พื้นฐานการวิจารณ์ภาพยนตร์มาร์กซิสต์

“แมสเสจบางอย่างต้องการหล่อหลอมวิธีคิดของคนดู เราก็มาดูว่าความคิดแบบนี้ มันคืออะไร ถูกสร้างโดยใคร จุดมุ่งหมายคืออะไร คนในสังคมตอบรับกับสิ่งเหล่านี้ยังไงบ้าง” – อ.ศาสวัต บุญศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร

ทฤษฎีมาร์กซิส (Marxism Theory) มีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ

1. กลไกส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ

2. กลไกส่วนที่เป็นอุดมการณ์

กลไกทั้งสองคือกรงล้อที่หมุนไปข้างหน้า โดยมีเรื่องของเศรษฐกิจเป็นตัวผลักอุดมการณ์ให้หมุนไป คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx) เจ้าของทฤษฎี จึงให้ความสำคัญกับเรื่องทางเศรษฐกิจมากกว่า

ต่อมาบรรดาลูกศิษย์ของมาร์กซ กลับเห็นแย้งอาจารย์ คือเห็นว่าอุดมการณ์สำคัญกว่าเศรษฐกิจ( กลายเป็นกลุ่ม Neo-Marxist) แถมยังมีความคิดด้านศิลปะแตกต่างกัน เช่น สาย Soft power สายศิลปะชั้นสูง สายศิลปะพื้นบ้าน ฯลฯ

เมื่อเรามองในยุคของเราที่มีสื่ออย่างหลากหลายนอกจากภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ ยังมี Youtube Tiktok ในยุคที่ปัจเจกชนต่างล้วนเป็นเจ้าของสื่ออยู่ในมือถือของตน ช่างต่างกันลิบลับกับยุคอดีตที่ผู้คนมีโอกาสโดนสื่อทำให้ตื่นตระหนกอย่างไม่คาดฝัน เช่น กรณีของละครวิทยุเรื่อง War of the Worlds ของ Orson Welles ที่ทําละครวิทยุแนวมนุษย์ต่างดาวบุกโลกแต่ใช้วิธีการนำเสนอโดยเลียนแบบการประกาศข่าวด่วนข่าวร้ายทำให้ประชาชนขวัญผวาแทบวิ่งหนีออกจากบ้านกันทั้งเมือง

ผู้คนฟังแล้วไม่มีใครไม่เชื่อ แต่มันจะไม่มีปรากฎการณ์เช่นนั้นแน่ถ้าหากยุคนั้นมีสื่อออนไลน์อย่าง Youtube Facebook หรือ Twiter เพราะคนจะรู้เท่าทันกันหมด แต่ในยุคต่อมากระทั่งถึงยุคปัจจุบัน เขามักจะใช้วิธีการที่เรียกว่า “น้ำซึมบ่อทราย” ทฤษฎีนี้ก็คือ ให้สิ่งที่ต้องการปลูกฝังนั้นค่อยๆซึมซับลงไป ก็เหมือนที่เราดูโฆษณาสักชิ้นหนึ่ง สมมุติเป็นโฆษณาแฮมเบอร์เกอร์ที่ดูครั้งแรกก็ยังไม่ได้รู้สึกอยากกิน แต่พอฉายบ่อยๆดูบ่อยขึ้นบ่อยขึ้นดูเรื่อยๆ ต่อมาพอไปเดินห้างเห็นแฮมเบอร์เกอร์ยี่ห้อนั้นขึ้นมาจะรู้สึกอยากกินและต้องกินทันทีโดยเราไม่รู้ตัวเลยว่ามันได้ฝังอยู่ในสมองเราแล้ว

ในเรื่องของสื่อภาพยนตร์ก็ทำหน้าที่อย่างนั้นเช่นกัน แม้แต่ วลาดีมีร์ เลนินผู้นำรัสเซียในยุคก่อนยังเห็นถึงพลังของภาพยนตร์ และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารเผยแพร่อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ไปสู่ผู้คน เช่นการทำหนังเชิดชูทหารที่ต่อต้านพระเจ้าซาร์ แถมแสดงให้เห็นความเลวร้ายสารพัดของเขา แล้วยังพยายามนำเสนอว่าการเป็นคนดีมีอุดมการณ์ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ คือเขาใช้ภาพยนตร์ทำหน้าที่ค่อย ๆ ปลูกฝังค่อย ๆ ซึมซับไปเรื่อย ๆ

หลายครั้งที่ภาพยนตร์ถูกมองในฐานะเครื่องมือของรัฐ วัตถุประสงค์ใหญ่ก็คือพยายามนำอุดมการณ์รัฐไปสู่ผู้ชม ให้เกิดความรักชาติหวงแหนแผ่นดิน

ภาพยนตร์ก็คือสื่อที่ให้ความบันเทิง เราดูโดยไม่คิดว่ามันจะทำหน้าที่เป็นครูที่คอยสั่งสอนจี้ไชเรา เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคนดูก็จะตั้งกำแพงไม่เชื่อไม่ชอบไม่ยอมรับ แต่เพราะว่ามันคือศาสตร์และศิลป์เราจึงถูกกล่อมเกลาโดยไม่รู้ตัว

เหมือนโลกยุคเก่า การล่าในนิคมเขาใช้ปืนใช้เรือปืน แต่ต่อมาเขาใช้ล่าเมืองขึ้นด้วยวิถีทางวัฒนธรรม เช่น ส่งหนังไปฉาย ส่งเพลงไปขาย อย่างในยุค 90 หนังเชิดชูอเมริกันอย่าง Independence Day ทำให้เราชื่นชมทั้งความเป็นอเมริกันและคลั่ง Will Smith อย่างไม่รู้ตัว

แต่ในวันนี้มีผู้คนอีกไม่น้อยที่ปฎิเสธในสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อและคลั่งไคล้ เรียกว่าพวก Counter (ต่อต้านการชวนเชื่อต่างๆ) ซึ่งในวงการภาพยนตร์ก็มีเช่นนี้ด้วย นั่นคือกลุ่มที่พูดว่าพวกคุณคิดและทำหนังอย่างนั้นใช่มั้ย ส่วนฉันจะทําหนังที่มันตรงกันข้ามกับพวกคุณ เลยเกิดสองแนวคิดที่มีความเป็นปฏิปักษ์กันอยู่

จึงขอแนะนําน้อง ๆ สําหรับการเริ่มต้นศึกษาว่า ต้องรู้ไว้ก่อนว่าหนังทุกเรื่องมันมีความคิดความเชื่อของคนสร้างแฝงอยู่ แม้ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อย่างเราดูหนังเรื่อง Avengers จะรู้สึกว่าไม่มีใครเชียร์ธานอสเลย ทั้ง ๆ ที่ธานอสอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่เราต้องเชียร์ฝ่ายธรรมะไม่เชียร์มันไม่ได้ แต่หากเราลองมองในมุมกลับกัน ถ้าเราเปลี่ยนความเชื่อให้กลายเป็นว่า จริง ๆ แล้วธานอสต่างหากที่เป็นฝ่ายธรรมะที่แท้จริง เขานั่นแหละคือผู้พยายามทําทุกอย่างเพื่อให้สมดุลของธรรมชาติกลับคืนมา เราจะพยายามหาเหตุผลและคิดอย่างนั้นเข้าไว้ สุดท้ายเราก็จะไปเชียร์ธานอสแทน

โดยสรุปคือภาพยนตร์นั้นสามารถเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่หล่อหลอมความคิดความเชื่อของผู้คนได้ ดังนั้นเราต้องพิจารณาดูว่าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ มันถูกสร้างโดยใคร มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไรแล้วคนดูและสังคมตอบรับกับสิ่งเหล่านี้อย่างไรบ้าง

บทความนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ อ.ศาสวัต บุญศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร ใน fuse. In Sequence

รับชมวิดีโอเพิ่มเติม

Play Video