สนุกกับโมเดล

สนุกกับโมเดล

เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เคยไหม…ที่อยากจะทำหนังอิสระที่มีฉากใหญ่ๆ แต่คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะทุนน้อย เป็นต้นว่า เครื่องบินตก เรือล่ม น้ำท่วม ตึกถล่ม ระเบิดเขา เผากระท่อม ฯลฯ ผมเองก็คิดอยากทำอยู่บ่อยๆ ก็เลยมาคิดว่า เอ…เทคนิคการใช้พวกฉากย่อส่วนและหุ่นจำลอง (Miniatures & Models) หรือเรียกง่ายๆ ว่า “โมเดล” มันก็น่าสนุกดีนะก็เลยลองไปศึกษาดู วันนี้เลยเอามาฝาก เผื่อว่าใครกำลังคิดบทหนังแอ็กชั่นมันระห่ำสไตล์โปรดิวเซอร์ เจอร์รี่ บรัคไฮเมอร์ แต่มีงบน้อย

โมเดลในหนัง

เทคนิคโมเดลถูกใช้ในหนังฮอลลีวู๊ดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีการสร้างภาพที่สูงแล้วก็ตาม ก็ยังมีการใช้โมเดลกันอยู่ เราลองมาดูซิว่า หนังดังๆ เรื่องไหนเขาใช้โมเดลกันบ้าง คงไม่ย้อนไปไกล เอาเป็นว่าตั้งแต่ไดโนเสาร์ออกมาวิ่งแบบตัวเป็นๆ ใน Jurassic Park เราก็คงต้องยอมรับในงาม CG นับแต่บัดนั้น แต่ฉากระเบิดทำเนียบขาวใน ID4 ก็ยังใช้โมเดล, Godzilla ถล่มเมืองนี่ก็ใช่ หรือจะเป็น BMW เหาะลงจากดาดฝ้าใน Tomorrow Never Dies, เฮลิคอปเตอร์ร่วงกระแทกตึกใน The Matrix, เครื่องบินชนกันกลางอากาศใน Pearl Harbor, ปราสาทใน The Lord of the Rings แม้แต่ฉากเรือเผชิญพายุใน Pirates of the Caribbean ก็เป็นโมเดล ลองมาดูหนังไทยกันบ้าง ภูเขาทองใน “นางนาก”, ประตูระเบิดใน “ฟ้าทะลายโจร”, เรือรบที่ปากน้ำใน “ทวิภพ”, บ้านไทยของป๊อดใน “มหานคร”, พระที่นั่งสรรเพชรมหาปราสาท เจดีย์ และวัดวังในหลายฉากของ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ก็เป็นโมเดลกะเขาด้วย
หัวใจของการถ่ายโมเดล เป้าหมายสูงสุดของการถ่ายโมเดล ก็คือ ทำยังไงไม่ให้รู้ว่านั่นเป็นโมเดล หัวใจของมันมี 3 ข้อ / ข้อแรก โมเดลต้องดูมีน้ำหนัก นุ่ม สลวย สวย เก๋ แต่งานนี้ซันซิลค์หรือแฟซ่าคงช่วยไม่ได้ ข้อสำคัญมากสำหรับการถ่ายโมเดลที่มีการเคลื่อนไหว เชื่อ ระเบิดลูกไฟ ข้าวของพังทลาย การพุ่งชน ล้มกระแทก วัตถุกระเด็นกระดอน ฯลฯ หลักการก็คือ ต้องยืดเวลาของภาพให้มีการเคลื่อนไหวช้าลงหรือการทำภาพ Slow Motion นั่นเอง เพราะการเคลื่อนไหวของวัตถุขนาดใหญ่จะกินเวลาและระยะทางมากกว่าวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ยกตัวอย่างการถ่ายทำฉากระเบิดทำเนียบขาวใน ID4 เอฟเฟ็คต์ระเบิดที่ลุกไหม้หมดเวลาในพริบตาจะถูกยืดเวลาให้นาน (ฉากนี้ถ่ายที่ speed 120เฟรม/ วินาทีเลยทีเดียว) เพราะในความเป็นจริง ระเบิดขนาดใหญ่ที่ทำลายทำเนียบขาวได้ ย่อมไม่ได้ลุกไหม้เร็วแบบเอฟเฟ็คต์ การยืดเวลาจะทำให้ระเบิดและเศษซากที่แตกปลิวกระจายดูมีน้ำหนัก นุ่ม สลวย สวย เก๋ งามอย่างเป็นธรรมชาติ / ต่อมาอย่างที่ 2 มีทัศนียภาพสมจริง สมมติว่าเราถ่ายภาพกว้างของบ้านทั้งหลังที่มีรถจอดอยู่หน้าบ้าน ด้วยเลนส์ปกติหรือเลนส์ไวด์ แน่นอนครับว่าทั้งบ้านและทั้งรถจะชัด ต้นไม้หลังบ้านก็ชัด บ้านเพื่อนที่อยู่ถัดไปข้างหลังก็ชัด เรียกได้ว่า ชัดถึง Infinity แต่ในกรณีการถ่ายบ้านโมเดล มันอาจเกิดปัญหาว่าบ้านชัดแต่รถไม่ชัด หรือรถชัดแต่บ้านไม่ชัด ซึ่งเป็นผลมาจากระยะชัดลึก – ชัดตื้นของเลนส์ ดังนั้น การถ่ายโมเดลให้ประสบความสำเร็จก็ต้องทำให้ได้ภาพ คม ชัด ลึก เหมือนการถ่ายบ้านขนาดปกติ ไม่งั้นแล้วจะดูออกทันทีว่าเป็นโมเดล……..ในทางกลับกัน หลักการก็ถูกนำไปใช้ในกรณีที่ต้องการถ่ายคนจริงๆ ให้ดูเหมือนเป็นมนุษย์จิ๋ว คือ แบ็คกราวด์ที่อยู่ห่างจากนักแสดงไม่มากจะต้องดูเบลอๆ เหมือนเวลาเราถ่ายของชิ้นเล็กๆ หรือถ่ายภาพใกล้ๆ วัตถุนั่นเอง

ความชัดลึกของภาพขึ้นอยู่กับ 3 ส่วน :

ส่วนแรก รูรับแสง ยิ่งแคบ ยิ่งชัดลึก / ส่วนต่อมา ความยาวโฟกัสของเลนส์ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นกล้องที่ซูมได้ การซูมเข้าคือการใช้ความยาวโฟกัสของเลนส์สูงกว่าการซูมออก แต่สำหรับการถ่ายโมเดล ควรใช้การซูมออกให้สุด หรือใช้เลนส์ไวด์ไปเลยครับ เพราะความยาวโฟกัสของเลนส์ที่น้อยๆ จะยิ่งให้ภาพชัดลึก / และส่วนที่ 3 ตำแหน่งที่โฟกัส (ระยะจากเลนส์กล้องถึงจุดที่โฟกัส) ยิ่งวางตำแหน่งของวัตถุห่างจากกล้องภาพก็ยิ่งชัดลึก
และสิ่งสำคัญข้อสุดท้าย “เสียงประกอบ” เสียงประกอบจะช่วยให้ภาพสมบูรณ์และสมจริงขึ้น เพราะแน่นอนว่าเสียงจริงๆ จากการถ่ายโมเดลมันใช้ไม่ได้ รถควรจะชนกันดังโครม! ไม่ใช่แป๋งงง…! ระเบิดควรจะดังตูมหรือบึ้ม ไม่ใช่ปัง! นอกจากนี้ยังรวมถึงการใส่เสียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตามเนื้อหาของสภาพ เช่น เสียงเศษซากปลิวร่วงกระทบกัน เสียงไฟลุกโหมกระพือ เสียงพื้นสั่นสะเทือน เสียงประกายไฟ เสียงไฟช็อต เป็นต้น / พอหอมปากหอมคอครับ สำหรับการลองใช้เทคนิคฉากย่อส่วนและหุ่นจำลอง เผื่อว่าใครจะลองเอาไปเล่นดูกัน (ผู้เขียน Scenesmaker / หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ฟิ้ว” ฉบับที่ 6 และการตีพิมพ์ใหม่นี้ได้รับอนุญาตจากนิตยสาร “ฟิ้ว” แล้ว)