พื้นฐานการวิจารณ์ภาพยนตร์รูปแบบนิยม

“มีหนังอยู่ประเภทหนึ่งที่ไม่ได้มุ่งเน้นการเล่าเรื่อง แต่มันให้น้ำหนักของวิธีการเล่ามากกว่าเนื้อหา ดูง่ายๆเลยก็คือเป็นหนังที่พอเราดูจบแล้วเราจะจําภาพหรือเราจดจําเทคนิคทางภาพยนตร์ได้มากกว่าเนื้อหา” – อ.ศาสวัต บุญศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร

ภาพยนตร์นั้นมันเริ่มต้นมาจาก งานวรรณกรรม คือเป็นการหยิบยืมมาจากศิลปะที่มีอยู่ก่อนแล้ว โดนเฉพาะศิลปะการเล่าเรื่องซึ่งเราแบ่งออกได้เป็นสองส่วน ได้แก่ 1. เล่าเรื่องอะไร 2. เล่าอย่างไร

นักอ่านวรรณกรรมศึกษาบางคนไม่สนใจเนื้อหาเลย แต่มุ่งเน้นไปที่เขาเล่าออกมายังไง คือจะไปดูวิธีการว่าเขาใช้ภาษา ใช้วิธีการเรียงประโยค วิธีการย่อหน้า ฯลฯ

เช่น นิยายเรื่องตุ๊กตาของคุณวินทร์ เลียววาริณ ที่เป็นวรรณกรรมไทยแนวทดลองที่ใช้ประโยคคําถามทั้งเรื่อง หรือเรื่องเงาสีขาวของแดนอรัญ ที่ไม่มีย่อหน้าเลย วิธีการเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อในงานสร้างภาพยนตร์ด้วย ต้องไม่ลืมว่า ภาพยนตร์กำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1890 อันเป็นช่วงที่ผู้คนนิยมอ่านวรรณกรรมหลากหลาย แต่ช่วงที่ภาพยนตร์เริ่มฉายคนส่วนใหญ่ยังดูไม่รู้เรื่อง บางคนดูแล้วกลัวด้วยซ้ำ

คนทําหนังในยุคแรกเหมือนเป็นนักทดลอง ทดลองทำไปเรื่อยว่าจะทำอย่างไรให้คนชอบให้คนดูรู้เรื่อง แรกๆจะมีคนดูทักท้วงกันมากว่ามันไม่เห็นจะต่างจากละครเวที นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทำให้ภาพยนตร์มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือเกิดเทคนิคการตัดต่อ

กระทั่งในยุคต่อมาเกิดเป็นสูตรของการตัดต่อแนวหนัง Hollywood ที่เรียกว่า cut to action หรือการตัดตามaction ของนักแสดง เช่น พระเอกเดินไปเปิดประตูก็จะเห็นตั้งแต่เขาลุกขึ้นมาแล้วเดินเอามือไปจับลูกบิด บิดประตูแล้วตัด

แต่ปรากฏว่าอีกฟากหนึ่งของโลกคือโซเวียต มีเทคนิคที่ต่างออกไป ต้องท้าวความว่าหนังของโซเวียตเกิดก่อนที่จะมีการปฎิวัติล้มล้างพระเจ้าซาร์ แต่หลังการปฎิวัติมีคนทําหนังหนีออกนอกประเทศแล้วไม่ได้หนีไปตัวเปล่า แต่เอาอุปกรณ์ทําหนังและฟิล์มออกไปด้วย

ดังนั้นในโซเวียตจึงขาดแคลนฟิล์มถ่ายทําหนังอย่างหนัก ในขณะที่ทั้งเลนินและสตาลินผู้นำในยุคที่เปลี่ยนเป็นสหภาพโซเวียตเห็นถึงพลังอำนาจของศิลปะภาพยนตร์ จึงเกิดมีการทดลองสารพัดว่าเราจะเอาฟิล์มที่มีเพียงแค่นี้มาประกอบกันเพื่อเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง

และแล้วต่อก็ได้ก็เกิดเป็นภาพยนตร์ที่เรียกว่ามองตาจ (Montage) นั่นคือการตัดต่อโดยเอาภาพมาเรียงต่อกันแล้วแทรกด้วยภาพสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง เช่น ภาพทหารกําลังวิ่งไล่ฆ่าประชาชน จู่ๆก็แทรกภาพวัวที่กําลังถูกยิง คืออุปมาว่าทหารมองประชาชนเหมือนวัวตัวหนึ่งที่ฆ่าได้อย่างง่ายดาย

ถือได้ว่าก็เป็นการทดลองใช้ภาพยนตร์ในเชิงจิตวิทยา เหมือนการทดลองอีกอันคือ ฉายให้เห็นผู้ชายคนหนึ่ง แล้วก็ตัดไปให้เห็นภาพอื่นแทรกเข้ามา (เช่นภาพสาวสวย) แล้วก็ตัดกลับไปที่หน้าผู้ชายคนเดิมอีก มันเป็นการใช้ก็ภาษาภาพยนตร์ให้เรารู้สึกว่าผู้ชายคนนั้นกําลังมองและรู้สึกบางอย่างกับสิ่งนี้อยู่ เมื่อเราเปลี่ยนไปแทรกด้วยอีกภาพ (ภาพคนตาย) เราก็จะรู้สึกว่าผู้ชายมองภาพใหม่นี้ด้วยอีกอารมณ์หนึ่ง

หรือยกตัวอย่างของหนังยุคใหม่ เช่น Chungking Express ของ Wong Karwai ที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องด้วยองค์ประกอบด้านภาพ เสียงและการตัดต่อให้มันโดดเด่นกว่าตัวเนื้อเรื่อง ทำให้ทุกคนที่ได้ดูครั้งแรกจะจดจําเนื้อเรื่องกันไม่ค่อยได้ เพราะสิ่งที่ติดตรึงใจก็คือภาพและเสียง เราจะจําภาพtakishi วิ่งแบบนั้น จำเพลง California dreaming จำภาพที่มันฉูดฉาดหวือหวา

ดังนั้นเมื่อเราได้ดูหนังอย่าง Chungking Express เราก็ต้องเข้าใจให้ได้ก่อนเลยว่าหนังมันเน้นเทคนิครูปแบบการนำเสนอหรือเน้นที่เนื้อหา เพราะถ้าเราไปวิจารณ์ Chungking Express ว่า บทมันช่างไม่สมเหตุสมผล นั่นเรากําลังดูหนังเรื่องนี้อย่างผิดวัตถุประสงค์คนสร้าง เพราะเขาต้องการให้เนื้อหาเป็นรอง แต่ให้คนดูเพลิดเพลินไปกับภาษาภาพยนตร์ที่จะส่งผลต่อความรู้สึกแค่ไหนมากกว่าเนื้อเรื่อง

แต่ถึงอย่างไรเราในฐานะคนดูก็ไม่อาจจะตัดสินได้อยู่ดีว่าอะไรจะดีกว่ากัน ทำได้ก็เพียงการตั้งคําถามเบื้องต้นว่าจุดประสงค์ในการนำเสนอชองหนังเรื่องนี้ทำให้คนดูรู้สึกมากหรือน้อยเท่าใด

หนัง Hollywood นั้นส่วนใหญ่มักเป็นหนังที่เน้นขายเนื้อเรื่อง แต่ก็มีบ้างที่เน้นวิธีการเล่า เช่น Jason Bourne โดยเฉพาะภาค 2 ภาค 3 ที่มีการตัดต่อกันแบบ หนึ่งนาทีมันมีสี่สิบ ห้าสิบหนังเน้นเทคนิคการนำเสนออย่างโดดเด่น

สิ่งเหล่านี้มันอยู่ที่ต้องประสบการณ์ของแต่ละคน จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดีอาจจะยาก เพราะอยู่ที่รสนิยมหรือจริตในความชอบที่ต่างกันไป

บทความนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ อ.ศาสวัต บุญศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร ใน fuse. In Sequence

รับชมวิดีโอเพิ่มเติม