“สถาบันที่สอนด้านนิเทศศาสตร์หรือภาพยนตร์ทุกวันนี้ค่อนข้างจะไม่ได้มีการรวมตัวกันโอกาสที่นักศึกษาจะมาเจอกันก็น้อยลง เพราะว่าเหมือนต่างคนก็ต่างทําของตัวเองไป” – ผศ.ดร. มาโนช ชุ่มเมืองปัก หัวหน้าหลักสูตรภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
การเรียนคณะนิเทศศาสตร์
1. เนื่องจากปัจจุบันนี้มีทางเลือกกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้นก่อนอื่นเราควรต้องศึกษาตัวหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนั้นๆ แม้ว่าวิชาพื้นฐานส่วนใหญ่จะคล้ายกันแต่จะพบว่ามันมีสิ่งที่เน้นหรือรายละเอียดที่ต่างกัน เช่น อาจจะเน้นเรื่องประเภทภาพยนตร์ที่เป็น Art หรือเป็น Mass อย่างของธุรกิจบัณฑิตย์อาจจะเน้นเรื่องของการเป็นผู้ประกอบการหรือด้านธุรกิจ นักศึกษาก็จะได้เรียนการทําแผนธุรกิจ การมองธุรกิจในอนาคต
2. ควรจะมีการวางแผนการเรียนตั้งแต่เรื่องของการเดินทาง เพราะนั่นก็คือการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เวลาในการเดินทางที่เสียไปในแต่ละวัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างเรียนด้วย ต้องพิจารณาดูว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งตอบโจทย์ในชีวิตของเราหรือไม่? อย่างไร?
ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ว่า เราควรเรียนคณะนิเทศศาสตร์? ทุกวันนี้การตีความเกี่ยวกับศาสตร์ด้านการสื่อสารมันต่างจากยุคก่อนที่มีเพียงคณะนิเทศศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ แต่ปัจจุบันการทำสื่อไม่จำเป็นต้องจบคณะนิเทศฯคณะวารสารฯเท่านั้น ดังนั้นเราอาจดูว่าตอนที่เราเรียนมัธยม ว่าเรามีความสนใจในการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากน้อยเพียงใด เพราะการเรียนนิเทศฯไม่ใช่แค่การทําสื่อหรือการสื่อสารอย่างเดียวแต่มันเกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ในสังคม นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของเทคโนโลยี่หรือการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่เป็นอุปกรณ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ จึงสรุปได้ว่า สิ่งที่เราควรถามตนเองก่อนตัดสินใจเรียนก็คือ เราสนใจและพร้อมจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้หรือไม่ นั่นคือ
1) ความคิดสร้างสรรค์
2) ประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม
3) เทคโนโลยี่หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์
สถาบันที่สอนด้านนิเทศศาสตร์หรือภาพยนตร์ทุกวันนี้ค่อนข้างจะไม่ได้มีการรวมตัวกันโอกาสที่นักศึกษาจะมาเจอกันก็น้อยลง เพราะว่าเหมือนต่างคนก็ต่างทําของตัวเองไป
ปัจจุบันบ้านเรามีมหาวิทยาลัยถึง 20-30 แห่งที่เปิดหลักสูตรด้านภาพยนตร์ แต่นักศึกษากลับรวมตัวกันน้อยลง นาน ๆ ถึงจะมีกิจกรรมพิเศษ สิ่งที่อยากให้เป็นเหมือนสมัยที่เราเป็นนักศึกษาภาพยนตร์ก็คือการจัดเทศกาลที่นักศึกษาเอาผลงานของแต่ละมหาวิทยาลัยมาแชร์กัน มีการเสวนาแลกเปลี่ยนผลงานกัน ได้สร้างเครือข่ายเพื่อการทํางานร่วมกันในอนาคต
แน่นอนเราคาดหวังการสนับสนุนที่ชัดเจนให้มากกว่านี้ ที่ผ่านมารัฐบาลแทบทุกยุคมักจะติดกรอบการใช้แค่งบประมาณประจําปี ทั้ง ๆ ที่มันไม่เพียงพอ จึงควรจะต้องแผนงานที่ชัดเจน มีเป้าหมายในระยายาวว่าภายในห้าปีเจ็ดปีสิบปีมันคืออะไร เท่าที่เป็นมาก็คือพอมีหนังเรื่องไหนเกิดดังขึ้นมา ก็อาจจะมีการเพิ่มรอบฉาย มีการเกณฑ์คนเกณฑ์นักเรียนเข้าไปดูกัน
ดังนั้นนอกจากภาครัฐจะต้องมีแผนมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ยังควรจะต้องมีการซัพพอร์ตคนที่รักจะมาเรียนทางด้านนี้ด้วย นั่นหมายถึงให้เขามีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานความรู้ทางศิลปะ เรียนรู้ในเรื่องของศิลปะภาพยนตร์ เพราะความเป็นจริงของบ้านเราก็คือโอกาสที่เด็กๆจะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้โดยมากคือเด็กในกรุงเทพฯ แต่เด็ก ๆ แม้แต่ปริมณฑลแท้ ๆ ใกล้ ๆ อย่างนนทบุรี ปทุมธานีก็กลับมีโอกาสน้อย ไม่ต้องพูดถึงเด็กต่างจังหวัดต่าง ๆ ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย บทความนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร. มาโนช ชุ่มเมืองปัก หัวหน้าหลักสูตรภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ใน fuse. In Sequence