อาการทางจิตที่มักพบได้ในโลกภาพยนตร์ ตอนที่ 1 โรคย้ำคิดย้ำทำ

อาการทางจิตที่เรามักพบเห็นในโลกภาพยนตร์

หนังหลายเรื่องอาศัยปมทางจิตใจในการพัฒนาบุคลิกลักษณะตัวละครให้มีความซับซ้อนและน่าสนใจ ในบทความนี้จะชวนคุยถึงอาการทางจิตที่เรามักพบเห็นในภาพยนตร์ เริ่มกันด้วย “โรคประสาท” หรือ Neurosis คือ ความผิดปกติของจิตใจ (ที่อาจมีความเข้มข้นไม่มาก กระทั่งเป็นมากเข้าขั้นป่วย) มักเกิดจากความคับข้องใจ ผสานกับความขัดแย้งในใจที่สั่งสมมาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ และความขัดแย้งคับข้องใจนี้ โดยมากเกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางเพศและความก้าวร้าว สิ่งที่ต่างจากโรคจิตก็คือ โรคประสาทมักจะ 1. ผู้ทุกข์มักจะรู้ตัวว่า ตนเองนั้นผิดปกติ มีความเครียด หวาดกังวล หรือรู้สึกเศร้ามากจนเกินไป 2. มักไม่มีอาการหลงผิด ประสาทหลอนหรือเห็นภาพลวงตา 3. ยังคงพอที่ จะเรียนหนังสือ-ทำงาน-ทำกิจกรรมส่วนตัว หรือพอจะอยู่ในสังคมกับคนอื่นได้ แต่มักจะไม่ดีไม่ราบรื่นเท่าผู้ที่ปกติทั่วไป 4. บุคลิกภาพมักไม่เปลี่ยนหรือเสียไปแทบทั้งหมดเหมือนผู้ป่วยด้วยโรคจิต

ตัวละครดังกับโรคประสาทในภาพยนตร์

โรคประสาท แบ่งออกได้หลายประเภท เท่าที่พบเห็นได้ค่อนข้างบ่อย (ทั้งในหนังและในชีวิตจริง) เช่น 1) โรคประสาทหวาดกังวล (Anxiety Neurosis) 2) โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Reaction) 3) โรคประสาทฮีสทีเรีย (Hysterical Neurosis) 4) โรคประสาทซึมเศร้า(Depressive Neurosis) 5) โรคประสาทกลัว (Phobia Neurosis) เยอะจนอย่าเพิ่งรีบปวดหัวนะครับ เพราะในบทความตอนที่ 1 นี้ เราจะคุยกันแค่ประเภทเดียวคือ โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ
“พูดประโยคเดียวกันซ้ำๆเหมือนคุมตัวเองไม่ได้ วนเวียนอยู่กับการฟอกสบู่ถูมือวันละหลายๆครั้ง จนมือแตกเลือดซิบ คิดวนเวียนในเรื่องรังเกียจความสกปรก คิดซ้ำๆ ในเรื่องของเชื้อโรคอย่างหนัก ทำให้ถึงกับแก้ผ้าโทงๆ และเอากล่องทิชชูมาสวมแทนรองเท้า เพราะกลัวเชื้อโรคติดเสื้อผ้า และรองเท้า” พฤติกรรมของโฮเวิร์ด ฮิวจ์ ในThe Aviator “คุณทำบ้าอะไร? ทำบ้าอะไร? ฟังให้ดีๆนะ ฟังให้ดี ฟังให้เข้าใจ เราจะถ่ายรูปให้เหมือนเป็นคู่รักที่รักกันมาก รักกันมาก ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน รักกัน รักกัน เป็นผัวเมียที่อยู่ด้วยกัน รักกัน ต้องให้ดูดี ดูดี อย่าทำหน้าทุเรศอย่างนั้นสิ ต้องดูดี ดูดี” บิลลี่พูดย้ำไปย้ำมากับแฟนใน Buffalo 66 “เวลาเขาเดินไม่ยอมเหยียบรอยเส้นบนพื้น ก่อนใส่รองเท้าต้องนับเลขๆไปๆมาๆ ล้างมือวันละหลายๆหน เอาทิชชูรองมือทุกครั้งที่หมุนลูกบิดประตู ไปทานอาหารที่ไหนต้องพกช้อนส้อมไปเอง ฯลฯ” พฤติกรรมของเมลวิน ใน As good as it gets

อาการย้ำคิดย้ำทำที่เหนือการควบคุม

ถามว่าคนที่มีอาการอย่างข้างต้นนี้ เขาไม่รู้สึกรำคาญตนเองบ้างหรือ ? คำตอบก็คือ ทั้งแสนจะรำคาญและยังแฝงด้วยความรู้สึกเศร้าใจครับ แต่ก็แก้ไขด้วยตนเองไม่ได้ แม้พยายามฝืน หรือระงับยับยั้งได้บ้าง แต่เมื่อเครียดหรือเกิดความกังวลกลัวมาก ก็จะคุมไม่อยู่ทั้งการย้ำคิดและย้ำทำ ซึ่งโดยมากก็ไม่พ้น คิดวนเวียน คิดซ้ำๆ กับความกลัวเชื้อโรค, สิ่งสกปรก, ถ้อยคำแช่งด่า หรือหยาบช้าลามก กลัวอย่างเกินเหตุที่จะมีสิ่งเลวร้ายหายนะมาเกิดกับตนและคนที่ตนรัก หรือรู้สึกผิด-บาป ซึ่งเจ้าตัว(ผู้ทุกข์)เองก็มักจะรู้ตัวอยู่แล้วว่า การ “ย้ำคิด” มันมากล้นจนไร้เหตุผล แต่ตนเองก็ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอาการนี้ขึ้นได้อย่างไร? มันเชื่อมโยงกับสิ่งใดและไม่สามารถหลุดพ้นออกจากวังวนของการย้ำคิดย้ำทำได้ / ดังนั้นการ “ย้ำทำ” จึงมักตามมา เพื่อช่วยผ่อนคลายช่วยลดความกังวลกลัว หรือความรู้สึกผิดจากการย้ำคิด โดยมักจะออกมาเป็นพฤติกรรมที่ซ้ำๆแปลกๆ ทั้งที่เจ้าตัวก็ทุกข์และอับอายผู้ที่พบเห็น แต่ก็ระงับการกระทำนั้นไม่ค่อยได้ แล้วยังทำให้เวลาต้องหมดไปกับพิธีกรรมย้ำทำมากยิ่งขึ้นทุกที ตัวอย่างเช่น หญิงสาวคนหนึ่ง เธอจะต้องตบหน้าตนเองและไหว้ ไปรอบๆ ทุกครั้ง เธอจะทำเช่นนี้ทุกครั้ง และนับวันก็จะทำมากขึ้น หลังจากที่เธอนึกแช่งด่าให้มารดาของตนถูกรถชนตาย ซึ่งเธอไม่สามารถคุมความคิดนี้ได้
ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โรคประสาทชนิดนี้เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างทางเคมีในสมอง (สารสื่อประสาทSerotonin) บวกกับประสบการณ์ตั้งแต่วัยเยาว์ที่ได้รับความเข้มงวดกดดันจนเกินไป จากการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกแบบสมบูรณ์แบบนิยม (Perfectionist) หรือ เจ้าอารมณ์รุนแรง (Impulsive) / “สมัยเป็นเด็ก ถ้าผมเล่นเปียโนผิดคีย์ไปนิดเดียว จะโดนพ่อเฆี่ยนจนแทบตาย” – เมลวินเล่าให้เพื่อนฟังใน As good as it gets / “เมื่อลูกหมาแสนรักของหนูน้อยบิลลี่ดันเข้าไปฉี่ในบ้าน มันก็โดนพ่อบีบคอจนตาทะลัก เขาทำลายมันโดนไม่แคร์ความรู้สึกของลูกเลย” – (Buffalo 66 / หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกแบบขี้กลัวกังวลจนเกินเหตุ แถมเอาแต่พร่ำบ่นหรือย้ำเตือนอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นกิจวัตร ก็มีโอกาสทำให้เด็กกลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ เพราะเกิดความหวาดกังวลที่ฝังใจ “คุณแม่สาวสวยประคบประหงมลูกชายวัยราว 7 ขวบด้วยการเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ (ในวัยที่ควรจะอาบน้ำเองได้แล้ว)ปากก็พร่ำพูดถึงเชื้อโรคร้ายนานาชนิด ที่กำลังแพร่ระบาด หนำซ้ำยังให้ลูกชายท่องประโยค “ป้อง-กัน-เชื้อ-โรค ”ซ้ำแล้วซ้ำเล่า (นี่คือความกลัวและการย้ำคิดของแม่ที่ถ่ายทอดมาสู่ลูกชาย โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง The Aviator) / การเยียวยารักษา คุณหมอมักจะใช้ยาเป็นหลักในการรักษา ซึ่งปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต โดยยาจะช่วยปรับการทำงานของสารซิโรโทนินในสมองและเสริมรักษาด้วยการทำพฤติกรรมบำบัดอันจะมีเทคนิคที่ช่วยให้ผู้ทุกข์ค่อยๆ ปลดความหวาดกังวลออกไปจากน้อยไปสู่มาก และจะมีความมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ร่วมด้วยกับวิธีจิตบำบัด เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงที่มาที่ไปของอาการย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งจะช่วยให้เขาปรับตัวปรับใจได้ดีขึ้นอย่างมาก (ผู้เขียน This is life)