วาด STORYBOARD 1

หลายคนอาจรู้แล้วว่าการวาด Storyboard นั้นมีเรื่องของ ‘สัดส่วนจอภาพ’ และ ‘ขนาดภาพ’ แต่วันนี้ก็จะมาคุยกันในเรื่องการเคลื่อนกล้องแบบต่างๆ, การเชื่อมภาพ และการเคลื่อนไหวของนักแสดง ...มาเริ่มกันเลย

การเคลื่อนกล้อง : เมื่อมีการเคลื่อนกล้องหมายความว่าในหนึ่งช็อตต้องมีเฟรมแรก และเฟรมสุดท้ายในการบันทึกภาพ การวาด Storyboard จึงไม่ใช่แค่การวาดภาพเฟรมเดียวหรือช่องเดียวแล้ว เราอาจจะต้องวาดภาพทั้งหมดที่กล้องจะเคลื่อนผ่าน เอาล่ะ แล้วค่อยดูกันต่อ แต่โดยทั่วไปสัญลักษณ์ที่ใช้ในการเคลื่อนกล้องจะเป็นลูกศรใหญ่หนา สีขาวทึบ การเคลื่อนของกล้องที่มีหลายลักษณะ เช่น Zoom, Pan, Tilt, Dooly, Crane, Jerk และ Handheld

ZOOM & PAN

(ZOOM) : คือการสร้างความเคลื่อนไหวของภาพด้วย ‘เลนส์’ …ซูมเข้า (Zoom In) คือการดึงภาพจากไกลเข้ามาใกล้ ส่วน ซูมออก (Zoom Out) คือการถอยภาพจากใกล้ออกไปเป็นภาพไกล การวาด Storyboard ที่มีการซูมภาพ อาจจะวาดเฟรมภาพซ้อมกันไว้ 2 ขนาด คือขนาดภาพก่อนซูม และหลังซูม แล้วใช้ลูกศรแสดงทิศทางการซูม
(PAN) : ใครๆ ก็ไม่รักผม ขนาดพัดลมยังส่ายหน้าเลย… ไม่ได้น้อยใจอะไร แค่อยากให้นึกออกง่ายๆ ว่าการแพนนั้นก็คือการหันกล้องไปทางซ้ายหรือขวาเหมือนพัดลมส่ายหน้า เรียกว่า แพนซ้าย (Pan Left) หรือ แพนขวา (Pan Right) การแพนทำให้การบันทึกภาพกินพื้นที่กว้างขวางออกไปทางด้านข้าง ดังนั้น ในการวาด Storyboard เราอาจต้องวาดภาพที่กว้างกว่าเฟรมเดียว ก็หลักการเดียวกันกับการซูมนั่นแหละครับ คือวาดเฟรมภาพก่อนแพน และเฟรมหลังแพนเสร็จ

TILT , DOLLY & TRACK

(TILT) : จะว่าไปมันก็คือ การแพนขึ้น-ลงในแนวดิ่งนั่นเอง แต่จะเรียกว่า Tilt Up หรือ Tilt Down การบันทึกภาพจะกินพื้นที่เพิ่มไปทางด้านบน-ล่าง การวาด Storyboard ก็จะต้องวาดภาพที่เพิ่มขึ้นในแนวดิ่ง / (DOLLY) : คือ การเคลื่อนกล้องจากเฟรมหนึ่งไปยังอีกเฟรมหนึ่งด้วยล้อเลื่อน โดยพื้นฐานแล้วมักหมายถึง การเคลื่อนกล้องไปทางด้านข้าง คือ Dolly Left หรือ Dolly Right การวาดลูกศรใน Storyboard จะคล้ายกับการแพน แต่เพื่อความชัดเจนและเพื่อสร้างความรู้สึก เราอาจจะวาดลูกศรให้ยาวขึ้น / (TRACK) : เป็นการดอลลี่ชนิดหนึ่ง แต่หมายถึงการเคลื่อนกล้องไปข้างหน้าเข้าหาวัตถุ เรียกว่า Track In หรือถอยหลังออกจากวัตถุ เรียกว่า Track Out การวาดลูกศรใน Storyboard นิยมวาดให้มีลูกศรดูมีระยะ มี Perspective ของลูกศรด้วย
(CRANE) : คือการนำกล้องไปติดตั้งบนแขนปั้นจั่น (ดิกชันนารีเค้าแปลว่ายังงั้น) และเคลื่อนที่ในแนวดิ่งจากมุมต่ำไปมุมสูง เรียกว่า Crane Up หรือจากมุมสูงลงมามุมต่ำเรียกว่า Crane Down การวาดลูกศรใน Storyboard จะคล้ายกับการทิลต์ แต่อาจจะวาดลูกศรให้ยาวขึ้น หรือวาดตามวงสวิงของแขนเครนตามที่ออกแบบไว้ก็ได้ครับ / และท้ายสุดสำหรับบทคววามตอนที่ 1 นี้ (JERK, HANDHELD) : กล้องสั่น! และการถือกล้องถ่ายทำโดยไม่ใช้ขาตั้งหรืออุปกรณ์เสริม เป็นการเคลื่อนกล้องอีกแบบหนึ่งในน่าวาดไว้ใน Storyboard เพราะจะทำให้ตากล้องและทีมงานรู้วิธีการทำงานได้ง่ายขึ้นมากกว่าการวาดเฟรมนิ่งๆ การวาดขอบเฟรมซ้อนเหลี่ยมกันหลายๆ ชั้น จะช่วยแสดงความรู้สึกสั่นหรือแกว่งไกวของภาพได้ ……….. (ผู้เขียน Scenesmaker / หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ฟิ้ว” ฉบับที่ 8 และการตีพิมพ์ใหม่นี้ได้รับอนุญาตจากนิตยสาร “ฟิ้ว” แล้ว)