ส่องแอพตัดต่อบนมือถือน่าสนใจ

มีสมาร์ทโฟนแค่เครื่องเดียว ก็สามารถจบงานได้เลย?

ใครสงสัยหรืออยากได้แนวทางทำหนังสั้นทุนต่ำ ล้ำไอเดียด้วยอุปกรณ์ ที่อาจมีเพียงสมาร์ทโฟนแค่เครื่องเดียว ก็สามารถจบงานได้เลย ตามรอย มิเชล กอนดรี้ ผู้กำกับฝรั่งเศสขวัญใจสายอินดี้ เจ้าของหนังสั้นความยาว 11 นาทีเรื่อง Détour ที่ใช้เพียง iPhone 7 เครื่องเดียวทั้งถ่ายทำและตัดต่อ ดังนั้น ลองมาส่องแอพตัดต่อ ไซต์จิ๋วแต่ทรงพลัง ที่ techradar.com รวบรวมไว้ ทั้งแอพของฝั่ง iOS และแอนดรอยด์ ที่ถูกยกให้เป็นเดอะเบสของปี 2021 กัน

1. LumaFusion

จัดเป็นแอพที่ถูกยกให้อยู่ในเกรดเดียวกับซอฟแวร์ตัดต่อบนเครื่องเดสก์ท็อป แม้ว่าตัวแอพเองจะมาแทนที่คอมพิวเตอร์ไม่ได้ซะทีเดียว ทว่า มือตัดต่อหลายคนก็ยืนยันว่า พวกเขาใช้ LumaFusion จบโปรเจกต์บนมือถือได้ นั่นก็เพราะแทนที่จะทำให้การตัดต่อบนมือถือนั้นง่ายลง เจ้าแอพตัวนี้กลับเล่นกับความซับซ้อน และทำให้สิ่งเหล่านั้นสามารถเข้าถึงได้ โดยมีตัวลำดับตัดต่อแทร็คต่างๆ พร้อมกันได้มากถึง 6 แทร็ค สำหรับวีดีโอ, ไตเติ้ล, กราฟิค, และเสียง แถมด้วยโอเวอร์เลย์เอฟเฟกต์, ดนตรี, และเสียงบรรยายต่างหากอีก 6 แทร็ค โดยผู้ใช้สามารถกดล็อค, กดซ่อน หรือปิดเสียงแทร็คเหล่านั้น ช่วยจัดการงานทุกอย่างได้ แม้จะทำบนมือก็ตาม จุดเด่นอีกอย่างของLumaFusion อยู่ที่การกระโดดข้ามไทม์ไลน์บนไฟล์วีดีโอไปมาได้อย่างอิสระและทรงประสิทธิภาพ แม้จะเป็นฟุตเทจขนาด 4K ก็มีโอเวอร์วิวให้สามารถกระโดดข้ามไปยังจุดใดก็ได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือทำเอฟเฟกต์, เครื่องมือตรวจสอบความถูกต้องของสี ไปจนถึงฟีเจอร์มิกซ์เสียงให้ได้ลิ้มลอง สนนราคาค่าตัวของแอพอาจจะแรงไปบ้าง แต่ก็สมเหตุสมผลเมื่อคิดว่าเป็นการจ่ายครั้งเดียวจบ ไม่ต้องซัปสไคร์บรายปีหรือรายเดือน
2. KineMaster กล่าวได้ว่าแอพนี้ดึงดูดผู้ใช้ให้อยากซับสไคร์บในทันทีที่ได้สัมผัส ถึงอย่างนั้นก็ถูกจัดให้เป็นซอฟแวร์ทรงพลัง และใช้งานได้จริง ไม่ว่าคุณจะเป็นสายเปย์หรือสายฟรี เริ่มจากการอิมพอร์ตคลิปเข้าแอพได้ง่ายไม่ต้องลุ้น ภายในก็แบ่งสรรพื้นที่หน้าจอได้มีประสิทธิภาพ การตั้งค่าเริ่มต้นตรงพรีวิว ขนาบข้างด้วยเครื่องมือบรรจุชุดคำสั่งจำเป็นไว้ (เช่น แก้ไข, ตั้งค่า เป็นต้น) มีปุ่ม record หน้าตาแบบกล้องถ่ายภาพ รายล้อมด้วยไอคอนต่างๆ สำหรับเพิ่มสื่อภาพ, เสียง ไปจนถึงโอเวอร์เลย์อื่นๆ ถึงจะดูกระจัดกระจายบ้าง แต่ก็ให้ความรู้สึกเพียงพอสำหรับงานตัดต่อบนมือถือเครื่องเล็กๆ ทั้งนี้ มีความแตกต่างระหว่างตัวแอพเวอร์ชั่นซับสไคร์บรายปี กับการใช้งานฟรี นั่นคือ แม้จะมีชุดเครื่องมือมากมายให้สายฟรีได้ใช้กันจนจุใจ แต่ตัวงานจะปรากฏลายน้ำในขั้นตอน export ซึ่งหากผู้ใช้ไม่ติดประเด็นนี้ ก็เหมือนกับได้ทดลองใช้งานตัวแอพฟรีก่อนตัดสินใจจ่ายเงิน สำหรับการซับสไคร์บรายปี ด้วยราคา 23 ดอลล่าร์ก็นับว่าเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับฝั่งเครื่องแอนดรอยด์ แต่ฝั่ง iOS อาจจะต้องชั่งใจกับ LumaFusion ก่อนตัดสินใจ

3. iMovie

ในร่างเดสก์ท็อป ซอฟแวร์ iMovie ขึ้นชื่อเรื่องใช้งานง่ายแต่ทรงพลัง แม้จะไม่เทพเท่า Final Cut Pro แต่ก็ใช้จบงานได้ ซึ่งชื่อเสียงนี้เองก็ครอบคลุมไปถึงตัวแอพ iMovie ในร่างมือถือเช่นกัน โดยทันทีที่ผู้ใช้โหลดคลิปวีดีโอจำนวนหนึ่งเข้าไป iMovieก็จะจัดการร้อยเรียงคลิปเหล่านั้นให้ต่อเนื่องกันในรูปแบบ single-track timeline และคลิปเหล่านี้ก็สามารถนำมาเรียงลำดับใหม่ได้ง่ายๆ และถ้าไม่อยากจ้องภาพรวมแทร็คขนาดจิ๋ว ก็สามารถซูมเข้าไปดูจุดใดจุดหนึ่งของไทม์ไลน์ได้ ตัวแอพยังมีฟังก์ชั่น editor ที่ใช้กับไตเติ้ล ที่แม้จะถูกกำหนดมาในรูปแบบธีมต่างๆ เอาไว้ แต่ทั้งฟรอนท์, สี และพื้นหลังสามารถปรับแต่งได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ใช้สามารถใส่ฟิลเตอร์กับ transitions, ปรับแต่งความเร็วคลิป, เพิ่มโอเวอร์เลย์เสียง ไปจนถึงทดลองทำเอฟเฟกต์กรีนสกรีน, ตัดแบ่งหน้าจอ และเอฟเฟกต์ภาพซ้อนภาพได้
อย่างไรก็ตาม การใช้งานระดับเจาะลึกของ iMovie ถูกแลกมาด้วยความหนืดของแอพ ฟีเจอร์หลายอย่างก็ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใช้หน้าใหม่ เช่น การเข้าถึงได้แต่จำกัดการใช้ของงานตัดต่อ กับตัวอย่าง templateสำเร็จรูป ที่สอนผู้ใช้ถึงโครงสร้างภาพยนตร์ และชนิดของการถ่ายภาพ ถึงอย่างนั้น มืออาชีพก็ไม่ควรมองข้ามแอพนี้ เพราะอย่างน้อยก็ใช้โยนคลิปต่างๆ เข้าไปรวมไว้ด้วยกันได้ ก่อนจะคิดสร้างสรรค์การเล่าเรื่องให้ลื่นไหลในซอฟแวร์อื่นต่อไป /By: ชมพูนุท นพคุณขจร / อ้างอิง: techradar.com