ายสังคมด้วยความฉลาดแกมโกง (กลายเป็น Antisocial Personality)
American Beauty ริกกี้..ที่ภายนอกดูเยือกเย็น แท้จริงแล้วกลับคุกรุ่นดังลาวาที่เดือดพล่าน การเป็นเด็กเสิร์ฟคือการพยายามหารายได้พิเศษเพื่อให้พ่อชื่นชม แต่การลอบค้ายาเสพติดคือการตอบโต้การข่มเหงจากคนเป็นพ่อโดยจิตไร้สำนึก ผู้พันฟิตส์คืออดีตนาวิกโยธินผู้ได้รับบาดแผลทางใจจากสงครา ม(War Neurosis) จนมีอาการหวาดระแวง (Paranoid Reaction) แปรทุกอย่างเป็นความเลวร้าย ชีวิตเต็มไปด้วยความเกลียดชังและซึมเศร้า ใช้กฎเหล็กปกครองลูกและภรรยาเหมือนทุกคนกำลังอยู่ในสมรภูมิรบ “ตอนอายุ 15 พ่อจับได้ว่าฉันสูบกัญชา ฉันก็ถูกเขาต่อย ต่อมาฉันถูกไล่ออกจากโรงเรียนเตรียมทหารเขาก็ต่อยฉันอีก แต่วันนั้นฉันคลั่งมากทำท่าจะฆ่าเขา ก็เลยโดนจับส่งไปโรงพยาบาลบ้าเกือบ 2 ปี พอออกมาก็ต้องโดนเขาจับตรวจฉี่ทุกเดือน” ริกกี้ระบายความขมขื่นกับแฟนสาว สิ่งที่พ่อโรคประสาทอ้างเสมอก็คือ “ที่ฉันทำอย่างนี้ก็เพื่อแกจะได้รู้จักเคารพผู้อาวุโสและอยู่ในวินัย” แต่สิ่งที่ริกกี้บรรลุแล้วก็คือ พ่อของเขาก็แค่ตาแก่จิตผิดปกติที่น่าสมเพช ความแข็งกร้าวของเขาก็เป็นเพียงหน้าฉากที่กลบเกลื่อนความอ่อนแอและขลาดเขลา (Overcompensation) / (ผู้เขียน This is life)