พื้นฐานการวิจารณ์ภาพยนตร์แนวสตรีนิยม

ทฤษฎีสตรีนิยมเริ่มต้นราว ค.ศ.1970 จากการที่เริ่มมีผู้คนตั้งคำถามกับสังคมว่า ทำไมถึงมีการกีดกันผู้หญิงสารพัด เช่น ผู้หญิงต้องถูกจำกัดให้ทำงานได้ไม่กี่อย่าง เช่น เป็นพยาบาล เป็นเลขาฯ เป็นแม่บ้าน ซึ่งต่อมาได้เกิดการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในประเด็นความเป็นหญิงเป็นชาย

โดยหลักชีววิทยาความเป็นหญิงเป็นชายคือเพศสภาพตามธรรมชาติ เช่น ผู้ชายมีอวัยวะเพศ ผู้หญิงมีอวัยวะอวัยวะเพศหญิง ผู้หญิงมีมดลูก ผู้ชายผลิตอสุจิได้ นอกจากนั้น สังคมยังเป็นตัวกำหนดบทบาทสถานะของหญิงชาย ที่เราเรียกว่าเพศสภาวะซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์กําหนดขึ้นเอาเอง เช่น ผู้ชายต้องไปออกรบ ผู้หญิงต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน ทำอาหาร มันแยกบทบาทกันเช่นนี้ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ต่อมาได้เกิดเป็นประเด็นขึ้น โดยเริ่มที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องสิทธิการเลือกตั้ง มีการเรียกร้องว่าทำไมผู้หญิงถึงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญสหรัฐระบุไว้ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ยุคนั้นไปตีความว่าผู้หญิงเลือกตั้งไม่ได้ เพราะกิจกรรมนอกบ้านเป็นของผู้ชาย ส่วนผู้หญิงต้องทำกิจกรรมอะไรต่างๆในบ้านเท่านั้น

แล้ววันหนึ่งก็มีผู้หญิงจำนวนมากออกมาเรียกร้องสิทธิเรื่องนี้ แล้วก็ดำเนินการต่อสู้ฝ่าอุปสรรคมามากมายกระทั่งประสบความสำเร็จ จากวันนั้นมาก็มีประเด็นอื่น ๆ เช่น เรื่องการลาคลอดของผู้หญิงที่ทำงานบริษัทหรือในองค์กรต่าง ๆ กระทั่งวิธีการเลี้ยงดูที่มีความไม่เสมอภาคกันของเด็กชายและเด็กหญิง ที่ในหลายสังคมให้ความสําคัญกับลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิง

การต่อสู้เรียกร้องได้ดำเนินมากระทั่งเกิดเป็นรูปแบบแนวความคิดเป็นคลื่นลูกที่หนึ่ง คลื่นลูกที่สอง คลื่นลูกที่สาม แต่ละคลื่นจะมีปรากฏการณ์ที่ต่างกันไป บางคลื่นก็จะมีเรื่องสิทธิ บางคลื่นก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับความเป็นเพศ มองว่าความเป็นหญิงเป็นชายว่า เป็นเรื่องของวาทกรรมที่ถูกสังคมหล่อหลอมขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้มีอยู่จริง ดังนั้นการที่ผู้หญิงต้องถูกกีดกันจากโอกาสต่าง ๆ ในสังคมมันคือความไม่เป็นธรรม

การต่อสู้เรียกร้องที่ดำเนินมาตั้งแต่แรกนั้น ภาพยนตร์คือเครื่องมืออีกสิ่งที่สำคัญในการกระตุ้นให้สังคมต้องตั้งคำถามถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในฐานะผู้หญิงก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผู้ชาย

ภาพยนตร์หลายเรื่องได้เกิดเป็นกระแสทำให้สังคมหันมาสนใจในประเด็นเรียกร้องนี้เป็นอย่างมาก เช่น หนังเรื่อง Jeanne Dielman ซึ่งได้รับการโหวต จาก นิตยสาร Side and Sound อันเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดชีวิตแม่บ้านชาวเบลเยียมว่าในทุก ๆ วันที่อยู่แต่ในบ้านต้องทำอะไรบ้าง ถึงแม้บางวันได้ออกนอกบ้านบ้างแต่ถูกจำกัดสิทธิสารพัด

หรือหนังอิหร่าน เรื่อง The Day I Became a Woman เป็นการเล่าเรื่องของผู้หญิงในสามวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยแต่งงานและวัยชรา สะท้อนภาพว่าผู้หญิงในสังคมอิหร่านต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตอย่างไรบ้าง เช่น พออายุ 9 ขวบก็ต้องคลุมห่มร่างกายอย่างมิดชิด ต้องปิดบังใบหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชายมองเห็นหน้า หรือการที่ผู้หญิงห้ามปั่นจักรยานเพราะถือกันว่าเป็นบาป มีภาพกลุ่มผู้ชายขี่ม้าไล่ล่าผู้หญิงเพราะเธอเพียงแค่ขี่จักรยาน หรืออย่างชีวิตของคุณป้าคนหนึ่งซึ่งเก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตเพื่อวันหนึ่งแกได้นั่งเครื่องบินมาเที่ยวในเมือง มาเดินเที่ยวมาซื้อของที่อยากได้ ทุกครั้งที่ซื้อของหนึ่งอย่างแกก็จะเอาผ้าพันนิ้วของแกทีละนิ้วทีละนิ้ว กระทั่งเหลืออีกหนึ่งนิ้วที่ยังไม่ได้พัน ซึ่งแกคิดไม่ออกว่าอยากได้อะไรอีก และแล้วแกก็คิดขึ้นได้ว่าสิ่งที่ยังแกอยากได้มาตลอดชีวิตคือ “อยากได้ลูกชาย”

ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องของเพศสภาพในภาพยนตร์แต่ละเรื่อง จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์ อย่างในสังคมไทย เราอาจจะดูปัญหาสิทธิสตรี เช่น ในเรื่องของการลาคลอด กระทั่งเรื่องของการตัดสินที่ต่างกันเพียงเพราะความเป็นหญิงเป็นชาย ดูว่าผู้หญิงยังต้องเผชิญและมีการต่อสู้เรียกร้องกับปัญหาเหล่านี้มากน้อยเพียงใด หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นของการทําความเข้าใจกับหนังแนว สตรีนิยม

บทความนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ อ.ศาสวัต บุญศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร ใน fuse. In Sequence

รับชมวิดีโอเพิ่มเติม

Play Video