หลักการวิเคราะห์ภาพยนตร์ผ่านจิตวิทยา

“ถึงแม้ว่าเราไม่ได้มีองค์ความรู้ทางจิตวิทยา หนังที่ดีส่วนใหญ่ก็มักจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมเข้าใจง่ายอยู่แล้ว ผมเลยคิดว่า เวลาเราดูหนังเราก็ไม่ต้องถึงกับพกความรู้ทางจิตวิทยาไปมากมายหรอกครับ” – นพ.การันตร์ วงศ์ปราการสันติ จิตแพทย์และผู้กำกับภาพยนตร์

การที่จะเลือกหนังสักเรื่องมาทำ “ภาพยนตร์บำบัด” ต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นคือ

1. เราต้องรู้จักผู้บำบัดก่อน ว่าเขามีความเกี่ยวข้องกับตัวละครหลักในแง่มุมไหนเช่น เขากำลังอกหักมีปัญหาความรัก หรือกำลังมีปัญหาในเรื่องการเรียน ซึ่งจะช่วยให้มีความเชื่อมโยงกันได้

2. เป็นหนังที่ตัวละครกำลังจะก้าวข้ามปัญหาในชีวิต ซึ่งหนังโดยส่วนใหญ่ก็จะมีสามองก์และเล่าเรื่องด้วยการผ่านความขัดแย้ง นั่นคือตัวละครมักจะได้รับความหมายอะไรบางอย่างของชีวิตหลังจากที่เขาผ่านอุปสรรคมาแล้ว ทั้งที่จบดีหรือจบไม่ดี

หลังจากตัวละครก้าวข้ามอุปสรรคได้แล้ว ผู้บำบัดก็จะใช้วิธีตั้งคำถาม เพื่อให้เขาได้ค้นพบว่า ที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไรบ้าง ได้ความหมายอะไรให้แก่ชีวิตบ้าง ซึ่งทำให้คนดูได้สิ่งนั้นกลับไปเช่นกัน เป็นการใช้ตัวละครทำหน้าที่เป็นสื่อเชื่อมโยงเพื่อให้เข้าถึงจิตใจของเราเอง

ต้องมีพื้นฐานจิตวิทยามาแค่ไหน ?

จริง ๆ แล้วถ้ามีพื้นฐานทางจิตวิทยามาบ้างก็เพียงพอจะเข้าใจตัวละครได้แล้ว จะเข้าใจได้ว่า ตัวละครตัวนี้ผ่านอุปสรรคอะไรต่าง ๆ มาขนาดนี้ ทำให้เขาได้อะไรกลับมาแก่ชีวิตของเขาบ้าง หรือเขาใช้กลไกทางจิตอะไรในการแก้ปัญหา หรือเขามีวิธีแก้ไขปัญหาชีวิตที่ไม่ถูกต้องอย่างไร ซึ่งมันก็จะทำให้เราดูหนังอย่างเข้าใจลึกซึ้งและรู้สึกสนุกยิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้มีองค์ความรู้ทางจิตวิทยามากมาย แต่หนังที่ดีส่วนใหญ่ก็มักจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมเข้าใจง่ายอยู่แล้ว เลยคิดว่าเวลาเราดูหนังเราก็ไม่ต้องพกความรู้ทางจิตวิทยาไปมากมายหรอก เพราะว่าส่วนใหญ่หนังก็จะย่อยความรู้ทางจิตวิทยาให้มันเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายอยู่แล้ว

รูปแบบตัวละครในภาพยนตร์ ที่จะกลายเป็นตัวแทนของผู้ชม

การคัดเลือกรูปแบบของตัวละคร มักจะเลือกจากปัญหาหลัก ๆ ของผู้ที่มารักษา จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิตพบว่า ปัญหาอันดับต้นของคนไข้คือความเครียดและโรคซึมเศร้า ซึ่งโดยมากเกิดจากปัญหาของความสัมพันธ์ ทั้งจากครอบครัว จากคนรัก หนังที่จะนำมาเชื่อมโยงกันกับการรักษาจึงมักเลือกหนังที่ตัวละครมีปัญหาในด้านความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเรื่องของครอบครัว ความรัก เพื่อน หรือที่ทำงาน

ปัญหาการเรียน นี่เป็นปัญหารองลงมาที่พบได้มากในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเรียนด้านไหนดี รวมทั้งความรู้สึกเคว้งคว้างเมื่อเรียนจบแล้วเมื่อพบว่าไม่รู้จะทำงานอะไรดี ชีวิตจะไปต่ออย่างไร

บทความนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นพ.การันตร์ วงศ์ปราการสันติ จิตแพทย์และผู้กำกับภาพยนตร์ ใน fuse. In Sequence

รับชมวิดีโอเพิ่มเติม