เทคนิคการพัฒนาบทสนทนาตัวละครในภาพยนตร์ – คุยกับแอดมินเพจหนังติดมันส์

สิ่งที่นักเขียนบทมือใหม่ชอบทำคือ

1. การนำบทสนทนามาจากในหนังที่เคยดู โดยเฉพาะคำพูดของคนในอาชีพต่าง ๆ เช่น “ผมทำเต็มที่แล้ว” (เมื่อหมอบอกกับญาติ ๆ คนไข้ ที่เพิ่งผ่าตัดเสร็จ) หรือ “ที่นี่ที่ไหนอะ?” (เมื่อฟื้นขึ้นมาจากการหมดสติ) ซึ่งมักจะเป็นถ้อยคำซ้ำ ๆ เดิม ๆ นอกนั้นก็จะเจอแบบที่ฟังแล้วมันไม่ปะติดปะต่อหรือรู้สึกสะดุด ๆ ไดอาลอคทั้งหลายจึงดูไม่เนียนไม่น่าเชื่อถือ

2. พยายามยึดติดกับสิ่งที่เขียนมาในกระดาษ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นภาษาเขียนไม่ใช่ภาษาพูด มันไม่เป็นธรรมชาติ แต่ก็เคี่ยวเข็ญให้นักแสดงพูดออกมาอย่างนั้นโดยไม่ยืดหยุ่น การแก้ปัญหาก็คือ

1. หาโอกาสไปทำความรู้จัก ไปคุยด้วยหรือแม้แต่ไปสังเกตผู้คนในอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทนายความ เซลล์แมน หมอนวด ชาวนา กรรมกร ขอทานฯลฯ เพื่อได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีพูด บุคลิกลักษณะ ฯลฯ

2. ทั้งผู้กำกับและนักแสดงควรมีการซักซ้อมบทสนทนา เพื่อช่วยกันพัฒนาบทพูดให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้เข้าปากของนักแสดงแต่ละคน ที่จะพูดและแสดงอย่างสมจริงอย่างเป็นธรรมชาติ

บทหนังต้องมีคำคมอยู่ในเรื่องหรือไม่ ?

เรื่องของคำคม หรือประโยคอันน่าจะติดตรึงใจผู้ชมอย่างไม่มีวันลืมนั้น คนเขียนบทมักจะพยายามใส่ไว้ในบทหวังไว้ว่าเผื่อคนดูจะประทับใจ แต่ก็อาจจะไม่ได้ผลเสมอไป เพราะบางครั้งมันอาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ แต่กลับกลายเป็นประโยคอมตะที่คนดูจดจำได้อย่างยาวนาน โดยมากเกิดจากความลงตัวของการฝึกซ้อมที่ถูกต้อง บวกกับการแสดงอย่างถูกต้อง บวกกับบริบทที่ถูกต้อง เช่น “ดากานดา ฉันรักแกหวะ” (จากภาพยนตร์เรื่องเพื่อนสนิท) “เอาผมไปฆ่า ถึงผมตายก็จะรักคุณ” (จากภาพยนตร์เรื่องมหาลัยเหมืองแร่)

บทสนทนาที่ดีและไม่ดี?

1.บทสนทนาที่ไม่ดีก็คือ การพยายามลอกมาจากในหนังจากในนิยาย หรือใช้จินตนาการล้วน ๆ

2.บทสนทนาที่ดีคือ คำพูดที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ สมจริง จะทำให้ได้เช่นนั้นก็จะต้องไปสัมผัสของจริง เช่น จะทำหนังที่มีตัวละครอยู่ในอาชีพใด ก็ควรจะต้องเข้าไปเรียนรู้ไปสัมผัสกับคนที่ทำอาชีพนั้น ซึ่งหลายครั้งเราจะได้ศัพท์เฉพาะในวงการของคนทำอาชีพนั้น ๆ เช่น คนเป็นแพทย์ผ่าตัดหัวใจเขาจะเรียกหัวใจว่า “ปั๊มน้ำ” เราก็อาจเอามาใช้กับตัวละครคุณหมอที่เพิ่งใจสลายได้ว่า “ปั๊มน้ำแตกใช่มั้ยครับอาจารย์ สู้ต่อไปนะครับ”

รับชมวิดีโอเพิ่มเติม

Play Video