พื้นที่ส่วนบุคคลห้ามเข้า! รู้จักระยะอาณาเขตการแสดง

รู้จักระยะอาณาเขตการแสดง

รู้จักระยะอาณาเขตการแสดง วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง “การกำกับการแสดง” เพราะมีแง่มุมที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เริ่มกันที่เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนคุ้นเคยแต่อาจจะไม่ทันได้สังเกต ลองมาขบคิดตามไปเล่นๆ กันกับหัวข้อ “ระยะอาณาเขต” ระยะอาณาเขต ที่เรากำลังจะคุยกันนี้หมายถึงระยะห่างระหว่างเรากับบุคคลอื่นๆ หรือพื้นที่รอบๆ ตัว ที่เรากำหนดขึ้นเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว ซึ่งใกล้ชิดมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งหลายแหล่ ระยะอาณาเขตเป็นงานศึกษาวิจัยของนักจิตวิทยาซึ่งผู้กำกับหรือผู้ช่วยฯ สามารถนำไปใช้ในการออกแบบการแสดงของตัวละครได้ ระยะอาณาเขต แบ่งได้ 4 ระยะ คือ

1. ระยะสาธารณะ

เป็นระยะสบายใจที่เราจะเลือกยืนเมื่ออยู่ร่วมกับฝูงชนคนไม่รู้จัก ตามงานวิจัยกล่าวว่าระยะห่างประมาณ 3.5 เมตรขึ้นไป เรียกว่า Public Zone เช่น เมื่อเราอยู่ในสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ริมถนน ฯลฯ เราจะไม่ไปใกล้ชิดบุคคลอื่นๆ เกินกว่า 3.5 เมตร ถ้าไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น ในห้องน้ำชาย ถ้าเราเดินเข้าไปแล้วพบว่ามีคนอื่นยืนทำธุระอยู่ที่โถ เราจะเลือกโถที่อยู่ไกลจากเขาให้มากเข้าไว้ แต่ถ้าตัวละครในหนังของคุณเลือกที่จะเข้าไปใช้โถที่ใกล้ชิดติดกันทั้งๆ ที่โถอื่นก็ยังว่าง เราอาจจะเข้าใจว่าตัวละครของคุณไม่ชอบมาพากล! หรืออาจเคยผ่านตาในหนังโรแมนติก ฉากพระเอก – นางเอก นางเอกที่ยังไม่รู้จักกัน ต้องมา รอรถเมล์ตามลำพังทั้งสองคน หนังเปิดฉากด้วยตัวละครยืนอยู่คนละฟากของป้ายรถเมล์ พระเอกค่อยๆ ขยับเข้ามาใกล้นางเอกหวังจะทำความรู้จัก แต่พอเข้าใกล้มากเกินไปนางเอกกลับเป็นฝ่ายขยับเดินหนีนั่นก็เพราะนางเอกต้องรักษาระยะ Public Zone เอาไว้นั่นเอง โดยที่อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพระเอกเป็นใคร และกำลังคิดอะไร
2.ระยะสังคม หรือ Social Zone ระยะห่างประมาณ 1.20 – 3.60 เมตร เราจะใช้ระยะนี้อยู่ห่างจากคนแปลกหน้า เช่น ช่างซ่อมสายโทรศัพท์ คนส่งแก๊ส บุรุษไปรษณีย์ หรือเจ้าของร้านค้าที่ไม่สนิทสนมตัวละครก็เช่นกัน ในฉากที่ตัวละครต้องร่วมฉากกับคนแปลกหน้า ผู้กำกับควรเลือกใช้ระยะให้เหมาะสมเพราะบางครั้ง “นักแสดง” มีความสนิทสนมต่อกันมากกว่าที่ “ตัวละคร” ควรจะเป็น เมื่อตัวละครอยู่ใกล้กันมากเกินไป ความหมายที่ภาพสื่อออกมาอาจผิดเพี้ยนไปได้ เช่น ผู้หญิงเจ้าของบ้านคนนี้มีใจกับช่างซ่อมสายโทรศัพท์รึเปล่า? อย่างไรก็ตาม การใช้ระยะอาณาเขตก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสังคม มีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมของระยะอาณาเขต สามีภรรยาคู่หนึ่งย้ายจากเดนมาร์กไปอยู่ซิดนีย์ และได้รับเชิญให้ไปร่วมงานที่คลับแห่งหนึ่ง วันรุ่งขึ้น สมาชิกคลับเพศหญิงหลายคนบ่นว่าผู้ชายเดนมาร์กล่วงเกินพวกหล่อน ส่วนสมาชิกคลับเพศชายรู้สึกว่าผู้หญิงเดนมาร์กให้ท่าพวกเขา??? ข้อสังเกตนี้เราอาจจะเคยเห็นในภาพยนตร์หรือละครไทยมาบ้างแล้ว เช่น มีตัวละครสาวลูกครึ่งกลับมาจากต่างประเทศ พฤติกรรมเรื่องระยะใกล้ชิดของเธอทำให้ผู้ชายไทยหวั่นไหวหรือถึงขั้นคิดสกปรก รวมถึงสร้างความหนักใจให้กับญาติพี่น้อง โดยที่เธอไม่เชื่อ

3. ระยะบุคคล หรือ Personal Zone

ระยะห่างประมาณ 0.50 – 1.20 เมตร เป็นระยะที่เราใช้กับคนที่เรารู้จักในระดับหนึ่ง เช่น เพื่อนร่วมงาน อาจารย์ เพื่อนบ้าน ฯลฯ ถ้าเราใช้ระยะ Personal Zone กับตัวละครที่เป็นนายทหารสัญญาบัตรกับทหารประทวนคนหนึ่ง ก็คงจะดูเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราต้องการความไม่ปกติล่ะ! สมมติว่าทหารต่างชั้นยศสองคนนั้น เป็นเพื่อนที่ชอบออกไปตกปลากันในวันหยุด วันนั้นเราอาจจะเห็นระยะของเขาเปลี่ยนไปก็ได้ และเมื่อกลับมาสู่วันทำงานระยะของเขาก็คงจะกลับมาเป็นแบบ Personal Zone ซึ่งมันจะช่วยสะท้อนคาแร็กเตอร์ของเขาทั้งสองได้อย่างดี
4. ระยะใกล้ชิด หรือ Intimate Zone ระยะห่างน้อยกว่า 0.5 เมตร เป็นระยะที่ตัวละครหวงแหนที่สุด บุคคลที่จะเข้ามาในระยะนี้ได้ต้องมีความใกล้ชิด เช่น คู่รัก พ่อแม่ ลูก เพื่อน หรือญาติ บางครั้งตัวละครหรือแม้แต่เราเองก็มีเหตุให้ต้องเข้าไปใกล้ชิดบุคคลมากกว่าระยะที่สบายใจ เช่น พนักงานสาวที่ต้องเข้าไปติดเข็มกลัดดอกไม้ที่หน้าอกของผู้บริหาร ระยะของเขาต้องใกล้ชิดโดยจำเป็น หากผู้กำกับจะดีไซน์การแสดงลักษณะนี้ มีรายงานวิจัยว่าให้ลองไปพิจารณาที่ระยะห่างของ ‘สะโพก’ มันจะบอกระดับความสัมพันธ์ของเขาได้ พนักงานสาวอาจจะยืดแขนออกไปมากจนถึงขั้นอยู่ในท่าที่ไม่ถนัด เพื่อรักษาระยะห่างของสะโพกนั่นเอง / แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อตัวละครต้องอยู่ในระยะที่ใกล้ชิดกับผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้รายงานวิจัยบอกว่า เราจะไม่พูดกับใคร หลบสายตาคนอื่นตลอดเวลา ตีหน้าตายและไม่ค่อยแสดงอารมณ์ออกมา หรือถ้ามีหนังสือหรือโทรศัพท์ เราจะหมกมุ่นกับมันมากกว่าปกติ การหวงแหนหรือรักษาพื้นที่ส่วนตัว เป็นลักษณะธรรมชาติของมนุษย์เพื่อคงความสบายใจแต่หนังก็ย่อมมีปมขัดแย้ง (Conflict) เพื่อทำลายความสบายใจนั้นๆ ซึ่งเราอาจจะใช้เทคนิคเรื่องระยะอาณาเขตไปเพิ่มชั้นเชิงทางการแสดงและการกำกับในหนังของเราได้นะ (ผู้เขียน นภสร) / หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ฟิ้ว” และการตีพิมพ์ใหม่นี้ได้รับอนุญาตจากนิตยสาร “ฟิ้ว” แล้ว