สำรวจปมจิตใจตัวละคร : Requiem (2006)

Dissociative Identity Disorder (DID) หรือ Multiple Personality Disorder (MPD)

คือโรคจิตชนิดที่ผู้ป่วยมีมากกว่า 2 บุคลิกขึ้นไป สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเหมือนเป็นคนละคนโดยไม่รู้สึกตัว ซึ่งเรามักพบเห็นอยู่ในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง ในวันนี้เราจะมาคุยกันถึง Requiem ภาพยนตร์ปี 2006 สร้างจากเรื่องจริงของ แอนนิลิส มิเชล นักศึกษาวัย 23 ในเมืองมิลเทนเบิร์ก เยอรมัน ซึ่งเสียชีวิตจากภาวะอ่อนเพลียและขาดอาหารระหว่างทำพิธีไล่ผี ก่อนหน้านั้นเธอเคยบอกว่า .. เธอเป็นซาตาน และเห็นผีเห็นปีศาจ แห่กันมาเป็นฝูง! ครอบครัวของมิเชลนั้นเคร่งศาสนาเป็นอันมาก พวกเขาต่างปฏิบัติศาสนกิจกันอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะคนที่เป็นแม่ ดูจะเคร่งครัดกว่าใครอื่น ซึ่งสอดคล้องกับบุคลิกแบบเคร่งเครียดจริงจัง สไตล์ไม้บรรทัด(Perfectionism) ของเธอ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มักเกิดขัดแย้งกับลูกสาววัยรุ่นอยู่เสมอ คนที่เป็นแม่มักสื่อสารกับคนในบ้าน(โดยเฉพาะกับลูกสาว)ในเชิงลบ ( ไม่รู้จักพูด-ฟัง-แสดงความรัก แต่หนักไปในทางตำหนิ-ติ- ด่า ปฏิกิริยาเย็นชาและท่าทีไม่ยอมรับอื่นๆ เช่น หลบตา,ทำท่าแข็งเกร็ง เมื่อลูกสาวเข้าใกล้หรืออยากเข้ามากอด) ก่อให้ลูกสาวเกิดความสับสน น้อยใจ และเก็บกด ในขณะที่บรรยากาศในบ้านมักเกิดความบาดหมางและตึงเครียดอยู่เสมอ หลายครั้งแม่ถึงกับลงไม้ลงมือ(ตบหน้า)ถ้าลูกสาวขึ้นเสียงเถียงสู้

ครั้งหนึ่งหลังจากโดนคนเป็นแม่พูดจาถากถางแถมตบหน้า ทันใดนั้นเธอก็โดนผีร้ายเข้ามาสิงเหมือนเช่นเคย

แต่ครั้งนี้มันแผลงฤทธิ์อย่างรุนแรงและน่ากลัวยิ่งกว่าทุกครั้ง! กระทั่งสร้อยประคำที่แม่ให้ไว้กันผีถูกเธอกระชากทิ้งอย่างไม่เหลือดี ปรากฏการณ์นี้มิใช่เกิดจากการเสแสร้งแกล้งทำ แต่เป็นอาการผิดปกติทางจิตชนิดบุคลิกซ้อน จิตถูกแบ่งแยกเป็น2 ด้านโดยอัตโนมัติ(Multiple or double personality) มิเชลต้องกดเก็บความรู้สึกที่มีต่อบุคคลที่เธอทั้งรักทั้งชัง นั่นก็คือ “แม่” ของเธอนั่นเอง แม่ที่จะรักก็รักได้ไม่เต็มที่ จะนึกเกลียดก็เกิดความรู้สึกผิดและบาป นั่นเองเป็นสิ่งที่Egoยอมรับไม่ได้ (ego คือ จิตตัวที่คอยปรับความสมดุลระหว่างสันดานดิบและมโนธรรม)
อาการผีเข้าจึงเป็นกลไกทางจิต ที่ตอบสนองความต้องการระบายความก้าวร้าวรุนแรง ความเป็นอริ ที่ฝังอยู่ในใต้จิตสำนึก(Primary gain) “ผี” จึงเป็นสัญลักษณ์ (Symbolic) ของการผ่อนคลายความตึงเครียดและขุ่นแค้น ที่สุมแน่นอยู่ในจิตใจ (Psychic Trauma หรือ ความชอกช้ำหรือ บาดแผลทางใจ) ทั้งสิ่งที่เธอได้รับโดยอ้อมจากการโดนผีเข้าก็คือ การห่วงใยเอาใจใส่ และให้อภัย (Secondary gain) จากผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจ (โดยเฉพาะ “แม่”) ส่วนเสียงดุด่าหยาบคาบต่างๆของผีที่ได้ยินทุกครั้งที่อาการกำเริบก็คือ เสียงที่เจ้าตัวปั้นขึ้นมาเองจากนโนสำนึก(Super-ego) ที่มักได้รับการปลูกฝัง หรือดุด่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปรมาจารย์ซิกมันด์ ฟรอยด์เรียกว่า เสียงแห่งศีลธรรม (Voice of Conscience)

เรื่องของผีเข้า-เจ้าสิง ฝรั่งยุคนี้แทบจะหาคนโดนเข้าไม่ค่อยได้ แถมไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ

ยกเว้นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่ศึกษาในแง่ของโรคจิตเภท (Schizophrenia) ส่วนในบ้านเรา ในบางท้องถิ่นได้กลายเป็นเรื่องของจิตเวชชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่ยังยึดมั่นในขนบประเพณีแบบดั้งเดิม ที่มีความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์ เรื่องผี ปีศาจ ฯลฯ… เช่น ในกรณีผีปอบ ที่ใครในท้องถิ่นนั้นก็มีโอกาสโดนสิงสู่ได้โดยฉับพลัน แถมยังอาจไปกระตุ้นผู้อื่น (ที่มีความอ่อนไหว-ตึงเครียดง่าย และมีความเชื่อเรื่องผีอย่างเหนียวแน่น) จนเกิดอารมณ์ร่วมกลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain Reaction) หรือระบาดไปจนกลายเป็นอุปาทานหมู่ (Mass Hysteria)
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ในบางท้องถิ่นจะยังคงขนบประเพณีการไล่ผี เพื่อรักษาสังคมนั้นๆ ไว้ แต่ก็ได้บัญญัติข้อจำกัดไว้อย่างมากมาย การทำพิธีไล่ผีจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ (เช่น พระที่จะทำการไล่ผี จะต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากพระสังฆราชประจำท้องถิ่นนั้น) จากโลกยุคกระสวยอวกาศมาถึงยุคดิจิตอล และกำลังย่างก้าวสู่โลกยุคพัฒนาการทางสมอง (Decade of the Brain) กรณีผีเข้า-เจ้าสิงได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เกิดขึ้นจากสาเหตุทางจิตใจ ที่มีผลต่อพฤติกรรมหลายอย่างที่ผิดปกติ วิทยาการทางการแพทย์จึงถือว่า คนที่โดนผีเข้า คือ ผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ ที่จะต้องได้รับการเยียวยารักษาโดยด่วน