“จริงอยู่ที่เราทุกคนต้องมีความต้องการพึ่งพาผู้อื่นด้วยกันทั้งสิ้น แต่จะอยู่ในระดับมากน้อยเพียงใดนั้น ก็แล้วแต่บุคคลและเหตุการณ์ แต่ยังมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาจะพึ่งพาผู้อื่นมากจนเกินปกติ ทำให้เขาเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิต และในหลายๆกรณี เขามักแสดงในรูปแบบที่ตรงข้ามซ่อนเร้น และเข้าใจยาก” อาจารย์ สุวนีย์ เกี่ยวกิ่งแก้ว ภาควิชาพยาบาลจิตเวช ม.เชียงใหม่ / เหอเป่าหวัง (เลสลี่จาง) ในภาพยนตร์ Happy Together (1997) กำกับโดยหว่องกาไว เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจของผู้ที่มีบุคลิกแบบ “ไม้เลื้อย” (Dependency or hopeless character) ที่คอยโอนเอนเข้าหาไม้หลักเพื่อเกาะเกี่ยวผูกพัน จริงๆ แล้วไหลเยิ่วฟา (เหลียงเฉาเว่ย) ก็ยินดีที่จะเป็นไม้หลักให้พึ่งพิง แต่คุณเหอก็ช่างพันพัวนัวเนียและพึ่งพาเขาในทุกๆ เรื่อง (Morbid Dependency) กระทั่งเริ่มรู้สึกว่าตนเองเหมือนขี้ข้ายิ่งขึ้นทุกวัน หนำซ้ำเหอยังกลับประพฤติตัวคบกับคนไม่เลือกหน้า เหมือนการพยายามแสวงหาอิสรภาพอย่างไร้สติ จึงกลายเป็นการทำลายตนเองอย่างไม่รู้ตัว และผลที่ตามมาก็คือ ไหลเยิ่วฟาสุดจะทนต่อไปไหว กระทั่งเผ่นแน่บหนีไปอย่างไม่ใยดี ปล่อยให้เหอนอนคร่ำครวญอย่างทุกข์ทรมาน
นี่คือคนที่ตกอยู่ในภาวะมืดแปดด้านท้อแท้สิ้นหวัง หมดปัญญาจะจัดการใดๆกับชีวิตของตน(helplessness) แต่บางรายกลับแสดงออกอย่างตรงข้ามสุดขั้ว (Reaction formation) กลายเป็นคนก้าวร้าวรุนแรง ต่อต้านสังคม หรือเบี่ยงเบนไปในทางสำส่อนทางเพศ และที่พบบ่อยๆ คือ กลายเป็นคนติดเหล้าหรือติดยาเสพติดจนงอมแงม (Alcoholism and Addiction) ที่เสพติดเหล้าหรือยานั้นเพราะเขาเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยลด หรือลืมความกลัวที่ว่า “ไม่มีใครต้องการแก” (Unfulfilled Dependency Need) ดังนั้นเหล้าหรือยาก็คือ สัญลักษณ์ (Symbolization) ของความไว้ใจได้ และพึ่งพิงได้ (ดื่มเมื่อใด ก็เมาได้เมื่อนั้น) แม้ว่ายิ่งดื่มยิ่งทรุดทั้งร่างกายและจิตใจ ยิ่งรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าชิงชังตนเองมากขึ้น ก็ยิ่งต้องดื่มต้องเสพให้มากๆขึ้นเพื่อให้ลืมความรู้สึกเลวร้ายนั้น กลายเป็นวงจรหายนะ ที่มักจะสิ้นสุดที่การสิ้นใจตายคาขวดเหล้า