วาด STORYBOARD 2

การเคลื่อนไหวของนักแสดงใน Storyboard : บางครั้ง Storyboard ที่เป็นภาพนิ่งๆ ก็อาจเล่าเรื่องได้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อนักแสดงหรือวัตถุมีการเคลื่อนไหว จึงนิยมวาดลูกศรเพื่ออธิบายทิศทางการเคลื่อนไหวนั้น โดยใช้ลูกศรสีดำเส้นบางๆ

การเชื่อมภาพ (Transition) : การเปลี่ยนภาพจากช็อตหนึ่งไปสู่อีกช็อตหนึ่ง หรือระหว่างฉากหนึ่งไปสู่อีกฉากหนึ่ง ก็สามารถวาดไว้ใน Storyboard ได้เหมือนกัน แม้ปัจจุบันการตัดต่อทุกอย่างจะทำในคอมพิวเตอร์ แต่การเขียน Transition ไว้ใน Storyboard ก็ไม่เสียหายนะ

Cut & Dissolve

CUT คือ การตัดชน เป็นวิธีพื้นฐานและใช้บ่อยที่สุดปกติใน Storyboard ก็จะมีการแบ่งเฟรมภาพเป็นช่องๆ ซึ่งหมายถึงการตัดชนธรรมดา บางคนอาจจะไล่จากซ้ายไปขวาแล้วขึ้นแถวใหม่ หรือบางคนอาจจะไล่จากบนลงล่างแล้วขึ้นคอลัมน์ใหม่ก็ได้ แล้วแต่ถนัด
DISSOLVE ภาษาไทยใช้คำว่า ‘การจางซ้อน’ เป็นการละลายภาพ 2 ภาพให้มาแทนที่กันมักใช้สื่อความหมายว่าเวลาได้ดำเนินผ่านไปเล็กน้อย การวาด Storyboard เพื่อให้รู้ว่า 2 ช็อตนี้จะ Dissolve เข้าหากันทำได้โดยวาดเครื่องหมายกากบาทไขว้

LONG TAKE

คือ การถ่ายภาพต่อเนื่องเป็นช็อตเดียวโดยไม่คัต ปกติถ้าการแสดงไม่มากก็อาจวาดเพียงช่องเดียว แต่บางครั้งการแสดงนั้นเปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนบล็อกกิ้ง มีตัวละครเพิ่ม ฯลฯ การวาด Storyboard โดยให้รู้ว่านี่เป็นช็อตต่อเนื่องกัน ไม่คัต อาจทำได้โดยการวาดช่องใหม่ แต่ให้ขอบเฟรมติดกัน เป็นการบอกว่านี่คือการถ่ายแบบต่อเนื่อง
ต่อไปนี้เวลาเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ จะถ่ายหนังสั้นหนังอิสระ ก็ลองวาด Storyboard ใช้ดูนะครับ ที่นำมาฝากในวันนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางให้วาดกันคล่องขึ้น แต่ถ้าไปเห็น Storyboard ที่อื่นไม่ใช่หน้าตาแบบนี้ก็ไม่ต้องตกใจนะครับ บางที…สูตรใครก็สูตรคนนั้นนั่นเอง ……… (ผู้เขียน Scenesmaker / หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ฟิ้ว” ฉบับที่ 8 และการตีพิมพ์ใหม่นี้ได้รับอนุญาตจากนิตยสาร “ฟิ้ว” แล้ว)