เมื่อต้องเตรียมตัวเรียนภาพยนตร์

“การมี Skill อื่น ๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อ การร้องเพลง วาดรูปหรืออะไรก็ได้ที่เราชอบ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดในเรื่องของการเรียนภาพยนตร์” – อ.นภสร ลิ้มไชยาวัฒน์ หลักสูตรภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่เข้าถึงสื่อต่างๆได้รวดเร็วมากกว่าก่อน ซึ่งนั่นคือการได้เปิดกว้างรับสื่อที่หลากหลาย ใครที่ดูอะไรเดิมๆ เช่น ดูแต่หนังสยองขวัญก็น่าจะลองดูหนังในแนวอื่นๆบ้าง อย่างหนังสารคดี หนังข่าว รายการทีวีต่างๆ รวมทั้งแพลตฟอร์มอื่นๆด้วย เพราะเหล่านี้ล้วนแต่มี Storytelling ทำให้เราสามารถนำมาต่อยอดในการทำงานได้เป็นอย่างดี

เข้าไปเรียนคณะนิเทศ ต้องเจออะไรบ้าง ?

การมาเรียนภาพยนตร์ไม่ใช่แค่การมาดูหนัง เพราะแท้แล้วภาพยนตร์ก็คือการเล่าเรื่องราว (Storytelling) ไม่ว่าจะเป็นสื่อใดก็ย่อมมีเรื่องราวของมัน เช่น หนังข่าวการทารุณกรรมเด็ก ทำให้เราเกิดการตั้งคำถามขึ้นในใจว่าแล้วเด็กคนนี้มีความเป็นมาอย่างไร อนาคตเขาจะเป็นอย่างไร ในทุกข่าวย่อมมีตัวละครที่มีปูมหลัง มีแรงจูงใจ มีเหตุการณ์ มีผลลัพธ์ มีที่มาที่ไป และเกิดการคาดเดาว่าต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นี่คือพื้นฐานแห่งการเล่าเรื่อง และทำให้เราคิดเป็น Story ต่อได้

การดูหนังให้เยอะ ๆ ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนที่รักจะเรียนด้านนี้ นอกจากจะได้เรียนรู้ได้ฝึกฝนวิธีคิด ยังคือแรงบันดาลใจในการศึกษาในการทำงานต่อ ๆ ไป และที่สำคัญก็คือ ภาพยนตร์ทำให้เราเข้าใจตนเองอย่างล้ำลึก

การเรียนนิเทศควรเลือกหลักสูตรอย่างไร ?

แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีหลักสูตรที่ต่างกันไป แต่ให้เราดูที่โครงสร้างของหลักสูตร แล้วดูจากองค์ประกอบอื่นๆเพื่อการตัดสินใจ เช่น อาจารย์ผู้สอน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเพื่อการเรียนภาพยนตร์ ดูผลงานหนังของรุ่นพี่ๆที่จบไป ซึ่งทุกวันนี้น่าจะหาดูได้ไม่ยาก แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวเราเองที่มีความรักในศาสตร์นี้จริงๆหรือไม่

ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งไม่ใช่แค่ฟิล์ม แต่มันคือสิ่งที่อยู่เบื้องลึกของจิตใจ คือศาสตร์และศิลป์ที่สามารถจะต่อยอดได้อีกสารพัด ในยุคสมัยนี้ที่ไม่ได้ติดยึดว่าคุณจบภาพยนตร์มาแล้วจะต้องทำแต่หนังเท่านั้น เรายังทำอะไรได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นคนเขียนบท นักตัดต่อ ตากล้อง หรือกระทั่งเป็น Content Creator แม้แต่การทำMarketing เราก็จะเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจมีพลัง โดยใช้ศาสตร์และศิลปของภาพยนตร์ที่ได้ร่ำเรียนมา

บทความนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ อ.นภสร ลิ้มไชยาวัฒน์ หลักสูตรภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ใน fuse. In Sequence

รับชมวิดีโอเพิ่มเติม

Play Video